“เสื้อกันฝน” เรื่องราวของยูนิฟอร์มหน้าฝนที่ให้ได้มากกว่าการกันเปียก
Technology & Innovation

“เสื้อกันฝน” เรื่องราวของยูนิฟอร์มหน้าฝนที่ให้ได้มากกว่าการกันเปียก

  • 10 May 2023
  • 1508

อีกไม่นานฤดูร้อนคงกลายเป็นอดีตและถูกแทนที่ด้วยฤดูฝนที่มาพร้อมกับฝนฟ้าคะนองและพายุ ขณะที่บ้านเมืองเราก็ตกอยู่ในมือวางอันดับต้นของประเทศที่คาดเดาฤดูกาลไม่ค่อยจะได้ วันไหนร้อนจัด ตกเย็นมาพายุเข้าหน้าตาเฉยเลยก็มี หรือวันไหนที่อากาศกำลังเย็นสบาย บ่ายมาเมฆฝนเริ่มตั้งเค้าครึ้มก็เกิดได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นหากเราไม่อาจคาดเดาหรือเอาชนะความเป็นไปของธรรมชาตินี้ได้ หนทางอย่างหนึ่งที่จะทำให้เราปลอดภัยและได้ป้องกันตัวเองไม่ให้เปียกปอนจนไม่สบายได้นั้นก็คือ “เสื้อกันฝน” ยูนิฟอร์มฤดูน้ำหลากซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั่วโลกนั่นเอง

ชาร์ลส์ แมคอินทอช / mackintosh.com

จากผ้าสู่เสื้อที่กันฝนได้
ชาร์ลส์ แมคอินทอช (Charles Macintosh) นักเคมีชาวสก็อตแลนด์ ผู้คิดค้นและประดิษฐ์เสื้อกันฝนจากการทดลองด้วยผ้ายางของอินเดียนับเป็นคนแรกที่ได้พัฒนาตัวทำละลายสำหรับยาง โดยใช้ “แนปทา” ที่มีคุณสมบัติช่วยทำให้เนื้อผ้าแข็งแรงขึ้นและยืดหยุ่นได้ดี ซึ่งเป็นสารคล้ายกาวที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิน เมื่อนำผ้าทั้ง 2 ผืนมาทาด้วยแนปทาและติดเข้าด้วยกันจะได้ผ้าผืนใหม่ที่ไม่ซับซึมน้ำจากภายนอก และเป็นกระบวนการที่แมคอินทอชจดสิทธิบัตรในปี 1823 ก่อนจะมีการนำผ้าชนิดนี้ไปตัดเย็บเป็น “เสื้อกันฝน” วางขาย 

ในช่วงแรก เสื้อกันฝนที่ได้มีความแข็งกระด้างและไม่ระบายอากาศ รวมถึงผ้ายังมีกลิ่นยางที่แรง และน้ำฝนอาจไหลซึมเข้าไปข้างในเสื้อตามรอยตะเข็บจากรูเจาะของเข็ม นอกจากนี้เนื้อผ้าก็มีโอกาสที่จะละลายจากสภาพอากาศร้อนและแข็งตัวขึ้นในสภาพอากาศหนาวเย็น ที่สำคัญผลงานของแมคอินทอชนี้ยังถูกวงการแพทย์ออกมาโจมตีว่าเลียนแบบวิธีการทำ “ผ้ากันน้ำ” สิ่งประดิษฐ์ของเจมส์ ไซมส์ (James Symes) ศัลยแพทย์ชาวสก็อตแลนด์ แต่แมคอินทอชก็ไม่ได้หวั่นกับการถูกกล่าวหาเช่นนั้น และยังมีกลุ่มกองทัพอังกฤษที่ชื่นชอบเสื้อกันฝนของเขาอยู่ เนื่องจากสามาถช่วยปกป้องทหารในกองทัพจากฝนที่ตกลงมาให้สามารถต่อสู้ท่ามกลางสายฝนได้ โดยแมคอินทอชได้ตั้งชื่อเสื้อกันฝนตามนามสกุลของเขาว่า “Mackintosh” (ที่ตัว “k” ถูกเพิ่มเข้ามาภายหลัง)


mackintosh.com

ด้วยความสามารถด้านเคมีของแมคอินทอช เขาจึงได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของราชสมาคมแห่งลอนดอน (Royal Society) ในปี 1823 และได้ร่วมมือกับ โทมัส แฮนค็อก (Thomas Hancock) ผู้ก่อตั้งอุตสาหกรรมยางของอังกฤษและหนึ่งในผู้คิดค้นกระบวนการ “วัลคาไนซ์” โดยแฮนค็อกได้แนะนำให้แมคอินทอชนำเสื้อกันฝนมาพัฒนาผ่านกระบวนการวัลคาไนซ์เพื่อทำให้เนื้อผ้ายางมีคุณภาพคงตัวในอุณหภูมิต่าง ๆ มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทนความร้อนและกันน้ำจากภายนอกได้ดี และไม่มีกลิ่น ด้วยกระบวนการวัลคาไนซ์นี้เอง ทำให้แมคอินทอชสามารถแก้ไขปัญหาเนื้อผ้าที่เคยเผชิญมาได้สำเร็จ และได้จดสิทธิบัตรใหม่อีกครั้งในปี 1843 อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังไม่สามารถแก้ไขเรื่องการระบายความร้อนจากเนื้อผ้าได้

หลังการจดสิทธิบัตร แมคอินทอชได้เชิญแฮนค็อกให้เข้าร่วมบริษัท Charles Macintosh & Co. ในฐานะหุ้นส่วน นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่ยาวนานและประสบความสำเร็จของเสื้อกันฝนจนถึงทุกวันนี้ กระทั่งในปี 1879 โทมัส เบอร์เบอร์รี่ (Thomas Burberry) นักทดลองและนักประดิษฐ์ จึงสามารถคิดค้นผ้า “กาบาร์ดีน” (Gabardine) ที่ทั้งกันน้ำได้ ระบายอากาศดี และทนต่อการฉีกขาด สามารถแก้ปัญหาการระบายอากาศในเสื้อกันฝนของแมคอินทอชได้สำเร็จ และเบอร์เบอร์รี่ก็ได้ต่อยอดเป็นเสื้อโค้ทกันฝนแบบยาว (Trench Coat) เพื่อเป็นเครื่องแบบของกองทัพทหารอังกฤษที่ทนทานขึ้นเพื่อใช้สวมใส่ในยามสู้รบท่ามกลางสายฝนในช่วงสงครามโบเออร์และสงครามโลกครั้งที่ 1 ขณะที่เสื้อกันฝนผ้ากาบาร์ดีนก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นหนึ่งในเครื่องแต่งกายที่ทุกคนหันมาให้ความสนใจ 

แฟชั่นที่ไม่ว่าฤดูไหนก็สวมใส่ได้
จากความดิ้นรนของผู้ผลิตเสื้อกันฝน ทำให้เสื้อกันฝนเป็นที่รู้จักและแพร่หลายไปทั่วโลก เสื้อกันฝนไม่ใช่เพียงเครื่องแต่งกายที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เปียกปอนยามฝนตก แต่ยังเป็นอีกหนึ่งไอเท็มที่เป็นกระแสนิยมในวงการแฟชั่น ทั้งแฟชั่นในชีวิตประจำวันและแฟชั่นในวงการภาพยนตร์หรือมิวสิกวิดีโอเพลงที่ตัวละครหลักมีการสวมใส่เสื้อกันฝนอย่างมีสไตล์ โดยยุคหนึ่ง นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังหลายคนต่างสวมใส่เสื้อกันฝนทั้งในจอและนอกจอ หรือแม้แต่ใส่เดินตามท้องถนนในวันธรรมดาที่ฝนไม่ได้ตกในฐานะแฟชั่นไอเท็ม จนเสื้อกันฝนได้รับความนิยมแพร่หลายมากยิ่งขึ้น 

ไม่เพียงนักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังที่พากันสวมใส่เสื้อกันฝนเท่านั้น แต่ด้วยดีไซน์ที่ทันสมัยยังทำให้บุคคลทั่วไปต่างสวมใส่เสื้อกันฝนในวันปกติธรรมดาด้วยเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าเสื้อกันฝนเป็นเครื่องแต่งกายที่เข้ามามีบทบาทกับทุกคน สามารถสวมใส่ได้ทุกโอกาสในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้การดีไซน์เสื้อกันฝนนั้นถูกยกระดับให้สวยงามมากขึ้น มีหลากหลายแบบให้เลือกใส่ และยังมีประสิทธิภาพในการกันน้ำได้ดีขึ้น ทั้งแบบใช้แล้วทิ้งและแบบคุณภาพสูงที่ถูกออกแบบให้มีความทันสมัยเข้ากับเทรนด์ อย่างเช่น เสื้อกันฝนแบบซีทรู เสื้อกันฝนสีพาสเทล หรือเสื้อกันฝนสีโฮโลแกรม ที่ไม่ว่าจะหยิบมาสวมใส่วันไหนก็ไม่ต้องกลัวตกเทรนด์อย่างแน่นอน นอกจากนี้ บรรดาสาวกสายแฟฯ ยังมักนำเสื้อกันฝนไปมิกซ์แอนด์แมตช์กับชุดโปรดตัวอื่นที่มีอยู่ในตู้เสื้อผ้าได้ หรือนำไปสวมใส่ในฤดูกาลอื่น ๆ แม้ในวันที่ฝนไม่ตกก็ตาม 

โดยหากพูดถึงกระแสแฟชั่นเสื้อกันฝนที่โด่งดังเป็นไวรัลไปทั่วโลกแบบชั่วข้ามคืนคงหนีไม่พ้นวงการแฟชั่น K-Pop โดยเฉพาะในโชว์ Don't Leave Me ของ J.Y. Park & Hwasa จากวง Mamamoo ที่ได้ขึ้นแสดงในเวที “2019 Mama” ซึ่งพวกเขาต่างสวมใส่เสื้อกันฝนแบบซีทรูสะท้อนแสง โดยนำมาแมตช์เข้ากับบอดี้สูทที่มีโทนสีตัดกัน นับเป็นการสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคนดูจนกลายเป็นแฟชั่นไอเท็มที่ถูกพูดถึงอย่างล้นหลามเลยทีเดียว


Luke Cardew

อีกก้าวของเสื้อกันฝน
นอกจากที่เสื้อที่กันฝนจะกลายเป็นกระแสความนิยมในวงการแฟชั่นที่สร้างภาพจำให้กับทุกคนได้แล้ว เสื้อกันฝนยังกลายมาเป็น “งานศิลปะ” รูปแบบหนึ่งที่สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของประเทศจีนยุคใหม่ ด้วยไอเดียเสื้อกันฝนจากกระสอบพลาสติกของ ลุก คาร์ดิว (Luke Cardew) นักออกแบบจากประเทศจีน ผู้รีไซเคิลกระสอบพลาสติก วัสดุที่หาได้ตามตลาดแผงลอย งานตกแต่งร้าน ไปจนถึงไซต์ก่อสร้างขนาดใหญ่ในประเทศจีน โดยนำมาพัฒนาและออกแบบเป็นเสื้อกันฝนที่กันน้ำได้ 100% ผลงานของเขาทำจากกระสอบพลาสติกสีขาว สีแดง และสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีที่สื่อถึงเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ เพื่อสะท้อนถึงความต้องการที่เปลี่ยนไปท่ามกลางสภาพความเป็นเมืองและความสับสนวุ่นวายภายใต้การเติบโตของจีนยุคใหม่


VANMOOF

นอกจากการสื่อความหมายด้วยเสื้อกันฝนแล้ว ยังมีการคิดและออกแบบนวัตกรรมที่เกี่ยวกับเสื้อกันฝนของ เชน ลิว (Shane Liu) และวิกกี้ หลิน (Vicky Lin) ทีมนักออกแบบชาวไต้หวันจากแบรนด์ Vanmoof แบรนด์จักรยานชื่อดังจากเนเธอร์แลนด์ที่ได้ออกแบบเสื้อกันฝนรูปแบบใหม่ “Boncho” ที่ช่วยให้เหล่านักปั่นสามารถสู้ฝนที่ตกลงมาได้สบาย ๆ โดย Boncho ถูกออกแบบให้ด้านบนสามารถป้องกันฝนได้จากรอบทิศทาง และเปิดโล่งที่ด้านล่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท ไม่ร้อน ไม่อึดอัด พื้นผิวของวัสดุมีคุณสมบัติกันน้ำได้ 100% และมีจุดป้องกันฝนสาดจากด้านหน้า สามารถคลุมบริเวณแขน มือ และแฮนด์รถจักรยานไม่ให้เปียกฝนที่สาดมาจากทางด้านหน้าได้ นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมความก้าวหน้าของเสื้อกันฝนที่ถูกออกแบบมาให้มีความสะดวกสบายและตอบรับกับผู้ใช้งานในทุกสถานการณ์ของชีวิตอย่างแท้จริง

ฤดูฝนนี้...เราอยากชวนทุกคนมาสนุกสนานกับการสวมใส่เสื้อกันฝนมากขึ้น และกล้าที่จะพาตัวเองออกไปมองโลกกว้างผ่านสภาพอากาศต่าง ๆ โดยไม่ต้องกลัวความเป็นไปของธรรมชาติที่จะทำให้เปียกปอนได้อีกต่อไป

ที่มา : บทความ “Charles Macintosh: Chemist who invented the world-famous waterproof raincoat” โดย Henry Austin จาก independent.co.uk 
บทความ “History of the Raincoat” โดย Tom Greatrex จาก .lovetoknow.com
บทความ “A brief history of the raincoat” โดย Guido Deussing จาก k-online.com
บทความ “History of the Raincoat” โดย Jenny Bezencenet จาก cocoon-online.com 
บทความ “Charles Macintosh and his Famous Coat” โดย British Fashion Council จาก artsandculture.google.com
บทความ “luke cardew recycles market stall material to create 100% waterproof raincoat” โดย lynne myers จาก designboom.com
บทความ “นวัตกรรมเสื้อฝนนักปั่น ยังไงก็ไม่เปียก” จาก sentangsedtee.com
วิดีโอ “[2019 MAMA] J.Y. Park & HWASA_Don't Leave Me” จาก Mnet K-POP 

เรื่อง : ณัฐธิดา คำทำนอง