ย้อนรอยวิธีดับร้อนยุคโบราณ ก่อนเครื่องปรับอากาศจะมาถึง
Technology & Innovation

ย้อนรอยวิธีดับร้อนยุคโบราณ ก่อนเครื่องปรับอากาศจะมาถึง

  • 26 Apr 2023
  • 2753

การได้เอนกายผ่อนคลายท่ามกลางห้องแอร์เย็นฉ่ำ หันหลังให้กับอากาศร้อนจัดภายนอกตัวอาคาร อาจเป็นสวรรค์ของใครหลายคนในหน้าร้อนนี้ แม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับค่าไฟที่พุ่งขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่ “เครื่องปรับอากาศ” ก็แทบจะเป็นสิ่งขาดไม่ได้สำหรับการใช้ชีวิตของคนปัจจุบัน ในการรับมือกับคลื่นความร้อนที่แผ่ซ่านไปทุกหัวระแหงพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่ก่อนที่เครื่องปรับอากาศจะกลายเป็นเครื่องมือสำหรับรับมือกับอากาศร้อนที่มีประสิทธิภาพและแพร่หลายในทุกวันนี้ สภาพอากาศที่ร้อนจัดในอดีตก็เป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้คนในยุคโบราณต้องปรับตัวและแสวงหาวิธีรับมือและบรรเทาความร้อนด้วยรูปแบบต่าง ๆ กลายเป็นวิธีการดับร้อนที่มีทั้งความสร้างสรรค์และน่าประหลาดใจในแบบที่คนยุคใหม่อาจไม่เคยคาดคิดมาก่อน

อียิปต์ : คลายร้อนกลางทะเลทราย
เริ่มจากอารยธรรมเก่าแก่ของมนุษยชาติที่เป็นที่รู้จักกันดีคงหนีไม่พ้นอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์อย่างอียิปต์โบราณ ผู้สรรค์สร้างสิ่งมหัศจรรย์ขนาดมหึมาอย่างพีระมิดที่ตั้งตระหง่านกลางทะเลทรายมาจนถึงปัจจุบัน แต่ท่ามกลางความร้อนระอุของภูมิประเทศ ชาวอียิปต์โบราณก็ได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวและใช้สิ่งของในชีวิตประจำวันเป็นเครื่องมือในการรับมือกับสภาพอากาศร้อน

นอกจาก “พัด” ที่เป็นอุปกรณ์คลายร้อนซึ่งพบได้ทั่วไป และยังเป็นเครื่องราชูปโภคสำคัญสำหรับฟาโรห์แล้ว หนึ่งในวิธีการรับมือกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นภายในที่พักอาศัยของชาวอียิปต์โบราณคือ การแขวน “กิ่งต้นอ้อ” ชื้น ๆ ไว้เหนือหน้าต่างและการวาง “หม้อน้ำ” ไว้ตามโถงทางเดิน เพื่อให้น้ำที่ค่อย ๆ ระเหยออกมา ช่วยลดอุณหภูมิโดยรอบของอาคารให้เย็นลง

ส่วนการดับร้อนระหว่างการนอนในตอนกลางคืน ชาวอียิปต์โบราณจะใช้ “ผ้าห่มเปียกชื้น” ขนาบไว้สองข้างหรือนำมาพันรอบลำตัว ซึ่งเชื่อกันว่าจะช่วยลดอุณหภูมิลงได้และทำให้สามารถนอนหลับได้อย่างสบาย นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบ “พนักพิงศีรษะ” ที่ทำจากไม้หรือหิน ซึ่งชาวอียิปต์โบราณจะใช้หนุนนอนต่างหมอน โดยพนักพิงศีรษะสามารถช่วยให้อากาศไหลเวียนรอบศีรษะและช่วงคอได้ดีขึ้นในช่วงที่อากาศร้อนจัดตอนกลางคืน

โรมัน : ลำเลียงน้ำลดร้อนเมือง
ระบบทางส่งน้ำหรือ “อควาดักต์” (Aqueduct) นับเป็นหนึ่งในองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมสำคัญของชาวโรมันในอดีต ซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคบริโภคเข้ามาสู่เมือง และยิ่งไปกว่านั้นระบบทางส่งน้ำยังช่วยนำพาน้ำเย็นจากแหล่งน้ำภายนอกเมือง อย่างทะเลสาบหรือแหล่งน้ำพุธรรมชาติ เข้ามาหล่อเลี้ยงและลดความร้อนให้กับเมืองของชาวโรมันอีกด้วย

สำหรับชาวโรมันที่ร่ำรวยจะมีการฝั่ง “ท่อน้ำ” ตามผนังบ้าน ซึ่งสามารถช่วยลดอุณหภูมิของที่พักอาศัยให้เย็นมากขึ้น รวมถึงการออกแบบบ้านให้มี “ห้องโถง” เปิดโล่งหรือ “ลานสวนหย่อม” พร้อมกับน้ำพุหรือสระน้ำตื้น ๆ สำหรับกักเก็บน้ำไว้กลางบ้าน ซึ่งเมื่อน้ำระเหยก็จะช่วยให้อากาศภายในบ้านเย็นลงคล้ายวิธีการของชาวอียิปต์

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวของจักรพรรดิเอลากาบาลุส (Elagabalus; ราว ค.ศ. 204-222) ที่ทรงรับสั่งให้มีการขนส่งหิมะจำนวนมากจากภูเขาเข้ามาใช้คลายความร้อนภายในพระราชวัง แต่ก็ใช่ว่าชาวโรมันทุกคนจะมั่งคั่งพอที่จะมีบ้านพักหรูหราหรือสามารถเข้าถึงหิมะที่เป็นสินค้ามีราคาได้ สำหรับชาวโรมันทั่วไปจึงมักไปพักกายคลายร้อนในสถานที่สาธารณะ อย่างการทำกิจกรรมบริเวณใกล้ “น้ำพุ” ของเมือง หรือแช่ตัวใน “บ่อน้ำเย็น” (Frigidarium) ภายในโรงอาบน้ำที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้นมาได้บ้าง

ตะวันออกกลาง : ดักลม-เก็บน้ำแข็งยุคพันปี
ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่า ระหว่างอียิปต์โบราณหรืออิหร่านโบราณ อารยธรรมใดเป็นต้นกำเนิดของ “หอคอย” สูงที่ใช้สำหรับเพิ่มการไหลเวียนของลมธรรมชาติภายในอาคารได้เป็นแห่งแรก แต่หอดักลม (Windcatcher) เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่พบเห็นได้ทั่วไปในตะวันออกกลาง อียิปต์ รวมถึงปากีสถานและอินเดีย ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับอาคารสถานที่แล้ว ยังเป็นเทคโนโลยียุคพันปีที่ช่วยคลายความร้อนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

หอดักลมจะมีลักษณะคล้ายปล่องไฟสูงเชื่อมต่อเข้ามาภายในตัวอาคารด้านล่าง โดยด้านบนของปล่องจะเปิดช่องไว้เพื่อให้ลมเย็นตามธรรมชาติสามารถพัดผ่านเข้ามาภายในตัวอาคารด้านล่างได้ ขณะเดียวกันอากาศร้อนภายในอาคารก็จะถูกดันให้ขึ้นไปในปล่องอีกด้านและไหลออกจากตัวอาคารไป วิธีการนี้สามารถลดอุณหภูมิภายในอาคารได้ถึงราว 10 องศา ท่ามกลางการสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งในตะวันออกกลาง

แต่หากยังรู้สึกว่าเย็นไม่พอ ชาวตะวันออกกลางก็มีวิธีการที่สามารถเก็บรักษาน้ำแข็งไว้ใช้ได้อย่างยาวนาน ซึ่งเป็นวิธีการที่มีมานานตั้งแต่ 400 ปีก่อนคริสตกาล โดยการสร้างพื้นที่เก็บน้ำแข็งที่เรียกว่า “ยักชาล” (Yakhchal) ที่มีลักษณะคล้ายโดมและมีปล่องเล็ก ๆ สำหรับระบายความร้อนด้านบน ยักชาลทำจากอิฐโคลนและส่วนผสมมากมายที่สามารถช่วยรักษาอุณหภูมิภายในโดมได้ รวมทั้งป้องกันความร้อนและการรั่วซึมของน้ำจากด้านนอกได้ ส่วนด้านในจะมีพื้นที่เก็บน้ำแข็งเป็นโพรงใต้ชั้นดินขนาดใหญ่

ยักชาลมักจะเชื่อมต่อกับหอดักลมและระบบทางน้ำใต้ดินที่เรียกว่า “คานัต” (Qanats) ซึ่งจะลำเลียงน้ำธรรมชาติเข้ามาและเปลี่ยนให้กลายเป็นน้ำแข็งภายในยักชาลในช่วงฤดูหนาว หรือนำน้ำแข็งจากภูเขาเข้ามาเก็บไว้ภายในยักชาล ซึ่งจะยังคงสามารถรักษาความเย็นของน้ำแข็งเหล่านั้นไว้ใช้งานได้ตลอดหน้าร้อน โดยน้ำแข็งเหล่านี้นอกจากจะใช้เพื่อถนอมอาหารแล้ว ยังมีการนำมาทำเป็นขนมหวานชื่นใจคลายร้อน อย่าง “ฟาลูเดห์” (Faloodeh) น้ำแข็งไสสไตล์อิหร่านที่เพิ่มความสดชื่นด้วยน้ำเลมอน น้ำกุหลาบ และเครื่องเทศอีกด้วย

จีน : กลยุทธ์คลายร้อนด้วยน้ำแข็ง
ไม่ใช่เพียงชาวตะวันออกกลางเท่านั้นที่รู้จักการเก็บน้ำแข็งไว้ใช้งานในช่วงฤดูร้อน แต่ในอารยธรรมจีนอันเก่าแก่ยาวนานก็มีเรื่องราวของการเก็บน้ำแข็งไว้ใช้งานเช่นกัน อย่างในยุคราชวงศ์โจว (ราว 2100-221 ปีก่อนคริสตกาล) มีตำแหน่งเจ้าพนักงานจัดการน้ำแข็ง ซึ่งทำหน้าที่นำน้ำแข็งธรรมชาติในช่วงหน้าหนาวเข้ามาเก็บรักษาไว้ภายในโรงน้ำแข็ง ก่อนที่จะมีการแจกจ่ายให้กับชนชั้นสูงในช่วงฤดูร้อน ส่วนชาวจีนทั่วไปก็มีการเก็บน้ำแข็งไว้ในห้องใต้ดินเพื่อใช้ภายในครัวเรือนเช่นกัน

องค์ความรู้ในการจัดเก็บน้ำแข็งของจีนยังสืบทอดมาอย่างยาวนาน อย่างภายในพระราชวังต้องห้าม ใจกลางกรุงปักกิ่งของจีน ก็มีการสร้างโรงน้ำแข็งถึงสี่แห่ง ก่อด้วยกำแพงสองชั้นทำจากหินและอิฐ พร้อมกับถมดินปูนขาวเพื่อรักษาความเย็นภายในห้อง โดยใช้สำหรับกักเก็บน้ำแข็งขนาด 0.5 ลูกบาศก์เมตรกว่า 5,000 ก้อน เพื่อใช้ในสำหรับการบริโภคภายในพระราชวังรวมทั้งแจกจ่ายให้กับชนชั้นสูง

ชาวจีนโบราณยังมีการประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับรักษาความเย็นให้กับเครื่องดื่ม ในยุครณรัฐหรือจั้นกั๋ว (475-221 ปีก่อนคริสตกาล) มีการออกแบบภาชนะสัมฤทธิ์ที่มีผนังสองชั้นเรียกว่า “เจี้ยน” (Jiàn) โดยจะบรรจุน้ำแข็งไว้ในชั้นด้านนอก ส่วนชั้นด้านในจะมีลักษณะคล้ายโถใช้สำหรับบรรจุแช่เครื่องดื่มให้เย็น โดยเฉพาะสุราที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมหรืองานเลี้ยงสังสรรค์

ส่วนการรับมือกับอุณหภูมิสูงที่อาจรบกวนการนอนหลับในตอนกลางคืนของชาวจีน แน่นอนว่าในยุคที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีอะไรที่จะเย็นสบายไปกว่าการนอนบน “เสื่อ” ที่สานจากวัสดุธรรมชาติ และยิ่งไปกว่านั้นชาวจีนยังมีการทำ “หมอนกระเบื้องเคลือบ” ที่มีลักษณะเรียบและเย็น ช่วยให้ผู้หนุนนอนรู้สึกหลับสบายในฤดูร้อน ซึ่งหมอนกระเบื้องเคลือบนี้ถูกทำขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581-618) แต่มีการพัฒนาความสวยงามและใช้งานกันอย่างแพร่หลายตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279) เป็นต้นมา โดยกล่าวกันว่าจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1735-1796) ทรงโปรดปรานพระเขนยกระเบื้องเคลือบเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างภูมิปัญญาของมนุษย์ในหลากหลายอารยธรรมที่สร้างสรรค์วิธีการรับมือกับสภาพอากาศร้อนในอดีต ก่อนที่วิลลิส แคเรียร์ (Willis Carrier) วิศวกรชาวอเมริกัน จะสามารถสร้างเครื่องปรับอากาศได้สำเร็จในปี 1902 แต่ก็ใช่ว่าความร้อนจะเป็นศัตรูต่อมนุษย์เสียทีเดียว เพราะสภาพอากาศร้อนยังมีแง่ดีอีกมากมาย อย่างการป้องกันโรคภัยที่มักชุกชุมในภูมิประเทศเย็นชื้นมากกว่า ดังนั้นคนโบราณจึงเลือกที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ให้ได้กับความร้อน กระทั่งกลายเป็นอู่อารยธรรมยุคแรกเริ่มมากมายที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นได้ท่ามกลางบรรยากาศอันร้อนระอุ

ที่มา : บทความ “Ancient Civilisations Invented Clever Ways To Keep Their Cool” โดย Catherine Carter จาก www.smh.com.au
บทความ “Incredible Ways Our Ancestors Stayed Cool In The Summer Heat” โดย Nicol Valentin จาก medium.com
บทความ “Headrests In Glencairn's Egyptian Collection: Practicality And Protection” โดย Jennifer Houser Wegner จาก www.glencairnmuseum.org
บทความ “An Ancient Engineering Feat That Harnessed The Wind” โดย Shervin Abdolhamidi จาก www.bbc.com
บทความ “Yakhchal: Ancient Refrigerators” จาก eartharchitecture.org
บทความ “Culture Insider: How Did Ancient People Escape The Summer Heat” โดย Bi Nan จาก www.chinadaily.com.cn
บทความ “5 Smart Ways to Keep Cool of Ancient Chinese” จาก www.chinawhisper.com
บทความ “Imperial Icehouse in the Forbidden City” จาก www.travelchinaguide.com

เรื่อง : ธีรพล บัวกระโทก