ย้อนอดีตชุดเดินป่า ทำไมต้องใส่เสื้อผ้า GORE-TEX และรองเท้า Vibram
Technology & Innovation

ย้อนอดีตชุดเดินป่า ทำไมต้องใส่เสื้อผ้า GORE-TEX และรองเท้า Vibram

  • 30 May 2023
  • 1627

ณ คินาบาลู ยอดเขาสูงที่สุดในประเทศมาเลเซีย ที่ความสูง 4,095.5 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล อุณหภูมิประมาณ 3 องศาในเช้ามืดของวันที่ 27 มีนาคม 2566 นักเดินเขาแต่ละคนอยู่ในชุดเตรียมพร้อม ซุกตัวเองในเสื้อผ้าหลายชั้น ส่วนมากใส่เสื้อกันหนาวขนเป็ดเพื่อเพิ่มความอบอุ่น บ้างก็ทับด้วยเสื้อกันลม ถุงเท้าขนแกะอุ่นสบาย และรองเท้าพื้น Vibram

ไม่กี่สัปดาห์ก่อน มีชายนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งกลับใส่สูทสีน้ำเงิน เชิ้ตขาว ผูกไทสีแดง และคัตชูหนังสีดำ พร้อมกับหิ้วกระเป๋าทำงานเดินขึ้นพิชิตยอดเขาได้สำเร็จจนกลายเป็นไวรัลไปทั่วโซเชียล หลังพบว่าเขาเป็นนักเดินเขาและช่างตัดสูทที่เลือกสวมใส่ชุดนี้มาเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของการตัดเย็บของบริษัทและโปรโมตแบรนด์ไปในตัว ซึ่งไม่ใช่แค่เขาลูกนี้ แต่ชายคนนี้ยังสวมสูทเต็มยศไปพิชิตเขาลูกอื่น รวมถึงกิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ เช่น ดำน้ำ หรือเล่นสกีมาแล้วด้วย

นับเป็นภาพที่สร้างสีสันและความคึกคักให้กับการเดินเขาลูกนี้อย่างยิ่ง แม้จะดูแปลกตาสำหรับสภาพแวดล้อมเช่นยอดเขาสูง รวมไปถึงการเดินกลางแจ้งที่ต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลาสำหรับสิ่งไม่คาดฝัน ก็ทำให้เราตั้งคำถามว่า จะใส่อะไรไปเดินเขาก็ได้จริง ๆ หรือเปล่า แล้วถ้าไม่ใส่ตามคำแนะนำจะเป็นอย่างไร


macrovector / Unsplash

ไม่มีชุดเดินป่ามาแต่แรก
ย้อนไปเมื่อร้อยปีที่แล้ว ผู้คนก็ใส่เสื้อผ้าในชีวิตประจำวันไปเดินป่า ผู้ชายมักจะสวมกางเกงขายาว เบลเซอร์ ผูกไท และสวมหมวก (ที่ไม่ใช่หมวกเดินป่า) ในขณะที่ผู้หญิงมาในชุดเดรสยาวกรุยกรายสีขาว พร้อมกับรองเท้ามีส้น! (แต่เป็นส้นเตี้ย ๆ)

ช่วงปี 20s การเดินป่าในหมู่ชาวออสซี่คึกคักมาก จนเริ่มมี “คำแนะนำ” สำหรับเสื้อผ้าผู้หญิงให้เข้ากับกิจกรรมมากขึ้น โดยในปี 1924 Australian Woman’s Mirror นิตยสารสำหรับผู้หญิงรายสัปดาห์เขียนไว้ว่า “สำหรับเสื้อผ้าเดินป่าที่เหมาะสมที่สุด คือ จัมเปอร์สีกากี กางเกงขี่ม้า รองเท้าบู๊ตข้อต่ำหรือข้อสูง เพราะเวลาไปเดินที่กันดาร การสวมกางเกงขาสั้น และถุงเท้า จะไร้ประโยชน์ทันที”

ถัดมาอีก 10 ปี ก็เข้าสู่ยุครุ่งเรื่องสุด ๆ ของการเดินป่าในออสเตรเลีย และเริ่มมีสิ่งที่เรียกว่ายูนิฟอร์มเดินป่าโดยเฉพาะ เป็นเสื้อแขนยาว (เพื่อกันแดด) และกางเกงขาสั้น พร้อมสวมถุงเท้าขนสัตว์ แต่ด้วยความเป็นขนสัตว์จึงตามมาด้วยความหนาเทอะทะและความคัน ที่สำคัญคือแห้งยากเมื่อเปียก (รวมถึงผ้าขนสัตว์ชิ้นอื่น ๆ อย่างเครื่องกันหนาวด้วย) ต่างจาก “ขนแกะเมอริโน (Merino Wool)” ในปัจจุบันที่นิยมกันมากในหมู่นักใช้ชีวิตกลางแจ้ง กับคำนิยาม “นุ่มกว่าขนแพะแคชเมียร์ ลื่นดังผ้าไหม” เพราะแม้จะเป็นขนสัตว์แต่ก็มีคุณสมบัติที่ดีเยี่ยม คือให้ความอบอุ่น พร้อมทั้งแห้งไว และไม่ทิ้งกลิ่นอับ


Feri & Tasos / Unsplash

รองเท้าลิขิตชีวิต
ต่อมาในปี 1964 เริ่มมีคำแนะนำเกี่ยวกับรองเท้าออกมาบ้าง นั่นก็คือให้สวมรองเท้าพื้นยาง แทนที่การใส่รองเท้าบู๊ตพื้นตะปู ไม่นานก็ฮอตฮิตติดลมบน ซึ่งก็ต้องขอบคุณ วิตาเล บรามานี (Vitale Bramani) ผู้คิดค้นพื้นรองเท้ายาง Vibram มาตั้งแต่ปี 1937 หลังจากประสบโศกนาฏกรรมของเพื่อน ๆ นักปีนเขาแบบเมาเทนเนียริง (mountaineering) หรือการเสียชีวิตจากการโดนหิมะกัดและติดเชื้อเพราะการสวมใส่รองเท้าบู๊ตหนังพื้นตะปูหนัก ๆ ทำให้ความชื้นและความเย็นทะลุเข้ามาถึงเท้าได้แบบไม่มีฉนวนกั้น ตรงข้ามกับพื้น Vibram ที่พัฒนาขึ้นสำหรับกิจกรรมเอ็กซ์ตรีม ปกป้องเท้าจากความหนาวเย็น และเส้นทางหินขรุขระได้ดี ทั้งยังยึดเกาะพื้นด้วยดอกยางที่ลึกกว่าพื้นรองเท้าทั่วไป

หลังจากสร้างชื่อเสียงบน K2 ยอดเขาสูงที่สุดอันดับที่ 2 ของโลกรองจากเอเวอเรสต์ ในที่สุดรองเท้าพื้นยางวัลคาไนซ์ พร้อมประทับโลโก้สีเหลืองรูปแปดเหลี่ยม Vibram ก็ครองใจนักปีนเขามาจนถึงปัจจุบันอย่างไม่มีข้อกังขา

แม้แต่กางเกงยีนส์และเสื้อผ้าฝ้าย ที่หลายเสียงแนะนำว่าไม่ควรใส่อย่างยิ่งเมื่อไปเดินป่า แต่ก็มีบันทึกว่าช่วงปี 1970 มีคำแนะนำให้สวมกางเกงยีนส์ แทนการใส่ขาสั้น เพื่อลดการเสียดสีระหว่างการเดิน และใส่เสื้อยืดผ้าฝ้ายหรือผ้าสำลีก็ดูเหมาะสม แต่ในทางปฏิบัตินั้น ยีนส์เป็นวัสดุที่สร้างความปวดหัวให้แก่นักปีนเขาไม่ต่างจากรองเท้าบู๊ตหนังพื้นตะปู เพราะทันทีที่เปียกน้ำมันจะกลายเป็นภาระที่ทั้งหนักและแห้งยาก แถมยังไม่ช่วยสร้างความอบอุ่นในอากาศเย็น


filllvlad / Unsplash

ยุคปฏิวัติเสื้อผ้าเดินป่า
และแล้ววัสดุสังเคราะห์ก็มาถึง นับว่าเป็นการปฏิวัติวงการเลยก็ว่าได้ เพราะหลังจาก GORE-TEX เทคโนโลยีผ้ากันน้ำและระบายอากาศถูกคิดค้นขึ้นโดยบ็อบ กอร์ (Bob Gore) ลูกชายของ วิลเบิร์ต แอล. และ เจเนเวียฟ กอร์ (Wilbert L. and Genevieve Gore) สองสามีภรรยาชาวอเมริกันที่ก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี 1958 พวกเขามองเห็นศักยภาพของวัสดุ PTFE (Polymer polytetrafluoroethylene) และนำมาพัฒนาต่อ จากนั้นการสวมใส่เสื้อผ้าเดินป่าก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะวัสดุนี้ทั้งน้ำหนักเบาและแห้งไวกว่าวัสดุไหน ๆ ที่ผ่านมา

“วัสดุที่คงความอบอุ่นเมื่อเปียกน้ำจำเป็นสำหรับการเดินป่า เดิมทีคือผ้าขนสัตว์ แต่ในทศวรรษที่ผ่านมา ผ้าใยสังเคราะห์ที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษเริ่มแพร่หลาย และมีจำหน่ายในร้านเดินป่า” รอสส์ และฮีตเธอร์ บูชานัน (Ross and Heather Buchanan) ผู้เขียน Bushpeople’s Guide to Bushwalking in South-east Queensland กล่าวไว้ในไกด์บุ๊กเล่มนี้

GORE-TEX กลายเป็นวัสดุแรกที่ให้คุณสมบัติระบายอากาศ พร้อมกันน้ำกันลม ด้วยรูพรุนกว่า 9 พันล้านรูต่อตารางนิ้ว ซึ่งรูเหล่านี้มีขนาดเล็กกว่าหยดน้ำถึง 20,000 เท่า จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมวัสดุ GORE-TEX จึงกันน้ำ ฝน และหิมะได้ รูพวกนี้ยังมีขนาดใหญ่กว่าโมเลกุลของไอน้ำกว่า 700 เท่า ที่จะช่วยให้เหงื่อจากการเดินหรือปีนป่ายระบายออกได้อย่างรวดเร็ว เพราะส่วนใหญ่วัสดุที่กันน้ำมักจะระบายอากาศไม่ค่อยดี จึงทำให้ GORE-TEX จัดอยู่ในอันดับแรก ๆ ที่แบรนด์หรือลูกค้ามักนึกถึง และด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ GORE-TEX ยังสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการขึ้นไปสู่ดวงจันทร์พร้อมกับนักบินอวกาศในภารกิจกระสวยอวกาศครั้งแรกของ NASA ในปี 1981 อีกด้วย


Tiziano Barbieri / Unsplash

แต่ใช่ว่าใส่อะไรก็ได้
ทั้งขนแกะเมอริโน พื้นรองเท้า Vibram และเส้นใย GORE-TEX นับว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับจากแบรนด์ชั้นนำและความไว้วางใจจากผู้ใช้งานกลางแจ้งทั่วโลก แบรนด์เอาต์ดอร์หลายแบรนด์เลือกผลิตสินค้าโดยใช้โครงสร้างเมมเบรนแบบที่ GORE-TEX ใช้ และต้องผ่านการทดสอบจาก GORE-TEX เพื่อให้ได้มาตรฐานเท่านั้นถึงจะได้รับตราสัญลักษณ์นี้ไป หรือ Vibram ที่พาร์ตเนอร์กับแบรนด์รองเท้าเพื่อมอบรองเท้าที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

ปัจจุบัน นักเดินป่า นักปีนเขา จึงมีชุดให้เลือกสรรหลากหลาย ทั้งกางเกงถอดขาได้ เสื้อแบบแห้งไว รองเท้าที่ระบายอากาศได้ดีเยี่ยม แต่ก็ไม่ได้เครื่องแบบที่ตายตัวและไม่มีข้อบังคับใด ๆ นอกจากคำแนะนำ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการทำกิจกรรมกลางแจ้งคือความปลอดภัย หากมีเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมก็จะช่วยป้องกันอันตรายจากสิ่งที่คาดไม่ถึงต่าง ๆ นอกเหนือจากประสบการณ์ในการเดินและปีนป่ายนั่นเอง

ใส่สูทเดินเขา ไม่เท่าเราเดินไม่ไหว
ไม่เพียงแต่ชายนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่ไม่สวมชุดสำหรับเดินป่า แต่ยังพบนักปีนเขาอีกหลายคนที่นำชุดแฟนซีหรือคอสเพลย์ขึ้นไปสวมใส่กันเพื่อเก็บเป็นภาพประทับใจด้วย แม้แต่ชุดประดาน้ำที่มีอุปกรณ์อย่างถังออกซิเจน ฟิน (ตีนกบ) มาสก์และสนอร์กเกิลก็ยังมี นั่นอาจเป็นเพราะว่าการเดินเขาลูกนี้อยู่ในระดับที่เดินได้ไม่ยากจนเกินไป แถมยังมีลูกหาบคอยช่วยแบกสัมภาระ ที่แม้แต่ผู้สูงอายุที่ยังร่างกายแข็งแรงก็สามารถร่วมเส้นทางนี้ได้เช่นเดียวกัน หลายคนจึงวางใจในการติดเสื้อผ้าแฟนซีขึ้นไปสวมใส่ แต่ก็ไม่ใช่กับภูเขาที่มีความสูงมากกว่านี้ หรือเส้นทางอันตรายมากกว่านี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะกับมือใหม่ที่ไร้ประสบการณ์

 

ที่มา : บทความ “The Intriguing History (and Exciting Future) of Hiking Clothing” จาก weareexplorers.co
บทความ “What is Merino wool & how is it made?” จาก woolmark.com
บทความ “Why Jeans Are Not Viable Hiking Clothing” จาก nomadhiker.com
เว็บไซต์ https://us.vibram.com
เว็บไซต์ www.gore-tex.com

เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร