ปรัชญาและ AI: เพราะพลังที่ยิ่งใหญ่ย่อมต้องการความรู้และมุมมองอันใหญ่ยิ่ง
Technology & Innovation

ปรัชญาและ AI: เพราะพลังที่ยิ่งใหญ่ย่อมต้องการความรู้และมุมมองอันใหญ่ยิ่ง

  • 16 Jun 2023
  • 2141

ท่ามกลางการใช้ชีวิตในยุคเทคโนโลยีล้ำหน้า เรากำลังต้องการความรู้ทางปรัชญามากกว่าครั้งไหน ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ AI กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์เกือบทุกแง่มุม จนหลายครั้งก็เกิดคำถามขึ้นได้ว่า หากวันหนึ่งที่ AI ทำเกือบทุกอย่างได้แทนมนุษย์ แล้วคุณค่าและความหมายของชีวิตคนเราจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับ AI ควรเป็นอย่างไร หากในอนาคต AI ที่มีทั้งความฉลาด ระบบการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจที่เป็นเหตุเป็นผลมากกว่ามนุษย์ หรือกระทั่งพัฒนาความสามารถด้านศีลธรรมได้จริง เราจะสามารถนับว่า AI มีจิตสำนึกเสมือนมนุษย์ได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้กำลังเป็นคำถามใหญ่ที่เหล่านักปรัชญาและนักพัฒนา AI มุ่งมั่นหาคำตอบ


Mohamed Nohassi / Unsplash

"ปัญหาทั้งหมดของการพัฒนา AGI (Aritificial General Intelligence: ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป) เป็นเรื่องของปรัชญา ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องวิทยาการคอมพิวเตอร์หรือเรื่องระบบประสาทสรีรวิทยาเพียงเท่านั้น" เดวิด ดอยทช์ นักฟิสิกส์ผู้บุกเบิกการคำนวณควอนตัมจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดให้ความเห็นไว้ชัดเจนว่า ในอนาคตต่อจากนี้ ปรัชญาจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา AI มากขนาดไหน แต่ก่อนที่เราจะทำความเข้าใจว่าทำไมปรัชญาถึงจำเป็นกับปัญญาประดิษฐ์ ต้องรู้ก่อนว่า AI ในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทกว้าง ๆ ดังนี้

  1. Artificial Narrow Intelligence (ANI) คือระบบ AI ที่เราสามารถใช้ได้ในปัจจุบัน นั่นคือ AI ที่มีความสามารถเฉพาะด้านและทำงานบางอย่างแทนมนุษย์ได้ ขึ้นอยู่กับนักพัฒนาว่าจะป้อนข้อมูลและฝึกฝนให้เก่งด้านไหน ทำให้ AI ประเภทนี้ไม่สามารถทำงานอื่นนอกเหนือจากที่ถูกโปรแกรมไว้

  2. Artificial General Intelligence (AGI) คือระบบ AI ที่จะถูกพัฒนาให้สามารถคิด วิเคราะห์ วางแผน แก้ปัญหาที่ซับซ้อน และมีความเชี่ยวชาญใกล้เคียงกับความสามารถของมนุษย์

  3. Artificial Superintelligence (ASI) คือระบบ AI แห่งอนาคตที่คาดว่าจะมีความสามารถมากกว่ามนุษย์ ซึ่งปัจจุบันเรายังไม่สามารถพัฒนา AI ระดับนี้ขึ้นมาได้ และไม่มีใครมั่นใจว่า AI ประเภทนี้จะเปลี่ยนอนาคตของมนุษยชาติไปในทิศทางไหน


Andrea De Santis / Unsplash

จากนั้นลองกลับมาพิจารณา AI ที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุดนั่นคือ ANI ซึ่งกำลังเข้ามามีบทบาทในโลกการทำงานของมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ และอาจจะทำงานแทนเราได้ดีหรือมีประสิทธิภาพมากกว่าก็ได้ สิ่งนี้จะย้อนกลับไปสู่คำถามพื้นฐานของมนุษย์ที่ว่า “หากไม่ต้องทำงาน ชีวิตของเราต่อจากนี้จะมีความหมายอย่างไร” หรือ “การที่ AI สามารถใช้เป็นเครื่องมือจูงใจมนุษย์ได้อย่างไม่รู้ตัว (ตัวอย่างเช่น AI Marketing ที่ใช้ขับเคลื่อนแคมเปญการตลาด) เราในตอนนี้ควรระแวดระวังหรือหวาดกลัวหรือเปล่า” จะเห็นได้ว่า แม้เทคโนโลยีของปัญญาประดิษฐ์จะถูกพัฒนาเพื่อเป็นเครื่องมือทุ่นแรงกายและแรงสมองให้มนุษย์ได้มากแค่ไหน แต่เราก็ยังไม่สามารถตอบคำถามที่เกิดขึ้นในระหว่างทางที่ใช้งาน AI ได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดี แม้เราจะยังไม่ได้อยู่ในจุดที่ AGI ถูกพัฒนาจนใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่ทิศทางนั้น ที่วันหนึ่ง AI จะมีศักยภาพแทบทุกอย่างเทียบเท่ากับมนุษย์ ดังนั้นประเด็นทางปรัชญาและ AI จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการทบทวนจุดยืนของเราบนโลก รวมทั้งความสัมพันธ์ของมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ ก่อนที่เราจะเดินทางไปสู่ยุคของ AGI ในอนาคตแบบเต็มขั้น


julien Teomeur / Unsplash

“ความหมายของชีวิตคืออะไร”
คำถามนี้เป็นหนึ่งในคำถามที่อยู่ในแบบสอบถามของงานศึกษาชิ้นหนึ่งโดยมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งความน่าสนใจอยู่ตรงที่ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามชื่นชอบในคำตอบของคำถามนี้ที่ตอบโดย AI มากกว่าคำตอบที่ได้จากดาไลลามะ ไอแซก นิวตัน และอีลอน มัสก์ เสียอีก หรือนี่อาจตีความได้ว่า คอมพิวเตอร์สามารถให้คำตอบทางปรัชญาที่เหนือชั้นกว่านักคิดที่เป็นมนุษย์?

หากคิดแบบเผิน ๆ อาจดูเป็นเช่นนั้น แต่เอาเข้าจริงแล้วโทบี วอลช์ ศาสตราจารย์ด้านปัญญาประดิษฐ์เจ้าของงานศึกษาชิ้นดังกล่าวได้เฉลยถึงผลการทดลองที่ออกมาในลักษณะนี้ว่า ไม่ใช่เพราะ AI ขบคิดคำตอบทางปรัชญาได้เอง แต่เพราะเขาโปรแกรมให้ AI ตอบคำถามทางปรัชญาไว้ต่างหาก โดยวอลช์มีความหวังว่า วิธีการนี้จะช่วยพัฒนาปรัชญา AI ให้ดีขึ้น เพราะเขาเชื่อว่า ‘ภาษาเป็นพื้นฐานของความคิด’

อย่างไรก็ตาม เอริก ซิง อธิการบดีแห่ง Mohamed bin Zayed University of Artificial Intelligence กลับมีมุมมองที่ต่างออกไป เพราะซิงมองว่า แม้นักวิจัยปัจจุบันจะพยายามทำการจำลอง AI ให้ใช้ภาษามนุษย์ได้ดีแค่ไหน ก็ยังห่างไกลกับเป้าหมายที่หวังให้ AI คิดเองได้อยู่ดี โดยเขาได้กล่าวเอาไว้ว่า “แม้คุณจะรวบรวมคำพูดจากบุคคลที่มีชื่อเสียงมาสร้างบางสิ่งที่ฟังดูลึกซึ้งได้ แต่ตราบใดที่เครื่องจักรนั้นไม่รู้ว่าตัวเองกำลังพูดถึงอะไร หรือคิดได้ว่าปรัชญาของมันมีความหมายอย่างไร ผมก็ไม่เห็นว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปสู่ทางนั้น”

ในขณะเดียวกัน ฮาดี อะกาซาดิห์ นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูลและนักเขียนชาวอิหร่าน มีมุมมองในแง่ดีกว่านั้น โดยเขาเชื่อว่า AI จะสามารถแก้ปัญหาทางปรัชญาได้ “มันเป็นความปรารถนาลึก ๆ ของมนุษย์ที่จะสร้างสิ่งที่เหนือกว่าตัวเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจเป็นสิ่งที่เร็วกว่า แข็งแกร่งกว่า หรือฉลาดกว่าที่เราเป็น บางทีเทคโนโลยีอาจช่วยให้เราเอาชนะข้อจำกัดของจิตใจและตอบคำถามทางปรัชญาได้  นี่คือสิ่งที่มนุษย์สามารถทำได้และควรทำ” เขากล่าว แต่ตราบใดที่ความสามารถด้านการคิดยังเป็นของมนุษย์ ก็ดูเหมือนว่าการพัฒนา AI ไปสู่จุดนั้นจะยังมีหนทางอีกไกล 


Pawel Czerwinski / Unsplash

แต่ทั้งนี้ จากแบบสำรวจที่สอบถามผู้เชี่ยวชาญด้าน AI หลายร้อยคนโดยวอลช์ ได้พบความคิดเห็นในแง่มุมเดียวกันที่ว่า AI จะถูกพัฒนาความสามารถให้เทียบเท่าหรือเหนือกว่าสติปัญญาของมนุษย์ได้ในศตวรรษนี้ โดยปี 2062 ถือเป็นคำตอบโดยเฉลี่ยที่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะเกิดขึ้นจริง คำถามที่น่าคิดต่อก็คือ หาก AI พัฒนาจนมีความคิดเองได้จริง เราจะนับว่ามันมีจิตสำนึกได้หรือไม่

“เรื่องของเรื่องก็คือ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าการมีปัญญาโดยปราศจากสติ และการมีสติโดยปราศจากปัญญาเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ การพัฒนา AI อาจลงเอยด้วยการมีเครื่องจักรที่ชาญฉลาดแต่ไม่มีสติ ในขณะเดียวกัน ก็มีข้อโต้แย้งเช่นกันว่า เราไม่สามารถมีสติปัญญาที่แท้จริงได้หากปราศจากการตระหนักรู้หรือความสามารถในการทบทวนตัวเอง (Introspection)” วอลช์กล่าว และดูเหมือนจะก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่มนุษย์เราจะพัฒนาให้ AI มีจิตสำนัก เพราะสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับความทรงจำ อารมณ์ และความรู้สึกเชิงนามธรรมอีกมากมาย อย่างเช่น ความรัก ความสงสาร ความกตัญญู ความเกลียดชัง ความอยากอุทิศตน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ‘ความเจ็บปวด’ นับเป็นความรู้สึกสำคัญซึ่งได้รับความสนใจเป็นพิเศษ วอลช์ให้ความเห็นต่อว่า “มีหลักปรัชญามากมายที่พยายามสำรวจการดำรงอยู่ของมนุษย์ และส่วนหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบหลักในการพิจารณาก็คือความทุกข์… เครื่องจักรอาจไม่มีวันเข้าใจคำนี้ได้ในแบบที่คนเราเข้าใจ ดังนั้น มันยังคงเป็นปริศนาที่ว่าพวกมันจะสามารถตอบคำถามหรือตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นทางศีลธรรมได้หรือไม่ บางทีเราอาจต้องให้ AI ลองทนทุกข์ดูเพื่อที่พวกมันจะเข้าใจในประเด็นดังกล่าว ซึ่งการจะทำเช่นนั้นก็เป็นสิ่งที่น่าถกเถียงในเชิงศีลธรรมอีกเช่นกัน”


Possessed Photography / Unsplash

ใครกำหนดว่า AI จะต้องเหมือนกับเรา
ทั้งซิงและวอลช์ต่างให้มุมมองไปในทางเดียวกันในประเด็นที่ AI จะมีสมองหรือกลไกความคิดและการทำงานเหมือนกับมนุษย์เรานั้นมีน้อยมาก “ผมไม่เชื่อว่า AI ที่จะมีสติปัญญาเทียบเท่าหรือเหนือกว่ามนุษย์ จะต้องหมายความว่ามันทำงานในแบบเดียวกับเรา… มนุษย์สร้างเครื่องบินจากการสังเกตนก แต่เครื่องบินไม่ได้กระพือปีกเหมือนนก ดังนั้น AI อาจพัฒนาได้ด้วยวิธีที่แตกต่างกับเรา” ซิงกล่าว

แต่แนวคิดนี้ทำให้อะกาซาดิห์กังวล โดยเขาให้ความเห็นที่น่าคิดไว้ว่า “ถ้าเราไม่ใส่ความรู้สึกของมนุษย์ให้ AI และปล่อยให้พวกมันคิดอย่างมีเหตุผลแต่ไร้ซึ่งศีลธรรมและความเมตตา… วิธีรับมือกับปัญหาการมีประชากรมากเกินไปสำหรับเครื่องจักร คงจบลงที่การฆ่าคนไปครึ่งหนึ่งบนโลก นั่นอาจดูเหมือนมีเหตุผล แต่มนุษย์อย่างเรา ๆ จะไม่ทำเช่นนั้น นี่เป็นอันตรายอย่างแท้จริง ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องให้ AI มีความรู้สึกเช่นเดียวกับสิ่งที่เราให้ความสำคัญ”


8machine / Unsplash

และแม้จะยังไม่มีใครรู้ว่า เราควรมุ่งหน้าไปทางไหน แต่คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า ตอนนี้ AI กำลังเปลี่ยนแปลงชีวิตของมนุษย์อย่างมากและแน่นอนว่าในอนาคตก็เช่นกัน ช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาสำคัญที่เราต้องเผชิญหน้ากับคำถามทางปรัชญาและทบทวนจุดยืนของตัวเองบนโลก รวมถึงความหมายของชีวิต หากวันหนึ่งเทคโนโลยีที่เราสร้างมีความสามารถล้ำหน้าไปไกลเกินกว่าตัวเราเอง ตั้งแต่ประเด็นความหวาดกลัวเมื่อ AI สามารถแย่งงานมนุษย์และก่อให้เกิดการว่างงานเป็นจำนวนมาก ไปจนถึงการรับมือกับ AI ที่ฉลาดมากกว่ามนุษย์ว่าจะเป็นภัยคุกคามเหมือนโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในนิยายหรือภาพยนตร์ไซไฟหรือไม่

เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะกลัวในสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจ ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ การรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการพัฒนา AI และไม่มองข้ามแง่มุมทางปรัชญาในการพัฒนาระหว่างทาง จะช่วยให้เราเข้าสู่การถกเถียงและนำไปสู่การตั้งคำถามที่ถูกต้อง เพราะแน่นอนว่า AI มาพร้อมกับพลังอันยิ่งใหญ่ ความรู้และความเข้าใจที่แท้จริงจะสามารถขจัดความกลัวและไม่ขัดต่อการเกิดขึ้นของนวัตกรรมที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับมนุษยชาติในครั้งนี้

ที่มา : บทความ “AI and Philosophy” โดย Sabrina Lehner จาก www.thats-ai.org
บทความ “Could AI outthink the greatest (human) philosophers?” โดย Chris Wright จาก https://wired.me
บทความ “Philosophy will be the key that unlocks artificial intelligence” โดย David Deutsch จาก www.theguardian.com

เรื่อง : วรรณเพ็ญ บุญเพ็ญ