ไทโปกราฟี 101 : จะสื่อสารให้ดึงดูดและดี การพรีเซ็นต์ก็สำคัญ
Technology & Innovation

ไทโปกราฟี 101 : จะสื่อสารให้ดึงดูดและดี การพรีเซ็นต์ก็สำคัญ

  • 20 Sep 2023
  • 1389

เพราะมากกว่า “คำ” ที่เขียนสื่อสาร คือรูปแบบการนำเสนอที่ช่วยเสริมความรู้สึกให้ตรงใจ ไม่ว่าจะเป็นบนหน้าจอโทรศัทพ์ หนังสือ นิตยสาร ป้ายร้านรวงต่าง ๆ ไปจนถึงบิลบอร์ดโฆษณาที่ตั้งเรียกสายตาข้างทางด่วน ไม่ว่าที่ไหน ๆ ก็หนี  “Typography” (ไทโปกราฟี) ไปไม่พ้น 

ไทโปกราฟี คือ ศิลปะในการเลือก จัดเรียง และออกแบบตัวอักษร เพื่อให้ข้อความที่เป็นลายลักษณ์สามารถสื่อความได้อย่างชัดเจน ทั้งในแง่ของการอ่านได้ง่าย ความหมายถูกต้อง รวมถึงต้องดึงดูดสายตาผู้อ่าน ซึ่งเกี่ยวข้องไปถึงสไตล์ รูปลักษณ์ การเว้นวรรค และโครงสร้างที่มุ่งกระตุ้นอารมณ์และถ่ายทอดสารที่เฉพาะเจาะจงแก่ผู้อ่าน สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเมื่อความแตกต่างเพียงเล็กน้อยบางทีก็ทำให้สารที่สื่อออกมาแตกต่างกันอย่างลิบลับ

กล่าวกันว่า ไทโปกราฟีมีรากฐานตั้งแต่ช่วงอารยธรรมโบราณ เมื่อระบบการเขียนพัฒนาจากสัญลักษณ์รูปภาพสู่อักขระที่เป็นเชิงนามธรรมมากขึ้น หนึ่งในตัวอย่างแรก ๆ ที่หลายบทความยกขึ้นมาก็คือ อักษรคูนิฟอร์มแห่งอารยธรรมเมโสโปเตเมีย และอักษรอียิปต์โบราณของอียิปต์ เพราะเมื่อระบบการเขียนพัฒนาขึ้น ซับซ้อนขึ้น ความจำเป็นในการจัดเรียงตัวอักษรให้อ่านง่ายและดึงดูดสายตาก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน 

ต่อมาถึงในยุคกลางที่โดดเด่นเรื่องของเอกสารลายมือและเอกสารตัวเขียนสีวิจิตร นำไปสู่วิวัฒนาการของรูปแบบการเขียนที่หลากหลายขึ้น รวมไปถึงเรื่องของการเขียนอักษรวิจิตร (Calligraphy) และการวางเค้าโครงหน้าแบบใหม่ ๆ ยุคนี้ยังเป็นยุคแห่งการแบ่งปันความรู้เรื่องการเขียนกับผู้อื่นด้วย กระนั้นผู้ที่เข้าถึงความรู้เหล่านี้กลับมีไม่มากนัก เพราะคนที่เข้าถึงได้ก็มักจะเป็นชนชั้นนำที่มีการศึกษาทั้งนั้น

กระทั่งช่วงศตวรรษที่ 15 ที่โยฮันเนิส กูเทินแบร์ค นักประดิษฐ์ชาวเยอรมันได้เขย่าวงการพิมพ์และเผยแพร่ข้อมูลด้วยการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ที่ใช้ระบบตัวเรียง (movable-type printing press) ในแม่พิมพ์โลหะขึ้น จนกลายเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนของโลกสมัยใหม่และการพิมพ์แบบสมัยใหม่ที่ทั้งเร็วและมีประสิทธิภาพกว่า ส่งผลให้หนังสือสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นและมีผลต่อการรู้หนังสือที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ในยุคดังกล่าวนี้ ไทโปกราฟีจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างข้อความที่อ่านง่ายและสวยงาม นำไปสู่ความเฟื่องฟูของแบบอักษรทั้งแบบวิจิตรและแบบที่ใช้งานกันทั่วไป ควบไปกับการเกิดมาตรฐานการใช้รูปแบบอักษร ขนาดอักษร และการวางเค้าโครงหน้าเช่นกัน

จากนั้นไทโปกราฟีก็ได้รับการพัฒนาเรื่อยมา จนถึงยุคปัจจุบันหากพูดถึงคำคำนี้ หลายคนก็มักจะเชื่อมมันไว้กับโลกของการดีไซน์บนดิจิทัลเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะมีนักออกแบบบางส่วนที่ยังคงใช้ดินสอและปากกาในการร่างแบบขั้นตอนแรก ๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันนี้กราฟิกดีไซเนอร์ต่างก็มีเครื่องมือและเทคโนโลยีแสนทันสมัยที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในกระบวนการต่าง ๆ มากขึ้น และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะใช้โปรแกรมต่าง ๆ ในการออกแบบ ด้วยข้อดีเกี่ยวกับความรวดเร็ว แม่นยำ และสม่ำเสมอในการผลิตซ้ำทั้งขอบ มุมโค้ง หรือแม้แต่เส้นตรง ในขณะที่โลกอินเทอร์เน็ตก็เชื่อมต่อให้นักออกแบบได้ค้นพบรูปแบบตัวอักษรและไอเดียใหม่ ๆ ในแวดวงมากมาย ซึ่งส่งผลให้ตัวไทโปกราฟีเองมีการออกแบบที่หลากหลายมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเช่นกัน 

จะสร้างงานให้ดีต้องคำนึงที่จุดไหนบ้าง 
ก่อนจะเริ่มทำงานไทโปกราฟี เราอาจจะต้องทำความรู้จักกับองค์ประกอบหลัก ๆ ดังต่อไปนี้ก่อน เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพ

ฟอนต์และไทป์เฟซ – แม้โดยทั่วไปมักจะเห็นว่า 2 คำนี้เป็นคำที่ใช้แทนกัน แต่แท้จริงแล้วทั้งสองคำมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ในขณะที่ไทป์เฟซ (typeface) หมายถึงรูปแบบของตัวอักษรที่ออกแบบโดยนักออกแบบตัวอักษร ครอบคลุมทั้งครอบครัว เช่น Times New Roman หรือ Arial แต่ฟอนต์ (font) กลับเป็นเพียงรูปแบบลักษณะหนึ่งของไทป์เฟซ เช่น ตัวเอียงหรือตัวหนา อย่าง Times New Roman Italic หรือ Arial Bold เป็นต้น การเลือกใช้ประเภทไทป์เฟซที่ถูกต้อง จะช่วยเสริมให้อารมณ์ความรู้สึกชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ไทป์เฟซแบบ Serif ที่มีเชิงจะมีกลิ่นอายของประวัติศาสตร์และอำนาจมากกว่า ต่างจากตัวอักษรไม่มีเชิงหรือ Sans-serif ที่ดูทันสมัยและโดดเด่นกว่า จนมักจะถูกนำมาใช้ในการพาดหัวบ่อยครั้ง

ความตัดกัน – ยิ่งแตกต่างก็ยิ่งมองเห็นชัดเจนและยิ่งจะทำให้ข้อความน่าสนใจ เช่น ตัวอักษรสีดำใหญ่ ๆ บนพื้นกระดาษสีขาว นักออกแบบส่วนใหญ่มักสร้างความตัดกันผ่านการเล่นกับแบบอักษร สี สไตล์ รวมถึงทำขนาดและน้ำหนักของตัวอักษรให้ต่างกัน สิ่งนี้อาจคาบเกี่ยวกับเรื่องของลำดับขั้น ที่แยกระหว่างข้อความที่ต้องอ่านก่อน กับข้อความอื่น ๆ ทั่วไป อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความแตกต่างกัน ก็อย่าลืมว่าภาพรวมของงานหนึ่งชิ้นนั้นก็ควรที่จะมีความสม่ำเสมอเพื่อป้องกันความสับสน ดังนั้นถึงจะมีลูกเล่นที่สร้างความแตกต่าง แต่ก็อย่าลืมมองภาพให้ทุกอย่างมีความสอดคล้องและไหลลื่นเป็นแพตเทิร์นที่ผู้อ่านจับทางได้ 

พื้นที่ว่างและการจัดตำแหน่ง – ไม่เพียงแต่ตัวข้อความ แต่พื้นที่ว่างรอบ ๆ ก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องใส่ใจ การใช้พื้นที่สีขาวอย่างเหมาะสม ช่วยให้ผู้อ่านสามารถอ่านข้อความได้อย่างสบายตา ทั้งยังช่วยแยกข้อความให้เป็นสัดเป็นส่วนได้อย่างชัดเจน สิ่งนี้ยังช่วยดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน และสร้างประสบการณ์ดี ๆ ปราศจากความรู้สึกอึดอัดหรือเกะกะ คำว่าพื้นที่ว่างอาจหมายความถึงระยะขอบ ช่องว่างระหว่างบรรทัด หรือพื้นที่โล่งที่ไม่มีข้อความหรือกราฟิกก็ได้ สิ่งนี้อาจเชื่อมโยงต่อถึงการจัดวางตำแหน่งขององค์ประกอบต่าง ๆ ในชิ้นงาน เพื่อทุกอย่างจะดูมีระยะห่างที่พอดี สอดคล้องทั้งในตัวงานและมาตรฐานของแต่ละแวดวง เช่น ถ้าหากเราอยู่ในสังคมที่อ่านหนังสือจากซ้ายไปขวา การจัดหน้าข้อความให้ไปกองทางขวาก็อาจจะขัดกับความรู้สึกหรือสัญชาตญาญของผู้อ่านได้ 

 

เรียงนู่นจัดนี่มีประโยชน์อย่างไร
เพียงแค่ดูองค์ประกอบหลัก ๆ บางประการที่ว่ามานั้น ก็อาจจะทำให้หลายคนเห็นแล้วว่างานไทโปกราฟีใช่ว่าจะทำกันได้ง่าย ๆ ทั้งยังต้องใช้ทั้งกลยุทธ์ร่วมกับสายตาที่มองเห็นความงามในการประกอบสร้างชิ้นงานที่ดึงดูดและใช้ได้จริง แล้วถ้าจะยากเย็นขนาดนี้ จะสนใจทำไปทำไม นอกจากการดึงดูดสายตาผู้อ่านแล้ว ไทโปกราฟียังทำอะไรได้อีก

“ไทโปกราฟีที่ดีจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมข้อความและทำให้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ข้อความนี้เห็นจะเป็นจริงเมื่อเราไม่อาจใช้แนวทางการจัดวางเดิม ๆ หรือรูปแบบตัวอักษรเดิม ๆ ในการส่งสารที่มีความแตกต่างกันได้ ยกตัวอย่างเช่น ตัวอักษรที่ดูสวยงามในการ์ดแต่งงาน ไม่อาจนำมาใช้บนป้ายบอกทาง เพราะถึงแม้คนร้อยทั้งร้อยจะมองว่าตัวอักษรนั้นสวยกว่า แต่จุดมุ่งหมายของป้ายก็คือต้องการให้ผู้ใช้ถนนสามารถอ่านจับความได้รวดเร็วจากระยะไกล ทั้งในองศาที่เห็นได้ชัดเจนหรืออาจเอนไปมุมข้าง ๆ เล็กน้อย รวมไปถึงภายใต้สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดปี การใช้ตัวอักษรเรียบและหนา จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ในขณะที่ขนาดตัวอักษร น้ำหนัก และสไตล์ที่แตกต่าง ก็ยังช่วยนำทางให้ผู้อ่านเลือกสนใจข้อความในลำดับที่ควรเป็น โดยไม่ต้องมีใครมาคอยชี้ว่า ควรจะอ่านส่วนไหนก่อน ดังที่เราอาจเคยเห็นรูปภาพในอินเทอร์เน็ตที่รู้ใจเราอย่างถูกเผงว่า “คุณจะอ่านตรงนี้ จากนั้นจะมาอ่านตรงนี้ต่อ และจะอ่านจุดนี้เป็นที่สุดท้าย”

นอกจากนี้ ไทโปกราฟียังเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของการสร้างแบรนด์ ไทป์เฟซที่ต่างกันบ่งบอกบุคลิกที่ต่างกัน บ้างสะท้อนความซุกซน บ้างลุ่มลึก บ้างประณีต และบ้างก็อบอุ่นทันสมัย การเลือกอักษรที่ตรงกับภาพลักษณ์ที่บริษัทต้องการนำเสนอ จึงจะยิ่งย้ำชัดให้เห็นคุณค่าของบริษัทนั้นมากขึ้น และถ้าหากมีการใช้ตัวอักษรนั้นอย่างสม่ำเสมอตามแพลตฟอร์มและสื่อต่าง ๆ ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคเกิดการจดจำมากขึ้นด้วย สิ่งนี้นำไปสู่ฐานผู้บริโภคที่แข็งแกร่งขึ้นและอาจส่งผลไปถึงความเชื่อใจที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์นั้น ๆ ไทโปกราฟียังช่วยเพิ่มปัจจัยทางอารมณ์ในลักษณะเดียวกับการสะท้อนบุคลิก เห็นได้ชัดจากตัวอย่าง เช่น หากเราพิมพ์ประโยค “ฉันจะตามหาคุณจนเจอ” ด้วยอักษรแบบน่ารัก ๆ เราก็คงจะรู้สึกว่าประโยคนี้โรแมนติกไม่หยอก แต่ถ้าพิมพ์ด้วยตัวอักษรลายเส้นขีดสะเปะสะปะ สีแดง ๆ เราก็คงเสียวสันหลังกับประโยคนี้ไม่น้อยเหมือนกัน 

ดังนี้ เราจึงอาจกล่าวได้ว่าไทโปรกราฟีมีประโยชน์ทั้งในแง่การสื่อสารความหมายโดยตรง รวมไปถึงอารมณ์ที่ซ่อนเร้น ไหนจะเป็นการช่วยดึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ด้วยการสร้างความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ทั้งยังช่วยดึงดูดความสนใจผู้อ่านให้เข้ามาอ่านข้อความตามลำดับที่ผู้เขียนคาดหวัง 

คิด หยิบ กะ ปั๊ม ได้ดังใจไปกับ “BlockFace”
ปัจจุบันนี้งานไทโปกราฟีมักผูกอยู่กับโลกดิจิทัลจนเสน่ห์ของการสัมผัสตัวงานศิลปะทำมือหายไป เปลี่ยนสู่การสัมผัสแป้นพิมพ์กับเม้าส์และชมเชยผลงานผ่านหน้าจอแทน ซึ่งสำหรับศิลปินหรือนักออกแบบหลายคนรวมถึง วิลล์ โมเวอร์ (Will Mower) แล้ว การสร้างงานผ่านหน้าจอดูเหมือนจะไม่ใช่ทางสนุกที่เติมเต็มเขาได้เลย ด้วยเหตุนี้ โมเวอร์จึงได้เริ่มดีไซน์  “BlockFace” เพื่อหวังจะนำความสุขของการทำไทโปกราฟีและศิลปะภาพพิมพ์กลับมาสู่ปลายนิ้วของทุกคน ผ่านประสบการณ์การปฏิบัติจริง ที่ไม่ว่าใครก็สามารถสนุกสนานไปกับมันได้

“BlockFace เป็นมากกว่าเครื่องมือ มันคือการเข้าสำรวจโลกของสัญลักษณ์ การสร้างแพตเทิร์น และไทโปกราฟี ในลักษณะที่สัมผัสได้และสามารถลงมือทำมันจริง ๆ” โมเวอร์ กล่าว ชุดอุปกรณ์นี้คือแสตมป์ที่ออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนได้สนุกไปกับการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นไทโปกราฟี สัญลักษณ์ หรือลวดลาย โดยมีอุปกรณ์หลักเป็นชุดแสตมป์ตัวอักษรแบบแยกส่วน ซึ่งเราสามารถหยิบที่ปั๊มแต่ละตัวมาผสมผสานเพื่อสร้างเป็นตัวอักษรหรือลวดลายหนึ่ง ๆ ได้อย่างอิสระ 

จุดเริ่มต้นของโมเวอร์กับการทำ BlockFace ย้อนไปในปี 2013 ซึ่งเป็นช่วงที่เขากำลังเผชิญอาการสมองตัน (Creative Block) และได้เริ่มสนใจระบบโมดูลาร์และศิลปะภาพพิมพ์ เขาจึงเริ่มพัฒนาอุปกรณ์ที่ตอบโจทย์บนพื้นของความสนุกและคำนึงถึงความเป็นอิสระในการสร้างชิ้นงาน จนได้ออกมาเป็นชุดอุปกรณ์ BlockFace ชุดแรก (หรือที่เดิมชื่อ “Alpha-Set”) ในปี 2018 อุปกรณ์ชุดนี้ประกอบด้วยตรายางตัดด้วยเลเซอร์ 16 ตัวพร้อมด้ามจับไม้ และชุดคำแนะนำสำหรับการใช้ตรายางเหล่านั้นให้ประกอบออกมาเป็นตัวอักษร 1 รูปแบบ 

จากนั้นชุดอุปกรณ์ดังกล่าวก็ได้รับการพัฒนาเรื่อยมาผ่านเวิร์กช็อป จนกลายมาเป็น BlockFace เวอร์ชันปี 2021 ที่อัปเกรดและยืดหยุ่นมากขึ้น ประกอบด้วยตรายางที่มีโฟมกันกระแทกและด้ามจับที่ทำจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จำนวน 24 รูปแบบ บรรจุอยู่ในกล่องกระดาษสีดำสุดเท่ที่ปิดแน่นด้วยแม่เหล็ก พร้อมคู่มือ “Typebook” ที่บอกวิธีการใช้แสตมป์ประกอบรูปตัวอักษรได้ถึง 6 ไทป์เฟซเลยทีเดียว กระนั้นผู้ใช้ทุกคนก็ยังสามารถวางแผนและปั๊มแปะลวดลายใหม่ ๆ ได้ตามใจ โดยไม่ได้มีข้อจำกัดใดเลยนอกเหนือจากจินตนาการของเราเอง

อุปกรณ์เวอร์ชันใหม่นี้ยังได้ร่วมมือกับ Open Press Project เพื่อหาวิธีผลิตที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของคุณภาพ ปริมาณ การขนส่ง และการเข้าถึง รวมถึงได้เปิดระดมทุนในแพลตฟอร์ม Kickstarter และได้เสียงตอบรับที่ล้นหลามจากผู้สนับสนุนเกินพันคน ตัว BlockFace เองยังเป็น open-source project ที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้ NonCommercial Creative Commons license ด้วย นั่นจึงหมายความว่าทุกคนสามารถดาวน์โหลดไฟล์และผลิตชุดเครื่องมือนี้ได้ด้วยตัวเอง เพียงมีเครื่องพิมพ์สามมิติและ/หรือเครื่องตัดเลเซอร์ ภายใต้วัตถุประสงค์ของการใช้ส่วนตัวหรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น 

แน่นอนว่าไทโปกราฟีจะยังคงอยู่ในชีวิตประจำวันของเราต่อไป ตราบใดที่เรายังคงมีลายลักษณ์เพื่อใช้ในการสื่อสาร และมันจะยังคงเป็นศาสตร์ที่สนุกเสมอ เมื่อความคิดสร้างสรรค์ไม่มีวันหยุดนิ่ง ภายใต้จุดมุ่งหมายเดิมที่นอกจากสวยแล้ว ก็ยังต้องเปี่ยมไปด้วยความหมายที่ต้องการสื่อสารด้วย  

ที่มา : บทความ “BUTTERICK’S PRACTICAL TYPOGRAPHY” โดย Matthew Butterick จาก practicaltypography.com
บทความ “Why Is Typography Important in Graphic Design?” โดย Stephanie Corrigan จาก flux-academy.com 
บทความ “The origins of typography and the role it plays in design” โดย Rebecca Michelle จาก bootcamp.uxdesign.cc 
บทความ “What Is Typography, and Why Is It Important? A Beginner’s Guide” โดย JAYE HANNAH จาก careerfoundry.com 
บทความ “The Evolution of Typography: A Brief History” จาก printmag.com 
บทความ “The history of typography: retracing letter forms from hieroglyphs to Helvetica” โดย Fi Forrest จาก 99designs.com 
บทความ “Typography แค่ตัวอักษรต้องสอนกันด้วยหรอ?” โดย Piyanuch Promprapant จาก medium.com บทความ “การจัดวางตัวอักษร (Typography)” โดย กฤษณพงศ์ เลิศบำรุงชัย จาก touchpoint.in.th (https://touchpoint.in.th/typography/)
บทความ “ทำความรู้จัก Johann Gutenberg บิดาแห่งการพิมพ์” จาก goterrestrial.com 
บทความ “BlockFace - A Stamp Kit to Explore Typography & More” โดย Martin Schneider จาก kickstarter.com 
บทความ “BlockFace: an open-source stamp kit to explore typography by graphic artist Will Mower” โดย TOM MAY จาก creativeboom.com
บทความ “‘BlockFace’ Is A Modular Stamp Kit For Crafting Your Own Unique Typefaces” โดย Mikelle Leow จาก designtaxi.com
บทความ “Creative Block และวิธีสร้างแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ผลงาน” โดย Pongsathorn Posayanonth จาก pongsathornpmusic.com

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง