“อักษรเบรลล์” สะพานแห่งอิสรภาพ สู่โลกกว้างของการเขียนอ่านที่พึ่งพาตนเองได้
“การอ่าน” คือหนึ่งในพฤติกรรมสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถรับสารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารบ้านเมือง เรื่องเล่าจรรโลงอารมณ์ หรือกระทั่งคำอธิบายเล็ก ๆ ที่มีอยู่ทั่วไป โดยมี “ตา” ทั้งสองของเราเป็นเสมือนหัวใจหลักในการกวาดเก็บข้อมูลที่ปรากฏขึ้นในรูปแบบตัวอักษร อย่างไรก็ตาม อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงการอ่านด้วยวิธีการนี้ เพราะในสังคมของเรายังมีผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ตลอดจนคนตาบอดที่ไม่อาจเข้าถึงสารต่าง ๆ ผ่านหน้ากระดาษได้ หากแต่การเกิดขึ้นของ “อักษรเบรลล์” (Braille) กลับเข้ามาเปลี่ยนและเปิดโลกของพวกเขาได้มากกว่าที่เคยเป็น ผ่านสัมผัสจากปลายนิ้วที่ทำให้หลายคนได้มีโอกาส “อ่าน” เรื่องราวอย่างที่หวังตั้งใจ
Gabriella Clare Marino / Unsplash
จุดกำเนิดอักษรเบรลล์
อักษรเบรลล์ คือ ระบบการอ่านและการเขียนแบบสัมผัสที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มีไว้สำหรับคนตาบอดหรือผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ใช้อ่านสิ่งพิมพ์ผ่านทางการสัมผัส อักษรเบรลล์นี้ไม่ใช่ภาษา หากเป็นวิธีการนำเสนอตัวอักษรในแบบที่สัมผัสได้ โดยในหลาย ๆ ภาษาที่ใช้ตัวอักษร A-Z เช่น อังกฤษหรือฝรั่งเศส จะมีรหัสตัวอักษรพื้นฐานที่เหมือนกัน แต่ในภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาญี่ปุ่นหรือเกาหลี ก็จะมีการออกแบบให้เข้ากับองค์ประกอบพยางค์ในภาษานั้น และไม่ใช่เพียงรหัสแทนตัวอักษรเท่านั้น แต่อักษรเบรลล์ยังมีรหัสพิเศษที่ใช้แสดงข้อมูลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ข้อความ เช่น โน้ตดนตรี หรือ เครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ด้วยเช่นกัน
จุดเริ่มต้นของอักษรเบรลล์อาจย้อนกลับไปได้ที่ช่วงต้นทศวรรษ 1800 เมื่อชาลส์ บาร์บิเยร์ (Charles Barbier) ทหารผ่านศึกชาวฝรั่งเศสได้พัฒนาระบบที่เรียกว่า “Night Writing” เพื่อให้ทหารสื่อสารกันได้อย่างปลอดภัยในตอนกลางคืนที่มืดมิด เนื่องจากการอ่านข้อความที่ใช้สายตาจะต้องใช้แสงสว่าง ทำให้ทหารต้องจุดตะเกียงอ่านในเวลากลางคืน ซึ่งกลายเป็นการระบุพิกัดให้คู่ต่อสู้รู้ไปโดยปริยาย นำไปสู่การถูกโจมตีอย่างเลี่ยงได้ยากและแน่นอนว่ามีหลายชีวิตต้องจบลงจากเหตุการณ์นั้น
ในหน่วยพื้นที่ 1 เซลล์อักษรของระบบที่บาร์บิเยร์ได้พัฒนาขึ้นจะมีขนาด 12 จุด คือกว้าง 2 จุด ยาวแถวละ 6 จุด แต่ละจุดหรือการรวมกันของจุดภายในเซลล์จะแทนถึงตัวอักษรหรือการออกเสียงทางสัทศาสตร์ (phonetic sound) และจะใช้นิ้วมือในการสัมผัสเพื่ออ่านค่าโดยไม่จำเป็นต้องใช้แสงสว่าง ด้วยเหตุนี้วิธีดังกล่าวจึงนับเป็นหนึ่งในหนทางที่ช่วยป้องกันการปะทะและลดความสูญเสียได้อย่างดี
ระบบ Night Writing กลายเป็นสิ่งที่จุดประกายให้ หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille) ชาวฝรั่งเศสกลายเป็นผู้ให้กำเนิดอักษรเบรลล์ในเวลาต่อมา หลุยส์ เบรลล์ เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม1 1809 และสูญเสียการมองเห็นตั้งแต่ยังเด็กจากอุบัติเหตุ ถึงอย่างนั้นพ่อแม่ของเขาก็ยังคงปรารถนาให้ลูกได้รับการศึกษา จึงได้ส่งลูกชายไปเรียนที่โรงเรียนในหมู่บ้านและเรียนรู้ผ่านการฟัง ต่อมาเบรลล์ก็ได้รับทุนการศึกษาและเข้าเรียนที่สถาบันเยาวชนคนตาบอดแห่งชาติ ณ กรุงปารีส ที่นั่นทำให้เบรลล์ได้พบกับบาร์บิเอร์และได้รู้จักกับระบบการสื่อสารของทหารที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น และเขาก็ได้นำแนวคิดนั้นมาต่อยอด พัฒนา เพื่อสร้างระบบการสื่อสารลายลักษณ์ที่มีประสิทธิภาพสำหรับคนตาบอดมากขึ้น
เบรลล์มองเห็นประเด็นที่ทำให้ Night Writing ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพการสื่อสารเท่าที่ควร และเริ่มปรับปรุงจากขนาดเซลล์ที่เปลี่ยนจาก 12 จุด เหลือเพียง 6 จุด ขนาด 2x3 ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เพราะมันทำให้ปลายนิ้วของเราแตะครอบคลุมได้ทั้งเซลล์ในครั้งเดียว ทำให้ตัวอักษรอ่านง่ายขึ้น และคนอ่านก็อ่านได้รวดเร็วขึ้นด้วย ในขณะเดียวกัน ก็เปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่เป็นเซลล์แสดงเสียง มาเป็นการสะกดคำแทน และนี่ก็กลายเป็นรากฐานสำคัญของระบบที่ยังคงไว้จนถึงปัจจุบัน
หลังจากที่เบรลล์ใช้เวลาหลายปีในการพัฒนาระบบอักษรเบรลล์ ในที่สุดเขาก็ได้นำเสนอระบบดังกล่าวให้กับเพื่อน ๆ เป็นครั้งแรกในปี 1824 และเมื่อเขามีอายุ 20 ปี เขาก็ได้ตีพิมพ์หนังสืออักษรเบรลล์เล่มแรกเรื่อง Method of Writing Words, Music, and Plain Songs by Means of Dots for Use by the Blind and Arranged for Them ขึ้น โดยเบรลล์ได้เสียชีวิตลงในปี 1852 ก่อนที่ฝรั่งเศสจะประกาศให้อักษรเบรลล์เป็นอักษรสำหรับคนตาบอดในประเทศอย่างเป็นทางการไม่นานนัก และไม่กี่ปีต่อมา ระบบอักษรเบรลล์ก็ได้แพร่หลายไปยังสหรัฐอเมริกา จนปัจจุบันนี้แต่ละภาษาต่างก็มีอักษรเบรลล์ใช้กันทั่วโลก ทั้งยังมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนให้เอื้อต่อการใช้งานที่สะดวกขึ้น เช่น การเพิ่มรหัสแสดงกลุ่มตัวอักษรหรือคำที่ใช้บ่อยในภาษา ซึ่งช่วยลดพื้นที่ ลดขนาดหนังสือเบรลล์ และทำให้ผู้อ่านอ่านได้ไวขึ้นด้วย
ส่วนอักษรเบรลล์ภาษาไทยเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2482 โดยเจนีวีฟ คอลฟิลด์ (Genevive Caufield) ครูสอนภาษาชาวอเมริกันตาบอด ที่ได้ร่วมมือกับคณะคนไทยในการสร้างอักษรเบรลล์ภาษาไทย จากการปรับ ประยุกต์อักษรเบรลล์ภาษาอังกฤษ จนเกิดเป็นอักษรเบรลล์ภาษาไทยภายใต้หลักการของหลุยส์ เบรลล์ที่ใช้กันในปัจจุบัน คอลฟิลด์ยังก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ในความดูแลของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ซึ่งนับเป็นโรงเรียนสอนเด็กพิการแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยมุ่งปรารถนาพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนตาบอด ที่เคยต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านและไม่มีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษา ให้สามารถเข้าถึงความรู้ได้มากยิ่งขึ้น
Ramona / Unsplash
เขียนอย่างไร เมื่อใช้งานจริง
ปัจจุบันนี้ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เราก็อาจจะเห็นเครื่องมือหลายรูปแบบที่เอาไว้ใช้สำหรับเขียนอักษรเบรลล์อย่างรวดเร็วขึ้น เช่น การใช้เครื่องพิมพ์ดีด แต่ถ้าหากพูดถึงวิธีการเขียนง่าย ๆ ที่เปรียบได้กับการใช้กระดาษและดินสอ ก็คงต้องเป็นอุปกรณ์อย่างสเลท(กระดาน)และสไตลัส โดยการเขียนอักษรเบรลล์จะเริ่มจากการนำกระดาษใส่เข้าไปในสเลทและใช้สไตลัสกดให้เป็นจุดนูนบนกระดาษนั้นจากขวาไปซ้าย เพื่อที่จะพลิกกลับมาอ่านจากซ้ายไปขวาด้วยมือทั้งสองข้าง ซึ่งการเขียนในลักษณะนี้มีความเร็วพอ ๆ กับการเขียนด้วยปากกาหรือดินสอ ในขณะที่ผู้อ่านสามารถอ่านด้วยความเร็วเฉลี่ย 125 คำต่อนาที ยิ่งถ้าชำนาญก็อาจไปเร็วได้ถึงนาทีละ 200 คำเลยทีเดียว
การเขียนอักษรเบรลล์อังกฤษมีทั้งหมด 3 รูปแบบ เริ่มที่ Grade 1 ซึ่งหมายถึงการเขียนตัวอักษรทีละตัวเพื่อประกอบออกมาเป็นคำทุกคำ เป็นรหัสที่ประกอบไปด้วยอักษรมาตรฐาน 26 ตัวและเครื่องหมายวรรคตอน เป็นรูปแบบที่แนะนำสำหรับผู้เริ่มต้น เนื่องจากมันจะช่วยให้ผู้เรียนคุ้นเคยและจำตัวอักษรต่าง ๆ ได้ ทั้งยังนิยมใช้สำหรับติดฉลากของในครัวหรือของส่วนตัวสำหรับคนที่เพิ่งเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม กลับมีสื่อการอ่านจำนวนไม่มากเท่าไรที่เลือกใช้ระบบนี้
ระบบอักษรเบรลล์ที่นิยมใช้ในการพิมพ์หนังสือเรียนและสื่อการอ่านส่วนใหญ่เรียกว่า “อักษรเบรลล์ Grade 2” ซึ่งประกอบไปด้วยอักษรมาตรฐาน 26 ตัว เครื่องหมายวรรคตอน และ “การย่อ” ซึ่งคือการทำให้คำที่คุ้นชินใช้บ่อยมีขนาดสั้นกว่ากลุ่มตัวอักษรที่เกิดขึ้นทั่วไป ยกตัวอย่างเช่นประโยค “you like him” ที่เขียนด้วย Grade 1 อาจจะกินพื้นที่ถึง 12 เซลล์ แต่ถ้าใช้ Grade 2 ที่ย่อ you และ like ให้เหลือแค่ y และ l รวมถึงแทน him ด้วย hm ก็จะใช้เซลล์แค่ 6 เซลล์ประกอบกันเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ 2 ประการ ได้แก่ เพื่อลดขนาดของหนังสือให้เล็กลง และทำให้ผู้อ่านอ่านได้รวดเร็วขึ้น โดยมีกฎที่ร่างขึ้นเพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับการย่อให้เข้าใจตรงกัน ระบบดังกล่าวนี้เป็นที่นิยมและพบเจอบ่อยทั้งในหนังสือ เมนูอาหาร รวมถึงป้ายสัญญาณ ในขณะที่ “อักษรเบรลล์ Grade 3” มีไว้เพื่อใช้จดบันทึกส่วนตัว เช่น จดหมายหรือไดอารี่เท่านั้น เนื่องจากจะมีการย่อคำมากมายอย่างไม่เป็นมาตรฐาน เพื่อใช้จดบันทึกสิ่งที่ไม่ได้เผยแพร่สู่สาธารณชน โดยเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุด
Elizabeth Woolner / Unsplash
จากวันนั้นถึงวันนี้ เบรลล์ยังมีดีอยู่ไหม?
อักษรเบรลล์ได้เข้ามาเปลี่ยนชีวิตของกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นให้เปลี่ยนไปตลอดกาล และทำให้พวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้ความรู้พื้นฐานทั่วไป เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ ดนตรี รวมไปถึงสิ่งที่สำคัญและโดดเด่นที่สุดคือการทำให้พวกเขาเรียนรู้เรื่องการสะกดคำ เช่นเดียวการสัมผัสถึงรูปแบบการเขียนที่ต่างกันออกไป ทั้งเครื่องหมายวรรคตอน ย่อหน้าและเชิงอรรถ อีกทั้งยังเปิดประตูพาพวกเขาให้เข้าไปผจญภัยในโลกกว้างหลากหลายรูปแบบที่พวกเขาอยากจะไป ไม่ว่าจะเป็นการอ่านนิยายอยู่ที่บ้าน การผจญโลกกว้างในชีวิตประจำวัน หรือการทำงานอดิเรกอย่างเล่นดนตรีหรือเล่นไพ่ก็ว่า อักษรเบรลล์ยังมีคุณค่าในฐานะที่มันเป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มหนึ่งได้บันทึกเรื่องราวและถ่ายทอดตัวตนของตัวเองเก็บไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอีกด้วย หากแต่ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาจนแทบจะเป็นทุกสิ่ง ก็อาจทำให้คนหลายคนตั้งข้อสงสัยว่าอักษรเบรลล์ยังมีความสำคัญอยู่หรือไม่ในวันนี้
“การบูรณาการอักษรเบรลล์และเทคโนโลยีเป็นการประสมที่สวยงามระหว่างสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ที่ช่วยให้ชีวิตฉันดีขึ้น ฉันชอบมัน” หนึ่งในผู้ใช้อักษรเบรลล์กล่าว โดยมองว่าอักษรเบรลล์ยังเป็นสิ่งสำคัญต่อไปจนกว่าคนในโลกนี้จะเลิกใช้กระดาษและดินสอ โดยเธอเองก็ยังใช้อักษรนี้ในชีวิตประจำวันทั้งกับฉลากข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงเพื่อการจำแนกและหยิบบัตรต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย
ในขณะที่เมลิสซา แฟนชอว์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Southern Queensland ผู้ทำงานเกี่ยวกับการศึกษาแบบครอบคลุมมานานกว่า 20 ปีก็ให้ความเห็นว่า “บางครั้งผู้คนคิดว่า ‘เราคงจะสูญเสียอักษรเบรลล์ไป เพราะเรามีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย’ แต่ฉันคิดว่ามันยังมีเป้าประสงค์ที่สำคัญมากสำหรับการรู้หนังสือ เพราะถ้าคุณไม่สามารถเข้าถึงอักษรเบรลล์ได้ คุณก็ไม่มีทางรู้หนังสือนั้นทั้งหมด” คำพูดนี้พ้องกับผู้ใช้จริงที่มองว่า แม้เสียงจะให้ความสะดวกสบายในแง่หนึ่ง แต่อักษรเบรลล์จะช่วยให้เด็ก ๆ ที่ตาบอดสามารถพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ที่สำคัญควบคู่ไปกับเพื่อนรอบข้างที่สายตาดี ซึ่งการรู้อักษรเบรลล์ยังมีความสัมพันธ์กับความเป็นอิสระ ความเป็นส่วนหนึ่ง การศึกษาที่สูงกว่า และโอกาสในการจ้างงานที่สูงกว่าอีกด้วย
การเลือกใช้อักษรเบรลล์ยังอาจอยู่ที่สารและความสะดวก “ถ้าฉันอ่านนิยายโรแมนติกไร้สาระ ฉันจะฟังเอาเพราะฉันอยากเอนตัวฟังนิยาย แต่ถ้าฉันจะอ่านบทความทางจิตวิทยาหรือเอกสารทางกฎหมาย ฉันคงไม่ได้อยากฟังมันมากเท่าเอานิ้วสัมผัสมัน... ฉันต้องเห็นคำนั้น ๆ ” ทั้งยังมีความเห็นว่าแม้ปัจจุบันจะมีเครื่องมืออย่างคอมพิวเตอร์หรือเครื่องอ่านหน้าจอใหม่ ๆ แต่เครื่องมือเก่า ๆ ที่พกพาสะดวกและถนัดมือก็ยังเป็นอะไรที่เธอเลือกใช้ก่อนเสมอ ทำให้เครื่องพิมพ์ดีดอักษรเบรลล์แบบอัตโนมือที่พกพาสะดวกกว่ายังเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งอยู่
หากแต่ในช่วงที่ผ่านมา จำนวนของคนตาบอดที่ใช้อักษรเบรลล์กลับลดลงอย่างน่าใจหาย ในสหรัฐอเมริกาเองมีเด็กตาบอดเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับทศวรรษ 1950 ที่ตัวเลขสูงถึงร้อยละ 50 ซึ่งก็อาจเนื่องมาจากการเข้ามาของหนังสือเสียงและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในขณะที่เมื่อมองภาพรวมแล้ว ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านก็เห็นว่า มีผู้สอนบางท่านที่ไม่ได้คาดหวังทั้งเรื่องความเร็วและความแม่นยำ จนทำให้เด็กหลายคนรู้สึกว่าการเรียนอักษรเบรลล์เป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่ตาบอดเมื่ออายุมากแล้ว ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญหรือลงแรงไปกับการเรียนรู้มันมากนักเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม รายงานของ American Printing House for the Blind ก็ชี้ให้เห็นว่า ผู้คนเริ่มหันกลับมาให้ความสนใจในการเรียนรู้อักษรเบรลล์มากขึ้น เนื่องด้วยสาธารณชนเริ่มกลับมามองเห็นคุณค่าของการเรียนรู้อักษรเบรลล์อีกครั้ง แม้โลกจะเต็มไปด้วยอุปกรณ์ดิจิทัลขั้นสูงสำหรับคนตาบอดก็ตาม
เรียนรู้สิ่งใหม่ ด้วยใจที่สนุกสนานไปกับ “LEGO Braille bricks”
การเรียนรู้เรื่องอักษรเบรลล์ในปัจจุบันจะไม่น่าเบื่ออีกต่อไป เมื่อ “LEGO Braille Bricks” หรือตัวต่อเลโก้อักษรเบรลล์ได้เริ่มก้าวเข้ามาเป็นสะพานการเรียนรู้ที่สนุกสนานและเป็นมิตรกับเด็ก ๆ ตั้งแต่ช่วงปี 2020 เลโก้รุ่นนี้พัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิ LEGO ร่วมกับสมาคมคนตาบอดแห่งเดนมาร์กและมูลนิธิโดรินาโนวิลล์เพื่อคนตาบอดจากบราซิล เกิดเป็นเซ็ตของเลโก้จำนวน 250 ชิ้นที่ครอบคลุมตัวอักษรเบรลล์ทั้งหมด รวมไปถึงตัวเลขตั้งแต่ศูนย์ถึงเก้าและเครื่องหมายทางคณิตศาสตร์
ความพิเศษของโลโก้กล่องนี้อยู่ที่ตัวเลโก้ที่แม้ดูเผิน ๆ ในเรื่องของสีสันและขนาดจะไม่ค่อยต่างอะไรจากปกติ แต่หากสังเกตจะเห็นว่า ปุ่มนูนของเลโก้แต่ละชิ้นนูนขึ้นแทนอักษร เลข หรือเครื่องหมายแต่ละตัว พร้อมทั้งมีการสกรีนอักษรกำกับไว้เพื่อให้ครูหรือครอบครัวสามารถเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ๆ ได้อย่างมีความสุข โดยในช่วงปีแรกนั้น มูลนิธิ LEGO ได้ทำการแจกจ่ายให้กับสถาบันที่ได้รับการคัดเลือกฟรี ๆ เพื่อให้ของเล่นนี้เข้าถึงเด็ก ๆ ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นมากที่สุด แต่ด้วยเสียงตอบรับที่ล้นหลาม ทำให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพัฒนาและเริ่มวางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
“LEGO Braille Bricks – Play with Braille” ที่พัฒนามาเพื่อจำหน่ายประกอบด้วยตัวต่อ 287 ตัวที่สามารถเล่นร่วมกับเลโก้รุ่นอื่น ๆ คละสีขาว เหลือง เขียว แดง น้ำเงิน พร้อมด้วยปุ่มนูนและสกรีนที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงมีแผ่นฐาน 2 แผ่นสำหรับต่อด้วย ของเล่นชิ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นหรือตาบอด แต่รวมไปถึงทุกคน (อายุ 6 ปีขึ้นไป) ที่ต้องการจะเรียนรู้อักษรเบรลล์ ผ่านตัวต่อที่ครองใจและเป็นที่วางใจของหลายบ้านมาอย่างยาวนาน
legobraillebricks.com
ลิซ่า เทย์เลอร์ คุณแม่ลูกสองกล่าวว่า “โอลิเวีย (ลูกคนโต) เจอ LEGO Braille Bricks ที่โรงเรียน แล้วมันก็มีอิทธิพลต่อความสงสัยใคร่รู้เรื่องอักษรเบรลล์ของเธอมาก ก่อนหน้านั้น เธอพบว่ามันออกจะยากที่จะเริ่มต้นด้วยสัญลักษณ์ แต่ตอนนี้เธอมีพัฒนาการอยู่ตลอดเลย การมีเลโก้ชุดนี้ที่บ้านเปลี่ยนทุกอย่าง เราสามารถเล่นมันด้วยกันเป็นครอบครัวได้ และเธอก็สามารถแนะนำให้น้องสาวตัวน้อยของเธอรู้จักกับอักษรเบรลล์ด้วย” คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงพลังของของเล่นชิ้นน้อยที่นอกจากจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ได้แล้ว ยังสร้างพลังส่งต่อให้กับคนรอบข้างได้เช่นกัน และเพื่อเชิญชวนให้ทุกคนได้เข้ามาลองทำความรู้จักกับอักษรเบรลล์ ในหน้าเว็บของเลโก้จึงมีกิจกรรมแนะนำมากมายที่ครอบครัวสามารถนำมาประยุกต์เล่นกับชุดเลโก้นี้ได้ นอกจากนี้ เทย์เลอร์ยังชี้ให้เห็นว่าเมื่อโอลิเวียสามารถเข้าถึงเลโก้เหมือนกับที่เด็กคนอื่น ๆ เข้าถึงได้ เธอเลยรู้สึกถึงความเป็นส่วนหนึ่งและการมีส่วนร่วมกับกลุ่มเพื่อน ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวมีความสำคัญต่อเด็ก ๆ ทุกคน
ปัจจุบันนี้ LEGO Braille Bricks – Play with Braille วางจำหน่ายในราคา 89.99 เหรียญสหรัฐ ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส โดยในอนาคตจะมีเวอร์ชันภาษาอิตาเลียน เยอรมัน และสเปนตามมาด้วย
“จุดหกจุดนั้นหมายถึง การสื่อสาร ความบันเทิง และการสร้างเสริมพลัง” คำกล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของระบบการอ่านที่ปราศจากการใช้สายตาได้อย่างดี และสำหรับผู้ใช้แล้ว ข้อจำกัดเดียวของระบบที่มีมาตรฐานนี้ก็คือสื่อที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ในยุคที่ใครหลายคนเริ่มหันกลับมาเห็นความสำคัญของอักษรเบรลล์ จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าสังคมจะย้อนกลับมา “มอง” เห็นให้ถึงปัญหาและร่วมกันแก้ไข เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้และ “สัมผัส” เรื่องราวที่ต้องการได้อย่างเท่าเทียมกัน
1 ต่อมาได้มีการประกาศให้เป็นวันอักษรเบรลล์ เพื่อให้เกียรติและระลึกถึงผู้ที่คิดค้นระบบการสื่อสารที่เปลี่ยนชีวิตผู้พิการทางสายตาทั่วโลกไปตลอดกาล
ที่มา : เว็บไซต์ blind.or.th
เว็บไซต์ brailleworks.com
บทความ “พิพิธภัณฑ์อักษรเบรลล์” จาก benyalai.in.th
บทความ “Genevieve Caulfield (1888 – 1972)” จาก 5000smag.com
บทความ “The Story of Louis Braille: Inventor of the Braille Code” จาก icoe.org
บทความ “The History of the Braille Script, the Language of the Blind” โดย Sidrah จาก leverageedu.com
บทความ “What Is Braille?” จาก lvib.org
บทความ “Why is BRAILLE still relevant today?” จาก legobraillebricks.com
บทความ “On World Braille Day, advocates say six dots still key to communication, literacy and empowerment” โดย Peter Gunders และ David Chen จาก abc.net.au
บทความ “BRAILLE--WHAT IS IT? WHAT DOES IT MEAN TO THE BLIND?” จาก nfb.org
บทความ “Bringing Braille Fun Home: LEGO® Braille Bricks on Sale for the First Time” จาก lego.com
บทความ “เรียนรู้อักษรเบรลล์ผ่าน ‘เลโก้’ สร้างโอกาสทางสังคมและการจ้างงาน” จาก research.eef.or.th
บทความ “LEGO Releases Braille Bricks For Blind And Visually Impaired Children” โดย Mindaugas Balčiauskasจาก boredpanda.com
บทความ “Lego Braille Bricks put the alphabet at blind kids' fingertips” โดย Amanda Kooser จาก cnet.com
บทความ “ระบบอักษรเบรลล์อังกฤษพื้นฐาน” โดย วีรชัย อำพรไพบูลย์ จาก so02.tci-thaijo.org
บทความ “อักษรเบรลล์” โดย ประสิทธิ์ ต่อประดิษฐ์ จาก SWU eJournals System
เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง