รู้จัก 6 เทคโนโลยีสุดล้ำที่ Silicon Valley ไม่ได้ทำ และไม่ได้ Made in China แต่เกิดจากปัญญาของเหล่านักประดิษฐ์ในดินแดนอเมริกาใต้
Technology & Innovation

รู้จัก 6 เทคโนโลยีสุดล้ำที่ Silicon Valley ไม่ได้ทำ และไม่ได้ Made in China แต่เกิดจากปัญญาของเหล่านักประดิษฐ์ในดินแดนอเมริกาใต้

  • 03 Aug 2023
  • 2328

หากให้เอ่ยยกย่องประเทศไหนสักที่หรือทวีปไหนสักแห่งว่าให้เป็น “God of Technology” คงจะไม่มีใครหรือโพลล์ของสำนักไหนจะให้คำนิยามนั้นได้แม่นยำ แม้แต่ ChatGPT ที่มากความรอบรู้ก็ยังไม่สามารถตอบออกมาได้ทันที แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามสักนิด เจาะจงเพิ่มอีกหน่อยอย่าง “ถ้าผู้นำเรื่องเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยีดิจิทัลล่ะมีไหม” คำถามนี้ ก็อาจจะให้คำตอบได้ไม่ยาก

ย้อนไปตั้งแต่อดีตร้อยพันปี ผู้ครองตำแหน่งอาณาจักรแห่งการคิดค้นจะหนีไปจากทวีปยุโรปได้อย่างไร... เว้นเสียแต่ว่า ในตอนหลังมามีชื่อของ “ทวีปอเมริกา” ขึ้นมาเป็นดินแดนแห่งนักประดิษฐ์ควงคู่กันมาด้วยนั่นเอง แต่เป็นทวีปอเมริกาที่ไม่ได้หมายความว่าอเมริกาทั้งหมด เพราะอเมริกาผู้โด่งดังในเรื่องของการคิดค้น ถูกครองด้วยชื่อของ “อเมริกาเหนือ”

หลายคนมองข้ามผ่าน ลำดับจัดวาง “อเมริกาใต้” ไว้ข้างหลัง แม้ปัจจุบันอเมริกาใต้อาจจะไม่ได้อยู่ในยุคเรืองรองดีนัก แต่มีไม่น้อยที่เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกได้ถูกส่งตรงมาจากดินแดนอเมริกาใต้ Creative Thailand จึงอยากพามาดูกันว่า เทคโนโลยีอะไรบ้างที่เกิดขึ้นในฝั่งอเมริกาใต้ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

01 “Dactyloscopy System” ที่มาของลายนิ้วมือในพาสปอร์ต
มาเริ่มแรกด้วยการตีตั๋วย้อนกลับไปประเทศอาร์เจนตินาในช่วงปี ค.ศ. 1891 ที่มาของการคิดค้นนี้อาจจะไม่ได้น่ายินดีเท่าไร เพราะมันเริ่มมาจาก ฆวน บูเซติช (Juan Vucetich) เจ้าหน้าที่ตำรวจในอาร์เจนตินาที่กำลังต้องการตามจับตัวคนร้ายในคดีอาชญากรรม ซึ่งในระหว่างที่เขากำลังศึกษาหาวิธีในการระบุตัวตน ก็ดันไปเจอกับบทความการทดลองว่า ลายนิ้วมือของแต่ละคนจะมีรูปลักษณ์ที่ต่างกันไป

แน่นอนว่าบูเซติชลงมือทันทีแบบไม่ลังเล โดยเริ่มรวบรวมลายนิ้วมือที่นํามาจากชายที่ถูกจับกุม ในไม่ช้าเขาก็คิดค้นระบบที่ใช้งานเพื่อจัดกลุ่มและจำแนกลายนิ้วมือและตั้งชื่อขึ้นมาว่า Dactyloscopy Vucetich ซึ่งวิธีนี้ใช้ได้ผลจนจับกุมคนร้ายได้ถูกต้อง 

กลายเป็นว่าเขาตัดสินใจพัฒนาเทคโนโลยีนี้มากขึ้น จนได้นำไปใช้งานจริงในอุตสาหกรรมสืบสวนคดีและควบคุมเขตชายแดนในประเทศอื่น ๆ ได้ทั่วโลก หลายปีให้หลังมาก็มีการเพิ่มลายนิ้วมือระบุตัวตนลงในหนังสือเดินทางในประเทศอาร์เจนตินา และเป็นแนวปฏิบัติในอีกหลายประเทศ ทำให้การใช้หนังสือเดินทางไปยังประเทศอื่น ๆ กลายเป็นช่วยกระจายระบบของเขาไปทั่วโลก บูเซติชจึงถูกยกย่องว่าเป็น “Father of Dactyloscopy”

02 “The Wireless Phone” หลายประเทศมีได้ อเมริกาใต้ก็มีเหมือนกัน
ถัดมาอีกสองปีคือช่วงปี 1893-1894 นักวิทยาศาสตร์ชาวบราซิล โฮแบร์โต ลันเดลล์ จิ มัวรา (Roberto Landell de Moura) ที่เป็นผู้บุกเบิกการส่งสัญญาณแบบไร้สาย “ด้วยเสียง” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น

ที่ต้องย้ำว่าด้วยเสียง เพราะว่าก่อนหน้านี้ได้มีการคิดค้นการส่งสารแบบไร้สายมาแล้ว แต่เป็นโทรเลขไร้สาย ซึ่งถ้าเป็นการส่งด้วยเสียงนั้น ประเทศบราซิลนับเป็นพื้นที่แรก ๆ ที่มีการคิดค้น

จนแล้วจนเล่าผ่านไป 6 ปี การทดลองต่อที่สาธารณะก็เกิดขึ้นในปี 1900 ตอนนั้นโฮแบร์โตถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก และแน่นอนว่าเขาทำได้สำเร็จ “The Wireless Phone” ของโฮแบร์โตสามารถส่งสัญญาณเสียงทางไกลได้ ทั้งผ่านอากาศ พื้นดิน และน้ำ

การคิดค้นของเขาได้รับการจดสิทธิบัตรทั้งในประเทศบราซิลและในสหรัฐอเมริกา โดยเป็นสิทธิบัตรของเครื่องส่งสัญญาณคลื่นไร้สาย โทรศัพท์ และโทรเลข กระทั่งต่อมานักวิทยาศาสตร์คนนี้ก็ยังสร้างผลงานต่อด้วยการสร้างอุปกรณ์เพื่อส่งเสียงผ่านคลื่นแสง หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ใยแก้วนําแสง หรือ Optical Fiber” ที่ถูกใช้ในการส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน

03 “Color Television” ต่อจากนี้โลกจะไม่ได้มีเพียงสีขาวดำ
มาถึงช่วงศตวรรษที่ 20 มีนักวิทยาศาสตร์ชื่อเปาเลต กิลเยโม กอนซาเลซ คามาเรนา “Paulet Guillermo González Camarena” จากประเทศเม็กซิโก ที่เริ่มเปลี่ยนโลกนี้ให้หลุดพ้นจากสีขาวดำด้วยการคิดค้นระบบทีวีสีจริงขึ้นมาได้สำเร็จ จนได้รับการจดสิทธิบัตรในประเทศเม็กซิโกในปี 1940 และในสหรัฐอเมริกาในปี 1941

ไม่น่าเชื่อว่า ระบบที่เขาใช้เพียงแค่สามสีหลัก คือ แดง เขียว และน้ำเงิน ถ้าเอาตัวย่อมาต่อกันก็จะได้คำว่า RGB ที่เราคุ้นหูกันในปัจจุบัน ซึ่งทั้ง 3 สีนี้เองที่ใช้ในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ ทำให้ผู้ชมสามารถดูรายการทีวีในระบบสีจริงได้ แต่เขาก็ยังคงพัฒนาระบบให้ทีวีสามารถแสดงสีให้ครบถ้วนได้มากขึ้น

จนในที่สุดระบบทีวีสีของคามาเรนาก็ได้กลายมาเป็นระบบทีวีสีที่ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการ และได้ออกอากาศสีต่อสาธารณะครั้งแรกในเม็กซิโก เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1963 ทั้งยังประสบความสำเร็จในการนำไปใช้ในสังคมและอุตสาหกรรมโทรทัศน์สีทั่วโลก เรียกได้ว่าระบบของเขากลายมาเป็นพื้นฐานให้กับการพัฒนาการทีวีสีอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

04 “X-ray Reflection Microscope” ก้าวสำคัญของวิทยาศาสตร์
อีกหนึ่งเทคโนโลยีสำคัญที่ถูกคิดค้นขึ้นในประเทศเม็กซิโก นั่นคือ X-ray Reflection Microscope ในปี 1948 โดยนักฟิสิกส์ที่มีนามว่าอัลเบิร์ต วินิซิโอ บาเอซ (Albert Vinicio Báez) ซึ่งเป็นหนึ่งในนักฟิสิกส์คนสำคัญที่ช่วยในการสร้าง “เครื่องจับภาพ หรือ กล้องจุลทรรศน์”

กล้องจุลทรรศน์เป็นเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับสร้างภาพขยายของวัตถุที่เล็กหรือห่างไกลได้ ซึ่งกล้องจับภาพนี้มีความสำคัญในการศึกษาและวิจัยในหลากหลายด้าน เช่น ในการศึกษาโครงสร้างของเซลล์และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก การศึกษาเกี่ยวกับวัสดุ การศึกษาดาราศาสตร์ เพราะความสามาถของกล้องจุลทรรศน์ที่บาเอซคิด ใช้ในการศึกษาทุกอย่างได้ตั้งแต่เซลล์ที่มีชีวิตไปจนถึงกาแล็กซีกันเลยทีเดียว

เทคโนโลยี X-ray Reflection Microscope เป็นสิ่งอำนวยให้การวิจัยและการเรียนรู้ในหลายด้านถูกพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด และถูกใช้กันมาอย่างต่อเนื่อง จนในปี 1991 บาเอซก็ได้รับรางวัล Dennis Gabor Award จากผลงานของเขาในการพัฒนากล้องจุลทรรศน์และกล้องโทรทรรศน์ถ่ายภาพ X-ray

05 “HandTalk” แอปพลิเคชันปิดช่องว่างระหว่างสังคม
ถึงจะพาย้อนอดีตกันอยู่นาน แต่ใช่ว่าจะไม่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นเลยในดินแดนนี้ เพราะช่วงประมาณปี 2012 ได้มีแอปพลิเคชันหนึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาในประเทศบราซิล โดยโฮนัลโด เตโนริโอ (Ronaldo Tenorio) ที่เห็นถึงปัญหาและต้องการช่วยเหลือผู้พิการทางการได้ยินในประเทศด้วยนวัตกรรม “HandTalk”

ในตอนเริ่มต้น เตโนริโอรู้สึกว่าในประเทศบราซิลมีจำนวนผู้พิการทางการได้ยินเป็นจำนวนถึงหลักล้านคน แต่กว่า 70% หรือเกินครึ่งของคนทั้งหมดไม่มีใครเข้าใจภาษาโปรตุเกสเลย กลายเป็นช่องว่างที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมหรือใช้ชีวิตในประเทศบ้านเกิดของตัวเองได้เลย

แต่ HandTalk จะเข้ามาปิดช่องว่างระหว่างพวกเขากับสังคมนี้ โดยการทำให้ตัวเองเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยสอนและคอยฝึกภาษาให้กับคนเหล่านี้ ซึ่งตัวแอปฯ จะมีบทเรียนที่หลากหลายในการแปลภาษาพูดและเขียนเป็นภาษามือบราซิล (Libras) หรือภาษามืออเมริกัน (ASL) ผ่านตัวละครแอนิเมชันและ AI

ภายในปีเดียว HandTalk ได้รับรางวัลแอปฯ โซเชียลที่ดีที่สุดโดยสหประชาชาติ (UN) ในปี 2013 เพราะสร้างสถิติยอดดาวน์โหลดกว่าหลักล้านครั้งต่อเดือน จากการได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน เพราะตัวแอปฯ ทำให้พวกเขาเดินทางไปที่ไหนก็ได้ในประเทศและสื่อสารกับคนในสังคมได้เหมือนกับคนทั่วไป โดยไม่เพียงแต่ในบราซิลเท่านั้น แต่ยังขยายขอบเขตความนิยมนี้ไปยังฝั่งอเมริกาด้วยเช่นกัน

06 “NotCo” อาหารที่เรากิน ไม่ต้องเป็นของจริงก็ได้
มาส่งท้ายกันด้วยเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปี 2015 จากฝั่งประเทศชิลี ที่เปลี่ยนกะหล่ำปลีและสับปะรดให้กลายเป็นนม!

“NotCo” คือสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีอาหารที่ทำธุรกิจผลิตอาหารจากพืชแทนเนื้อสัตว์โดยการใช้ AI คอยเป็นเชฟที่ช่วยคิดค้นและผลิตสูตรอาหารขึ้นมา หรือจะเรียกว่า AI Chef เลยก็ยังได้ เพราะทีม Food Science จากฝั่งมนุษย์จะมีหน้าที่ในการสร้างสารอาหารและรสชาติเท่านั้น

จากจุดเริ่มต้นของสามสหายด้านเทคโนโลยี ประกอบด้วย คาริม ปิชารา (Karim Pichara) มาเทียส มุชนิก (Matias Muchnick) และปาโบล ซาโมรา (Pablo Zamora) ที่ต้องการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ทำให้เป้าหมายในการผลิตสินค้าของบริษัทล้วนเป็นอาหารที่ทำจากพืชทั้งหมด เช่น NotMeat, NotIceCream, NotBurger, NotMayo และ “NotMilk” นมที่ทำจากกะหล่ำปลีและสับปะรด ผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดของบริษัทและใช้เวลาพัฒนารสชาติไปทั้งหมดเกือบ 2 ปี

และในไม่นาน NotCo ก็ได้ข้ามพรมแดนชิลีไปเข้าตานักธุรกิจชื่อดังคนหนึ่งเข้า นั่นคือ เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้งอีคอมเมิร์ซ Amazon แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกของโลก ที่เข้ามาช่วยลงทุนด้วยเงิน 30 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อทำให้แบรนด์และผลิตภัณฑ์ของ NotCo เป็นสากลและก้าวสู่ตลาดต่าง ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ ทุกวันนี้ ร้านอาหารเจ้าดังอย่าง Papa John's, Burger King และ Shake Shack ล้วนก็ใช้ผลิตภัณฑ์ของ NotCo ทั้งหมด และพวกเขายังมีบริษัทร่วมลงทุนพัฒนามากกว่า 15 เจ้าแล้วทั่วโลก

ที่มา : บทความ “The Top Latin American Inventions and Inventors” จาก amigoenergy.com
บทความ “Fingerprints and Crime” โดย Matthew Wills จาก daily.jstor.org
บทความ “Mexican engineer Guillermo González Camarena was color TV inventor” จาก mexicodailypost.com
บทความ “Albert Baez” โดย Emma Navajas จาก myhero.com
บทความ “50 Innovations you didn’t know were from Latin America” โดย Martin Echenique จาก www.iadb.org
บทความ “Let’s reinvent the food industry” จาก www.notco.com
บทความ “1860 to 1900 : Maxwell, Marconi and Moura” จาก www.museudoradio.com

เรื่อง : นัฐวรรณ วุทธะนู