“ปูซาน” เมืองแห่งนวัตกรรมที่เติบโตไปพร้อมกับศิลปะ วัฒนธรรม และผู้คน
Technology & Innovation

“ปูซาน” เมืองแห่งนวัตกรรมที่เติบโตไปพร้อมกับศิลปะ วัฒนธรรม และผู้คน

  • 19 Jul 2023
  • 2288

จากภาพยนตร์ดังเมื่อปี 2016 อย่าง Train to Busan หรือ ด่วนนรก ซอมบี้คลั่ง ทำให้ใครหลายคนรู้จักชื่อของเมืองแห่งนี้รองลงมาจากเมืองหลวงอย่างกรุงโซลของประเทศเกาหลีใต้ หรือหากใครที่คลุกคลีกับวงการบันเทิงเกาหลีใต้ “ปูซาน” คืออีกหนึ่งภูมิลำเนายอดฮิตของเหล่าศิลปิน ไอดอล และนักแสดง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของคาบสมุทรสาธารณรัฐเกาหลี และห่างออกจากกรุงโซลไปประมาณ 320 กิโลเมตร หากใครอยากไปเยือนเมืองแห่งนี้ ก็สามารถตีตั๋วรถไฟด่วนเพื่อเดินทางไปถึงได้ในเวลาที่เร็วที่สุดเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น

จากความเป็นเมืองแห่งท้องทะเลและเป็นเมืองขนาดใหญ่อันดับ 2 ที่ทำให้ปูซานเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ พร้อมกับเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เป็นจุดหมายของผู้คนในประเทศมาอย่างยาวนาน และยังเป็นอีกทางเลือกยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยปูซานกำลังจะถูกพัฒนาให้กลายเป็น “เมืองแห่งนวัตกรรม” ที่ภาครัฐของเกาหลีใต้พยายามผลักดันให้เป็นต้นแบบของเมืองที่เทคโนโลยี การท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม จะเดินไปพร้อม ๆ กับการเติบโตของ “ผู้คน” อย่างยั่งยืน


Seongjin Park / Unsplash

Busan Eco Delta Smart City (EDSC) เมืองจำลองของเทคโนโลยี ธรรมชาติ และผู้คน
พื้นที่กว่า 11 ตารางกิโลเมตร ในเขตกังซอ เมืองปูซาน ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นเมืองจำลองนวัตกรรมแห่งแรกของเกาหลีใต้ ที่จัดเมืองให้เป็นพื้นที่สำหรับทดลองการใช้ชีวิตของผู้คนกว่า 76,000 คน หรือ 30,000 ครัวเรือน ท่ามกลางการพัฒนาของนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยที่ต้องการให้ผู้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติและเทคโนโลยีได้อย่างยั่งยืน โดยกลุ่มผู้อาศัยทั้งหมดได้เริ่มเข้าอยู่ในเมืองแห่งนี้เมื่อช่วงต้นปี 2022 ที่ผ่านมาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และยังเป็นกลุ่มผู้ทดลองใช้งานที่สามารถให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้งานระบบต่าง ๆ ในเมือง เพื่อให้ผู้พัฒนานำไปปรับปรุงแก้โครงการต่อไป

ในกรอบเวลา 5 ปี หรือตั้งแต่ปี 2022 จนถึงประมาณปี 2026 เมืองแห่งนี้มุ่งมั่นพัฒนาความสะดวกสบาย ควบคู่ไปกับความยั่งยืน บนพื้นฐานของเทคโนโลยีเมืองดิจิทัล (Digital City Platform) เมืองเสมือนจริง (Augmented City Platform) และเมืองหุ่นยนต์ (Robot City Platform) ที่ขับเคลื่อนให้เกิดความสะดวกและยั่งยืนในรูปแบบต่าง ๆ อย่างการเป็นเมืองที่ใช้พลังงานเป็นศูนย์ มีระบบจัดการและบำบัดน้ำ ระบบขนส่ง บริการด้านสุขภาพ ระบบความปลอดภัย สวนสาธารณะ ศูนย์การเรียนรู้แบบ Learn Work Play (LWP) อัจฉริยะอย่างครบครัน ซึ่งมีเป้าหมายคือการนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ให้ได้ 20% พร้อมผลักดันให้เกิดการรีไซเคิล 100% รวมทั้งสร้างเมืองที่ผู้คนสามารถรักษาความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานได้แบบ 50:50 ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพและการมีอายุยืนในระยะยาว


BERK OZDEMIR / Pexels

ตัวอย่างเช่น ระบบตรวจจับระดับและภัยพิบัติแบบเรียลไทม์ ระบบกรองน้ำและบำบัดน้ำเสียให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ระบบปรับเปลี่ยนอุณหภูมิทั้งร้อนและเย็นให้กลายเป็นพลังงานสะอาด ถนนและลานจอดรถอัจฉริยะเพื่อการขับขี่อย่างปลอดภัย ระบบขนส่งมวลชนแบบออนดีมานด์ หลักสูตรการเรียนรู้ด้วย AR/VR และอีกมากมายที่ถูกพัฒนาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างรอบด้าน

อีกความน่าสนใจของเมืองจำลองแห่งนี้ คือการแบ่งส่วนหนึ่งของเมืองให้เป็นพื้นที่ของธุรกิจสตาร์ทอัปและเทคโนโลยี โดยมีจุดมุ่งหมายคือการสร้างตำแหน่งงานใหม่ให้เกิดขึ้นกว่า 28,000 ตำแหน่ง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคนให้สอดคล้องกับการเป็นเมืองแห่งนวัตกรรม ซึ่งปัจจุบันก็มีเหล่าธุรกิจรุ่นใหม่เริ่มย้ายเข้าไปประกอบกิจการแล้วถึง 19 ราย


Busan.go.kr

นวัตกรรมเปลี่ยนเมือง สู่การเป็นเมืองสำหรับทุกคน
28% ของคนที่อาศัยอยู่ในปูซานเป็นคนพิการ และอีกจำนวนไม่น้อยคือผู้สูงอายุ ในสถานีรถไฟ 114 แห่งทั่วเมืองจึงมีการติดตั้งระบบ “Side By Side” หรือนวัตกรรมที่ช่วยให้คนพิการ โดยเฉพาะผู้พิการทางสายตาและผู้สูงอายุสามารถใช้งานระบบรถไฟฟ้าด้วยตัวเองได้ง่ายขึ้น โดย Side By Side จะเชื่อมต่อจีพีเอสหรือพิกัดของผู้ใช้งานผ่านสมาร์ตโฟนเข้ากับจุดต่าง ๆ บนสถานี และใช้ระบบนำทางด้วยเสียงหลากหลายภาษาที่ช่วยให้ผู้พิการสามารถเดินทางไปยังจุดต่าง ๆ ได้เองแบบทุกฝีก้าว เช่น บันไดเลื่อน ลิฟต์ ประตูทางออก นอกจากนี้ บริเวณป้ายแผนที่ของแต่ละสถานียังถูกออกแบบให้มีระบบสัมผัสด้วยอักษรเบรลล์ เพื่อช่วยให้คนตาบอดอ่านแผนที่ได้สะดวกขึ้นด้วย

จอน บยองจุน เจ้าหน้าที่องค์กรขนส่งมวลชนของปูซาน ยังเคยอธิบายถึงระบบช่วยเหลือนี้ว่า ไม่ได้เป็นเพียงการช่วยเหลือให้ผู้พิการทางสายตามีความสะดวกสบายขึ้นเท่านั้น แต่ยังอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาเยือนปูซานด้วย ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความคุ้นชินกับบุคคลทั่วไปให้มีทัศนคติต่อผู้พิการที่ใช้งานระบบขนส่งมวลชนว่าเป็นเรื่องปกติ และเป็นสาธารณูปโภคของคนในเมืองทุกคน

“อุตสาหกรรมสร้างสรรค์” ที่ทำอยู่ และทำต่อ
เรารู้จักเกาหลีใต้ในฐานะเจ้าแห่งซอฟต์พาวเวอร์ ในขณะที่เมืองทางตอนใต้อย่างปูซานคืออีกหนึ่งพื้นที่แห่งการขับเคลื่อนอุตสาหกรรรมสร้างสรรค์ที่ไม่แพ้กรุงโซล ปูซานในสายตาของคนในวงการศิลปะคือเมืองที่มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เข้มแข็งมาเป็นเวลาหลายสิบปี ทั้งการเป็นเมืองแรกของเกาหลีใต้ที่มีการผลิตภาพยนตร์ที่เป็นภาพเคลื่อนไหว (Motion Picture) การเป็นเจ้าภาพจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน (Busan International Film Festival) มาเป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปี นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1996 การเป็นพื้นที่ที่มีธรรมชาติ ทั้งภูเขา แม่น้ำ ทะเล ซึ่งมาพร้อมกับโลเกชันถ่ายทำที่ดึงดูดทั้งกองถ่ายหนังหรือรายการต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศให้แวะมาเยี่ยมเยือนและได้ภาพฟุตเทจสวย ๆ กลับไป

ปัจจุบันปูซานยังคงเป็นเมืองที่สร้างระบบนิเวศของวงการภาพยนตร์ได้อย่างสมบูรณ์แบบในระดับเอเชีย เป็นแหล่งรวมสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนทำหนัง ตั้งแต่ขั้นตอนพรี-โปรดักชันจนถึงโพสต์-โปรดักชัน และเพิ่มเติมคือความพยายามในการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เพื่อขยายพื้นที่ในวงการภาพยนตร์และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้กับคนทุกเพศ ทุกวัย สามารถมีส่วนร่วมเป็น “ผู้สร้างสรรค์” ได้อย่างเท่าเทียมกัน


FB Busan International Film Festival

“พัฒนา” ไปพร้อมกับ “อนุรักษ์”
ในขณะที่เกาหลีใต้มีความพยายามจะผลักดันปูซานให้เป็นเมืองแห่งนวัตกรรมชั้นนำของโลก ผ่านการเสนอชื่อเพื่อเป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Expo 2030 ภายใต้แนวคิด “Transforming Our World, Navigating toward a Better Future” เปลี่ยนโลกของเราไปสู่อนาคตที่ดีกว่า) การนำเสนอเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของปูซานเกิดขึ้นพร้อมกับการเสนออีกหนึ่งมิติสำคัญของเมืองอย่าง “หมู่บ้านวัฒนธรรมคัมชอน” ความสวยงามทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นมรดกเก่าแก่ของปูซาน

หมู่บ้านวัฒนธรรมคัมชอนเป็นหมู่บ้านที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของคนเกาหลีใต้ นับตั้งแต่มีการอพยพหนีภัยจากสงครามเกาหลีและเริ่มตั้งรกรากในปี 1950-1953 หรือประมาณ 70 ปีที่แล้ว ที่นี่มีลักษณะการปลูกสร้างบ้านเรือนแบบหลากสีสัน เรียงรายไปตามแนวภูเขาอย่างมีเอกลักษณ์ รวมถึงภายในหมู่บ้านยังมีศิลปะจากคนพื้นเมือง เช่น ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง จนทำให้ที่นี่กลายเป็นจุดสำคัญที่ชวนให้นักท่องเที่ยวมาเยือน และทำให้ชาวบ้านสามารถใช้ชีวิตในแบบที่พึ่งพาตัวเองได้ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี


Philip Jang / Unsplash

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและการเดินไปข้างหน้าของเทคโนโลยีทั่วโลก “ปูซาน” นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการพัฒนาเมืองในยุค 2023 ที่สนใจทั้งประเด็นของการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้มีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ใส่ใจดูแลโลกที่ทรัพยากรถูกใช้ให้หมดลงเรื่อย ๆ และไม่ทอดทิ้งให้มรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมถูกกลืนหายไปตามกาลเวลาและความก้าวหน้าของโลกจนเหลือเพียงแบบจำลองเมืองในพิพิธภัณฑ์

ที่มา : บทความ “Busan Eco Delta Smart City” จาก www.busan.go.kr/eng
บทความ “ทำความรู้จัก ‘Busan Eco-Delta Smart City’ เมืองอัจฉริยะด้านการใช้น้ำแห่งแรกของเกาหลีใต้” จาก https://globthailand.com
บทความ “New Smart Tech Helps Visually Impaired South Koreans Increase Mobility” จาก www.voanews.com
บทความ “Busan | Creative City” จาก https://en.unesco.org
บทความ “Busan’s Vision for the World Expo 2030: Innovation, Inclusivity, Cultural Exchange, and City Transformation” จาก https://breezeinflow.com
บทความ “หมู่บ้านวัฒนธรรมคัมชอน (Busan Gamcheon Culture Village) ” จาก www.jointtravel.com

เรื่อง : Natjanan K.