“สมการ x” เรียนรู้เรื่อง Collab(oration) ที่สร้าง Impact ได้มากกว่า
Technology & Innovation

“สมการ x” เรียนรู้เรื่อง Collab(oration) ที่สร้าง Impact ได้มากกว่า

  • 08 Jun 2023
  • 1736

หากจะพูดถึงคอลเล็กชันใหม่หรือแคมเปญของแบรนด์ต่าง ๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าหนึ่งในเทรนด์ที่เรามักจะเห็นก็คงไม่พ้นสมการแบบ “Brand a X Brand b” ที่ผลัดกันโยงผลัดกันไขว้ไม่รู้เบื่อ การเติบโตของเทรนด์ดังกล่าวเริ่มเห็นอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่คาร์ล ลาเกอร์เฟล ดีไซน์เนอร์ชื่อดังได้ร่วมมือกับ H&M ในปี 2004 จนปัจจุบันนี้ก็ดูเหมือนว่าจะมีการคอลแล็บที่ย่อมาจากคำว่า Collaboration ใหม่ ๆ ผ่านฟีดโซเชียลมีเดียในทุก 2-3 ชั่วโมง ทอม ลีส์ ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์แบรนด์จาก Kantar กล่าวว่า “แบรนด์กำลังพยายามพิสูจน์ความแตกต่างของตนมากกว่ายุคไหน ๆ เพื่อพิสูจน์ว่าเหตุใดคุณควรเลือกเขามากกว่าคนอื่น ๆ”

ความท้าทายดังกล่าวอาจถูกกระตุ้นเร้าด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งด้านตัวเลือกสินค้าที่หลากหลายขึ้น ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนทิศทาง ช่องทางการสื่อสารแบรนด์ที่มากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดที่ทำเอาทั่วโลกรวนไปหมด ปัญหาเหล่านี้ทำให้แบรนด์และผู้ค้าปลีกต่างต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อปรับตัวให้ทันตลาด และการคอลแล็บกันระหว่างแบรนด์ก็กลายมาเป็นหนึ่งในหนทางแก้ปัญหาและต่อสู้กับความท้าทายนี้ได้อย่างน่าสนใจ


Louis Vuitton และ Supreme

สุดยอดพลังทวีคูณที่มาคู่กับการคอลแล็บ
แน่นอนว่า หนึ่งในสิ่งหลักที่แบรนด์แต่ละแบรนด์คาดหวังจากการคอลแล็บแต่ละครั้งก็คือยอดต่าง ๆ ที่พุ่งสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยอดคนดู คนสนใจ จากกลุ่มลูกค้าเก่าและใหม่ ที่อาจต่อยอดไปสู่ปริมาณการขายสินค้าที่เพิ่มขึ้น นับเป็น “ชัยชนะสามทาง” ทั้งการดึงลูกค้าจากแบรนด์หนึ่งสู่อีกแบรนด์ ทั้งยังได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่อาจไม่เคยสนใจทั้งสองแบรนด์มาก่อนด้วย

แบรนด์ที่เป็นพันธมิตรกันยังเห็นว่า กลยุทธ์นี้เป็นวิธีอันชาญฉลาดสำหรับการโฆษณาที่ใช้ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และข้อมูลจาก Later ก็รายงานว่า การทำพันธมิตรระหว่างแบรนด์มักจะถูกกว่าการโฆษณาดิจิทัลถึง 25 เท่า การประกาศตัวคอลแล็บกับซุป’ตาร์ระดับโลกอาจพาให้หุ้นพุ่งกระฉูด และยิ่งหากแต่ละแบรนด์มีพื้นที่สื่อจับตามองมากอยู่แล้ว การร่วมมือกันแต่ละครั้งก็จะยิ่งกลายเป็นที่จับจ้องจากคนทั่วโลกและนำไปสู่การแห่กันมาจับจองสินค้าจนหมดในเวลาอันรวดเร็ว

การร่วมมือกันระหว่าง Louis Vuitton และ Supreme คือหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของการคอลแล็บเพื่อเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ ๆ และทำให้คนมีมุมมองต่อทั้งสองแบรนด์เปลี่ยนไป แม้ว่าทั้งสองแบรนด์จะอยู่ในกลุ่มแฟชั่นและมีผู้บริโภคเป็นกลุ่มคนรวยเหมือนกัน แต่ภาพลักษณ์เดิมนั้นก็ดึงดูดกลุ่มผู้คนที่ต่างกันมาก การมาคอลแล็บกันครั้งนี้ ทำให้ Supreme ได้ยกระดับตัวเอง สร้างความน่าเชื่อถือจากการทำงานร่วมกับแบรนด์หรูที่มีชื่อเสียง ในขณะที่ Louis Vuitton เองก็ได้โอกาสสลัดภาพลักษณ์ที่หลายคนมองว่า “ล้าสมัย” ออกไป ทั้งยังสามารถเข้าถึงฐานลูกค้าที่อายุน้อยและอินเทรนด์ได้ด้วย 

เช่นเดียวกับแบรนด์ H&M ที่ร่วมมือกันกับแบรนด์แฟชั่นระดับไฮเอนด์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้สัมผัสกับแบรนด์ที่คุ้นเคยในรูปแบบใหม่ ในแต่ละปี แบรนด์ H&M จะผลิตคอลเล็กชันการร่วมมือนี้และประสบความสำเร็จในการนำแฟชั่นระดับไฮเอนด์มาสู่ไฮสตรีทที่มีราคาจับต้องได้ ซึ่งในแง่หนึ่งก็ทำให้ H&M กลายเป็นสถานที่ช้อปปิงที่ดึงดูดใจ ในขณะที่อีกแง่ก็เป็นประโยชน์กับแบรนด์ที่เข้าร่วม เนื่องจากเป็นการขยายฐานลูกค้า เพิ่มการจดจำแบรนด์ และแค่เพียงคนสวมใส่มากขึ้น ก็นับเป็นการโฆษณาแบรนด์ที่มากขึ้นแล้ว


McDonald และ Beyond Meat

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับการคอลแล็บเพื่อเพิ่มฐานลูกค้า คือความร่วมมือระหว่างแบรนด์ฟาสต์ฟูดระดับโลกอย่าง McDonald และ Beyond Meat บริษัทผู้ผลิตเนื้อแพลนต์เบส เพื่อสร้าง “McPlant” เบอร์เกอร์มังสวิรัติที่ขัดต่อภาพลักษณ์เดิมแบบสุด ๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยขยายฐานลูกค้าและสร้างความน่าเชื่อถือให้ทั้งสองแบรนด์แล้ว โปรเจ็กต์นี้ยังสื่อให้กลุ่มผู้บริโภคเห็นว่าตัวแบรนด์มีนวัตกรรม ไม่เหมือนใคร และเป็นการยืนยันถึงทิศทางของแบรนด์ที่ปรับตัวให้เข้ากับกระแสสังคมและความชอบในปัจจุบันอยู่เสมอ อย่างการที่โลกในขณะนี้มุ่งสู่การกินอาหารที่ทำมาจากพืชมากขึ้น

การคอลแล็บระหว่างแบรนด์ยังอาจช่วยเสริมกันผ่านการใช้ “จุดแข็ง” ที่แต่ละแบรนด์มีมาเพื่ออุดรอยรั่วของอีกแบรนด์ ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์หนึ่งอาจจะมีจุดแข็งทางด้านเทคโนโลยี หากแต่ไม่ค่อยมีความสร้างสรรค์ที่จะดึงดูดใจลูกค้า ส่วนอีกแบรนด์มีความคิดสร้างสรรค์เยอะมาก แต่กลับมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี ซึ่งหากหากันจนเจอ ก็จะช่วยกันเอาชนะจุดอ่อนของแต่ละคนเพื่อสร้างภาพจำใหม่ที่แข็งแกร่งขึ้นได้ 


Primark และ Greggs

อีกตัวอย่างหนึ่งคือการคอลแล็บกันข้ามแวดวง เช่น ร้านเบเกอรี่ Greggs ที่ร่วมมือกับร้านค้าปลีกแฟชั่น Primark ในการออกคอลเล็กชันเสื้อผ้า กระเป๋า และอื่น  ๆ “เราพูดว่า หากเราต้องการจะเป็นพันธมิตร เราก็อยากจะฉีกกฎแฟชั่น อยากจะเป็นพันธมิตรกับแบรนด์ที่จะสร้างบทสนทนามากมาย แต่ผู้คนจะมองไม่เห็นว่ามันกำลังจะเกิดขึ้น” เจอร์เมน แลปวูด หัวหน้าฝ่ายนวัตกรรมและเทรนด์ในอนาคตของ Primark กล่าว “Greggs ทำอาหารที่คุ้มค่าและมีคุณภาพ และเราทำแฟชั่นที่คุ้มค่าและมีคุณภาพ” โดยทั้งสองแบรนด์นี้เชื่อมกันด้วยอารมณ์ขันเป็นสำคัญ 

ความปรารถนาของ Primark ลงล็อกกับความต้องการของ Greggs ที่เล่าว่า ผู้บริโภคของตนเรียกร้องการทำสินค้าแบบนี้อยู่นาน และก็เห็นจะเป็นเช่นนั้นเมื่อคอลเล็กชันแรกที่ปล่อยออกมาขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยไม่ว่าใครที่พบเห็นเสื้อผ้าหรือสินค้าที่สกรีนลวดลายของ Greggs ก็จะเป็นอันรู้กันทันทีว่ามาจาก Primark 

ความสำเร็จอีกข้อของการร่วมมือกันนั้น ไม่ใช่เพียงเติมเต็มจุดอ่อน แต่ยังช่วยส่งเสริมกันสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า ทั้งยังเป็นการร่วมมือกันเอาชนะแบรนด์อื่น ๆ ในตลาดที่มีการแข่งขันสูงอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การร่วมมือกันระหว่าง Spotify และ Uber ในปี 2014 ผ่านหลักง่าย ๆ คือ ผู้ที่มี Spotify Premium จะสามารถเล่นเพลงของตัวเองผ่านลำโพงรถ Uber ได้ ทำให้ผู้เรียกใช้บริการรถ รู้สึกถึงความเป็นส่วนตัว และยิ่งถ้าเป็นคนที่ชอบฟังเพลงระหว่างเดินทางแล้วก็คงจะรักแคมเปญนี้มากกว่าใคร ความร่วมมือดังกล่าวยังช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกใช้บริการจากทั้ง 2 แพลตฟอร์มมากกว่าตัวเลือกอื่น ๆ และลูกค้าที่ใช้รถก็อาจจะเปลี่ยนมาฟังเพลงในแอปฯ ที่เลือกเพลงฟังได้ ยิ่งถ้าใครเป็นสมาชิก Spotify Premium อยู่แล้วก็มีแนวโน้มที่จะเลือกขึ้น Uber มากกว่าแพลตฟอร์มรถรับส่งอื่น ๆ เช่นกัน 

แต่ถึงอย่างไร สิ่งที่สำคัญที่สุดที่แบรนด์แต่ละแบรนด์ควรคำนึงก่อนก็คือ การมองเห็นทิศทางหรือคุณค่าที่สอดคล้องกัน เพราะสิ่งนี้จะช่วยยืนยันตัวตนของแบรนด์ได้ “มันไม่ใช่แค่การออกไปเลือกคนที่ดูเท่หรือกำลังเป็นกระแสในขณะนั้น” ลีส์ กล่าว “มันเกี่ยวกับการเลือกธุรกิจที่แบ่งปันคุณค่าของคุณ เข้ากับแบรนด์ของคุณและสิ่งที่คุณกำลังพยายามที่จะทำ แต่ก็ยังช่วยให้คุณเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น” 

การร่วมมือกันระหว่างไอศกรีม Ben & Jerry’s และช็อกโกแลต Tony’s Chocolonely อาจเป็นตัวอย่างของคำกล่าวนั้น โดยมุ่งเน้นไปที่ความตั้งใจของแบรนด์ไอศกรีมที่จะเข้าร่วมภารกิจของ Tony’s Chocolonely ว่าด้วยการทำให้อุตสาหกรรมการผลิตช็อกโกแลตปราศจากการใช้แรงงานทาส เนื่องจากการมีวิสัยทัศน์ที่ตรงกัน 


Ben & Jerry’s และ Tony’s Chocolonely

สารพัดสูตร X เพื่อยอดปั๊วะ
ในบรรดาการคอลแล็บทั้งหลาย อาจมีแพทเทิร์นที่สามารถจัดกลุ่มและแยกลักษณะได้อย่างชัดเจน โดยเว็บไซต์ Bloomberg ก็ได้จัดทำ “อนุกรมวิธานการคอลแล็บ” ซึ่งจะขอยกบางหมวดหมู่มาให้ทุกคนได้ทำความรู้จักไว้ ณ ที่นี้

ลดขั้นเลื่อนขึ้นให้บรรจบกัน – หนึ่งในกลยุทธ์การขยายฐานลูกค้าที่เป็นที่นิยม คือการคอลแล็บระหว่างแบรนด์ไฮเอนด์กับตลาดป็อปที่แมสและเข้าถึงได้ง่ายมากกว่า เพื่อสร้างพายุแห่งความตื่นเต้นที่สมบูรณ์แบบ ดังที่ได้เห็นตัวอย่างจาก H&M ที่กล่าวไว้ข้างต้น 

สตรอเบอร์รี่ × ครีม – พนักงานจัดชั้นห้างสรรพสินค้าคงทราบดีว่า เราควรจะวางสินค้าอย่างไรเพื่อให้ยอดขายเพิ่ม เช่น เส้นพาสต้าคู่กับซอส โซนของเล่นข้างกับแบตเตอรี่ และช็อกโกแลตวางคู่กับดอกไม้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นกับการคอลแล็บเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ความร่วมมือระหว่าง Apple และ Nike ในปี 2006 ที่เปิดตัวเซ็นเซอร์ “Nike+iPod” เชื่อมให้เห็นความใกล้ชิดระหว่างดนตรีกับกีฬา เช่นเดียวกับ Uber x Spotify ที่เติมเต็มการเดินทางกับเสียงเพลง


apple และ Nike

เปลี่ยนฉลากเป็นฉากวาดรูป – หลายครั้งเราอาจเห็นฉลากลวดลายพิเศษที่ออกแบบโดยคนดังในแวดวงต่าง ๆ ตามวาระโอกาสที่ต่างกันไป ผู้บุกเบิกเทรนด์ดังกล่าวคือแบรนด์ Château Mouton Rothschild ที่ได้เชิญศิลปินมากมายมาตกแต่งขวดผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ปี 1924 และรังสรรค์ให้เกิดความแปลกใหม่ในพื้นฐานความเป็นแบรนด์ที่สะท้อนผ่านสายตาแต่ละบุคคล หมวดหมู่นี้ยังรวมไปถึงการร่วมมือกับแบรนด์อื่น ๆ ในการออกแบบลวดลายลิมิเต็ดลงในอุปกรณ์ครัวเรือนต่าง ๆ  

โซเชียลเน้น ๆ – ทุกแบรนด์คงปรารถนาให้การคอลแล็บแต่ละครั้งเป็นไวรัล แต่สำหรับบางแบรนด์การได้เขย่าโซเชียลนับเป็นจุดประสงค์หลักที่ทั้งสองมุ่งหวังในแคมเปญ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2019 Nike ได้ร่วมมือกับเลอบรอน เจมส์ นักบาสเก็ตบอลมืออาชีพ และเปิดตัว “AF1 More Than” รองเท้าสนีกเกอร์สีขาวที่มาพร้อมกับปากกา Sharpie 2 แท่ง “เพื่อกระตุ้นให้นักกีฬาแบ่งปันเรื่องราวของพวกเขา” และหวังว่าจะมีการถ่ายรองเท้าที่ขีดเขียนแล้วลงอินสตาแกรมต่อไป

แทรกซึมอย่างแนบเนียน – คงไม่มีใครเอ็นจอยกับการโดนเซลล์ดักทุกหัวบันไดเลื่อนเพื่อยัดเทสเตอร์ผลิตภัณฑ์ใส่มือ ด้วยเหตุนี้แบรนด์หลายแบรนด์จึงร่วมมือกับสถานที่เฉพาะเพื่อเข้าถึงลูกค้าได้อย่างแนบเนียน และห้องน้ำของโรงแรม สายการบิน รวมไปถึงร้านอาหารดัง ๆ หลายแห่งก็กลายเป็นผู้ถูกเลือกให้กลายเป็นสถานที่เฉพาะสำหรับการวางผลิตภัณฑ์อาบน้ำ ซึ่งแฝงตัวอย่างแนบเนียนให้ใครต่อใครได้ลองใช้ผลิตภัณฑ์กันอย่างเป็นธรรมชาติ 


Nike และเลอบรอน เจมส์ 

เพราะความร่วมมือครั้งนี้ เน้นที่ทำให้ชี(และฮี)งง
หนึ่งในการคอลแล็บที่เป็นกระแสในช่วงที่ผ่านมา คือความร่วมมือระหว่างบริษัทผลิตไวอากร้า ชีส ซีเรียส และยิมออกกำลังกาย ที่แม้ดูไม่มีอะไรเข้ากันได้เลย แต่เพราะอารมณ์ขันและความกล้าเสี่ยงที่ทั้ง 4 แบรนด์มี จึงสามารถสร้างสรรค์แคมเปญสุดบรรเจิด และกลายเป็นไวรัลทั่วโลกอินเทอร์เน็ตในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ไอเดียการร่วมมือนี้เริ่มจาก รอรี่ แมคเอนที ผู้อำนวยการด้านแบรนด์และการตลาดของ “Gymbox” ที่ประทับใจและชื่นชมในแคมเปญครั้งก่อนของ “Surreal” แบรนด์ซีเรียลที่มีไอเดียในการโปรโมตที่สุดจะบ้าบิ่น ดังนั้นแมคเอนทีจึงไม่รีรอที่จะติดต่อไปยังทอม เมอร์เซอร์ เจ้าของบริษัทซีเรียลเพื่อเสนอทำงานคอลแล็บที่ “นอกรีต” และเป็นที่ดึงดูดสายตาคน ครั้นเมอร์เซอร์ตกลงแล้ว เขาก็แนะนำให้ติดต่อแบรนด์อีก 2 แบรนด์เพื่อให้แคมเปญนี้น่าสนใจยิ่งขึ้น

พวกเขาทำการติดต่อเว็บไซต์สุขภาพสำหรับผู้ชายที่ขายสินค้าต่าง ๆ (รวมไปถึงไวอากร้า) อย่าง “Numan” และร้านขายชีสออนไลน์ “Cheesegeek”  ที่มีความคิดและอารมณ์ขันคล้ายคลึงกัน แบรนด์ทั้ง 4 ต่างมาระดมความคิดเพื่อที่จะสร้างแคมเปญที่จับใจ ตลก และเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน จนได้วลี “Harder, Better, Faster, Stronger” มาจากหนึ่งในเพลงดังของวง Daft Punk จากนั้นพวกเขาจึงสร้างเท็มเพลตสำหรับข้อความ และจับคู่สินค้าหรือบริการทั้งสี่กับคำที่เข้าคู่และเหมาะสม เชื่อมกันด้วยชุดสี ตัวอักษร การจัดวางที่เหมือนกัน ก่อนจะปล่อยโฆษณาตัวนี้ลงในสื่อโซเชียลมีเดีย และมีการติดป้ายโฆษณาเรียงกันอยู่ที่สถานีรถไฟใต้ดินในลอนดอน

แคมเปญดังกล่าวประสบความสำเร็จเกินคาด ภาพที่คนแชร์ในโลกออนไลน์มียอดกดไลค์ทะลุล้านในเวลาอันรวดเร็ว ขณะที่แบรนด์ต่าง ๆ เองก็ได้ยอดผู้ติดตาม รวมถึงการเข้าชมที่มากขึ้นในเว็บไซต์และช่องทางอื่น ๆ ของแบรนด์เช่นเดียวกัน นอกจากกระแสตอบรับที่ล้นหลามแล้ว ทุกแบรนด์ยังได้โอกาสในการให้ข้อมูลและแสดงให้ผู้ชมกลุ่มใหม่ ๆ เห็นถึงบุคลิกความขี้เล่นของทั้ง 4 แบรนด์ นับได้ว่าไอเดียนี้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามเลยทีเดียว


Gymbox Surreal Numan และ Cheesegeek

ระวัง! ก่อนจะพังคู่
การคอลแล็บอาจนับได้ว่าเป็นหนึ่งในสูตรสำเร็จที่สร้างปรากฏการณ์มาอย่างนับไม่ถ้วน หากแต่ความสำเร็จนั้นก็ไม่อาจการันตีได้เสมอไป และมีข้อควรระวังบางประการที่จะต้องดูให้ดีก่อนตัดสินใจร่วมมือกัน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของความชัดเจน ทั้งในด้านการพูดคุยเจรจาระหว่างแบรนด์ว่าแคมเปญหรือผลิตภัณฑ์ที่จะทำร่วมกันนั้นจะมีอะไรบ้าง หรือมีข้อจำกัดตรงจุดไหน ซึ่งควรระบุไว้ให้รัดกุม รวมไปถึงสิ่งที่ต้องการจะสื่อกับลูกค้าเพื่อให้สารที่จะสื่อนั้นถูกต้อง ครบถ้วน ไม่เปิดช่องให้เกิดการตีความที่อาจจะผิดพลาด หรือทำให้แบรนด์ดูน่าเชื่อถือน้อยลง

นอกจากนี้ การเลือกแบรนด์ที่มีวิสัยทัศน์ตรงกันเข้ามาร่วมงานกันก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากการร่วมมือกันครั้งนี้อาจจะช่วยเน้นย้ำให้เห็นถึงจุดยืนหรือคุณค่าที่แบรนด์ยึดถือไว้ให้ชัดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่เสียตัวตนของแบรนด์มากเกินไปด้วย 

“ผู้บริโภคมีความเข้าใจในแบรนด์อย่างเหลือเชื่อ และหากมีบางสิ่งที่รู้สึกยัดเยียด ไม่เพียงแต่พวกเขาจะเห็นและรู้สึกเท่านั้น แต่พวกเขาจะหันหลังให้มันอย่างสิ้นเชิง และการร่วมมือกันครั้งนี้ก็จะไม่ให้ผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จ” คลอดีน แฮร์ริส ผู้บริหารสูงสุดของ Miai บริษัทจัดหาคู่แบรนด์ กล่าว อีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องระวังสำหรับการทำคอลแล็บก็คือ “ผลกระทบเชิงลบต่อเครือข่าย” ที่อาจเกิดขึ้นได้ หากแบรนด์หนึ่งดันมีเรื่องอื้อฉาวจนส่งผลกระทบมาเป็นทอด ๆ และก็แน่นอนว่า แบรนด์ที่ไปร่วมมือคงไม่อาจหลีกหนีผลกระทบนี้ได้

กระนั้น การร่วมมือกันระหว่างแบรนด์เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับผู้บริโภคและวงการก็ยังเป็นความเสี่ยงที่คุ้มที่จะลองอยู่ดี และก็เป็นที่น่าจับตาว่าในอนาคต จะมีความร่วมมือแนวทางไหนที่จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ หรือแหกขนบของการคอลแล็บเดิม ๆ ที่เริ่มเต็มตลาด เพื่อเอาชนะใจผู้บริโภคในยุคนี้ให้ได้อย่างล้นหลามอีกครั้ง

ที่มา : บทความ “Think it’s time for a reinvention? Brand collaborations is the way to go” โดย Laura Leiva จาก hashtagpaid.com
บทความ “Collaboration culture: Why brands are teaming up to stand out” โดย Niamh Carroll จาก marketingweek.com
บทความ “Why cross-brand collaborations are rising in popularity” จาก theceomagazine.com
บทความ “From Target to Supreme, Branding's Latest Obsession Is Collaboration” โดย Ben Schott จาก bloomberg.com 
บทความ “Here are the weirdest fashion collaborations of all time” โดย Charlie Calver จาก gq.com.au 
บทความ “Brand x Brand” โดย Hannah Batten และ Alice Gillie จาก footanstey.com 
บทความ “Why Brand Collaborations Should Be a Part of Your Business Growth Strategy” จาก anakle.com
บทความ “Viagra, cheese, cereal, and a gym walk into a campaign..” จาก linkedin.com 
บทความ “Nike Air Force 1 More Than__ แบ่งปันความคิดผ่านรองเท้า” จาก 24andlife.com

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง