เปลี่ยนการช้อปปิ้งแบบเก่า ๆ สู่การใส่ “ชุดทิพย์” ประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบใหม่ด้วยความเป็นจริงเสมือน
โลกของการช้อปปิ้งยุคใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น โดยเฉพาะการเติบโตอย่างเฟื่องฟูของแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ช จากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ผู้บริโภคนั้นหันไปซื้อของในช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น และถึงแม้ว่าการระบาดจะรุนแรงน้อยลงแล้ว แต่พฤติกรรมการช้อปปิ้งของผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร ทำให้การลองเสื้อผ้าที่คนอื่นใส่และหยิบจับมาใส่ต่อ รวมถึงการอยู่ในร้านค้าที่มีผู้คนพลุกพล่าน ไม่ใช่ทางเลือกที่ปลอดภัยอีกต่อไป
ถึงอย่างนั้น ก็มีความท้าทายที่รออยู่สำหรับแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ โดยเฉพาะการช้อปปิ้งสินค้าแฟชั่นและความงามที่ลูกค้าไม่สามารถทดลองสินค้าได้ และไม่อาจรู้ได้ว่าเมื่อมาอยู่บนตัวเราแล้วจะเป็นยังไง แต่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง จึงนำมาสู่โซลูชันที่ไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่าแบรนด์และร้านค้าปลีกให้ยังคงสามารถสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งเสมือนที่มีชีวิตชีวาและดึงดูดใจผู้บริโภคผ่านเทคโนโลยี AR (Augmented reality) ที่ช่วยเชื่อมระหว่างโลกความเป็นจริงกับโลกเสมือน ให้ผู้บริโภคได้ลองสวมใส่แบบเสมือนจริงก่อนตัดสินใจซื้อ
julien Tromeur / Unsplash
เปิดประสบการณ์ช้อปปิ้งแบบใหม่ของอุตสาหกรรมแฟชั่นแฟใจ
เนื่องจากการใช้งานแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ชเติบโตขึ้นอย่างมากในหมู่ผู้บริโภคของอุตสาหกรรมแฟชั่นและความงาม จึงไม่แปลก ถ้าผู้บริโภคจะความต้องการประสบการณ์ที่ดีขึ้นผ่านการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเทคโนโลยี AR (Augmented reality) หรือเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม
แม้ว่าเทคโนโลยี AR จะเป็นเทคโนโลยีที่มีการพูดถึง 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้ว และมีการนำมาใช้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นและความงามบ้างแล้ว แต่ก็ยังเป็นแนวทางที่ค่อนข้างใหม่และยังแปลกหูแปลกตาสำหรับผู้บริโภคอีกหลายคน
ด้วยสาเหตุนี้ โลกแห่งแฟชั่นและความงามจึงต้องมีการปรับตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังผสานเข้ากับเทคโนโลยี AR แบรนด์ดังและร้านค้าปลีกมากมายต่างเริ่มใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยนี้ในการขับเคลื่อนธุรกิจและมอบประสบการณ์การช้อปปิ้งที่แสนสนุกให้กับผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กับการกระตุ้นยอดขาย ผลักดันลูกค้าใหม่ให้เป็นลูกค้าประจำผ่านการเชื่อมช่องว่างระหว่างการขายหน้าร้านและออนไลน์ด้วยความเป็นจริงเสริมที่มาในรูปแบบของ Virtual Try-On (VTO) หรือการลองสวมใส่เสมือนจริง ที่ให้ผู้บริโภคสามารถทดลองสวมใส่เสื้อผ้า เครื่องประดับ ใช้เครื่องสำอาง และของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ ผ่านการทับซ้อนบนความเป็นจริงทางกายภาพ 2 มิติให้เป็นภาพ 3 มิติเหนือรูปภาพหรือการถ่ายด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบได้ทั้งขนาด สี สไตล์ ข้อมูลสินค้า และความพอดีที่พวกเขาคิดจะซื้อได้อีกด้วย ทำให้สัมผัสประสบการณ์การช้อปปิ้งเสมือนจริงได้โดยง่ายไม่ว่าอยู่ที่ใดก็ตาม ราวกับได้ไปเยี่ยมชมช้อปของจริงอย่างไรอย่างนั้น
นอกจากนี้ รูปแบบการประยุกต์ใช้งานของเทคโนโลยี AR ดังกล่าว ยังสามารถทำให้ทั้งพื้นที่ใด ๆ ของร้านค้าและห้องลองเสื้อผ้าแบบเดิม กลายเป็น “ห้องลองเสื้อเสมือนจริง” หรือ Virtual Fitting Room (VFR) ได้ โดยการใช้กระจกดิจิทัลหรือจอแสดงผลอัจฉริยะ ซึ่งช่วยลดความแออัดและความพลุกพล่านของผู้คนจากการเข้ามาดูและลองสินค้าภายในร้านค้าได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยลดความรู้สึกไม่สบายใจที่ผู้บริโภคต้องมาถอดและเปลี่ยนเสื้อผ้าในห้องลองเสื้อ เพราะการเลือกขนาดเสื้อผ้าที่ถูกต้องจากราวขายสินค้าให้ได้ขนาดที่พอดีกับร่างกายภายในครั้งแรกนั้น อาจไม่เกิดขึ้นได้เสมอไป โดยห้องลองเสื้อเสมือนจริงจะเข้ามาอำนวยผู้บริโภคให้ลูกค้าเลือกสรรเสื้อผ้าทั้งสีและสไตล์ที่หลากหลายและลองสวมใส่ผ่านการสัมผัสกระจกหรือจอแสดงผลเสมือนจริงได้ด้วยปลายนิ้วมือแบบที่ไม่ต้องถอดเสื้อผ้าหรือเดินกลับไปมาระหว่างห้องลองและเชลฟ์วางสินค้าให้เสียเวลาอีกต่อไป ทำให้การช้อปปิ้งสะดวกยิ่งขึ้นและลดเวลาที่ผู้บริโภคใช้ในการลองสินค้าแต่ละครั้งลง
rawpixel.com / Freepik
จากที่กล่าวมา สอดคล้องกับข้อมูลของ Rebecca Minkoff แบรนด์กระเป๋าชื่อดังสัญชาติอเมริกัน ที่มีการเปิดเผยว่า การทำงานของเทคโนโลยี AR ทำให้เกิดภาพ 3 มิติที่สมจริงบนร่างกายได้ ทำให้ผู้บริโภคเห็นรูปลักษณ์ของสินค้าได้ดีกว่าภาพ 2 มิติ และกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้ามากขึ้นถึง 65%
ไม่เพียงเท่านั้น เทคโนโลยี AR ยังช่วยลดความไม่แน่นอนในการซื้อสินค้าจากการลองสวมใส่หรือลองใช้งานเสมือนจริงได้ ทำให้ผู้บริโภคสามารถดูและลองได้ว่า เวลาสวมใส่แล้วจะเหมาะกับรูปร่างไหม หรือการแต่งหน้าด้วยเฉดสีไหนจะเหมาะกับพวกเขา ซึ่งเป็นการลดการส่งคืนสินค้าและเป็นการเพิ่มความไว้วางใจและความภักดีระหว่างผู้บริโภคและแบรนด์ได้ เพราะการคืนสินค้าถือเป็นปัญหาที่ใหญ่และพบเจอได้บ่อยครั้งในอุตสาหกรรมแฟชั่นและความงาม โดยเทคโนโลยี AR นั้นได้เข้ามาช่วยลดอัตราการส่งคืนสินค้าลงได้กว่า 30% เนื่องจากความสามารถในการทดลองใช้และทดสอบสินค้าเสมือนจริง ช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจในตัวเลือกของตนเองมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนใจน้อยลงหลังจากการซื้อสินค้าแล้ว
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี AR นั้นได้เข้ามาเปลี่ยนการช้อปปิ้งแบบเดิมไปพร้อมกับการสร้างและยกระดับประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบใหม่ในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งการช้อปปิ้งหน้าร้านและการช้อปปิ้งออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภคได้ตื่นตาตื่นใจและดื่มด่ำไปกับการช้อปปิ้งแบบใหม่ นำมาสู่โอกาสในการซื้อสินค้าที่มากขึ้นกว่าที่เคย เมื่อลูกค้ามีโอกาสได้สัมผัสสินค้าก่อนซื้อ พวกเขาจะรู้สึกเชื่อมโยงกับสินค้ามากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยี AR เป็นหนึ่งในโซลูชันที่กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางอารมณ์ของลูกค้าที่ส่งผลให้การขายประสบความสำเร็จมากขึ้นตามมา ดังเช่นผลสำรวจของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่พบว่า ผู้บริโภคกว่า 47% ยอมรับว่าเทคโนโลยี AR ทำให้พวกเขารู้สึกเชื่อมโยงกับสินค้ามากขึ้น เพราะช่วยให้เห็นภาพเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ความงามบนตัวได้โดยตรง อันจะทำให้เกิดความตั้งใจซื้อตามมา
“เพิ่มความเข้าใจ” กับเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน บ่อยครั้งที่คำว่า Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) มักถูกใช้สลับกัน เพราะทั้ง AR และ VR อยู่ภายใต้ร่มเงาเดียวกันของคำว่า “เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน” แม้ว่าจะคล้ายกันในส่วนของการสร้างโลกเสมือน 3 มิติ แต่เทคโนโลยีทั้งสองนี้แตกต่างกันในแง่ประสบการณ์ที่ผู้ใช้จะได้รับ คือ VR เป็นการส่งผู้คนเข้าสู่โลกเสมือนจริงอย่างสมบูรณ์ผ่านการสวมอุปกรณ์ชุดหูฟัง VR ทำให้สภาพแวดล้อมในโลกแห่งความเป็นจริงถูกแทนที่โดยสิ้นเชิง ในขณะที่ AR เป็นการเพิ่มองค์ประกอบดิจิทัล 3 มิติผ่านการซ้อนทับโลกทางกายภาพบนวัตถุในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องใช้อะไรมากไปกว่าอุปกรณ์สมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตธรรมดา ๆ ที่มีแอปพลิเคชันที่รองรับเทคโนโลยี AR ได้ หากเทียบระหว่างเทคโนโลยี VR กับ AR นับว่าเทคโนโลยี AR ถูกนำมาประยุกต์ใช้งานมากกว่า เนื่องจากมีความยืดหยุ่นและสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ไม่ว่าใครก็สามารถใช้งานเทคโนโลยี AR ได้ เพราะเหตุนี้เทคโนโลยี AR จึงกลายมาเป็นโซลูชันช่วยแบรนด์และร้านค้าปลีกต่าง ๆ ในการเอาชนะใจและความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ต่างกำลังมองหาประสบการณ์การช้อปปิ้งที่พวกเขาสามารถมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับสินค้าของแบรนด์ที่พวกเขาสนใจได้นั่นเอง |
Freepik
การลองเสื้อผ้าในร้านค้า VS การลองเสื้อผ้าเสมือนจริง
หากเปรียบเทียบระหว่างการลองเสื้อผ้าในร้านค้ากับการลองเสื้อผ้าผ่านเทคโนโลยี AR ในรูปแบบ 3 มิติ คงจะเห็นความแตกต่างกันเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง ดีไซน์ ขนาด รายละเอียด เนื้อผ้า หรือแม้กระทั่งสี ก็สามารถแตกต่างกันได้เช่นกัน แต่หากให้ผู้บริโภคเลือกกันจริง ๆ การลองจริงในร้านค้าต้องเป็นที่ถูกเลือกมากกว่าการลองผ่านเทคโนโลยี AR อย่างแน่นอน เนื่องจากผู้บริโภคไม่สามารถอธิบายคุณลักษณะที่สัมผัสได้ แต่การลองสวมใส่เสมือนจริงนั้นก็มีข้อได้เปรียบในเรื่องของรูปลักษณ์ที่ตามองเห็นอย่างรูปทรง ดีไซน์ รายละเอียด และการนำไปลองมิกซ์แอนด์แมตช์กับเสื้อผ้าหลากหลายสไตล์ ซึ่งการเข้าถึงรูปลักษณ์ของเสื้อผ้านี้เอง ได้เข้ามาเพิ่มความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการช้อปปิ้งออนไลน์ได้มากยิ่งขึ้น
แต่ทว่าทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง แม้เทคโนโลยี AR จะเป็นหนึ่งในโซลูชันที่ใช้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นและความงาม เพื่อช่วยเสริมสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งให้ดีขึ้น แต่ยังมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่เกิดความลังเลหากไม่ได้ลองหรือสัมผัสสินค้าจริง โดยผู้บริโภคประมาณ 57% กล่าวว่า พวกเขาต้องการดูและสัมผัสสินค้าก่อนซื้อ แม้ว่าเทคโนโลยี AR จะก้าวหน้าไปมากและช่วยให้มองเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ บนร่างกายว่ามีลักษณะอย่างไร แต่กลับก็ไม่ได้รู้สึกมั่นใจในความสามารถด้านการถ่ายทอดและแสดงผลของเทคโนโลยี AR เท่าที่ควร ทั้งยังกลัวว่าสิ่งที่ปรากฏบนร่างกายด้วยเทคโนโยลี AR อาจมีการเปลี่ยนแปลงและไม่เหมือนกับสินค้าของจริง
ดังนั้นหากการประยุกต์ใช้งานไม่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ย่อมทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจแก่ผู้บริโภค และอาจทำให้ผู้บริโภคหันกลับไปสู่วิถีการช้อปปิ้งแบบเดิม ๆ ก็เป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า AR จะไร้ประโยชน์สำหรับผู้บริโภคไปเสียทุกคน เพราะความได้เปรียบในเรื่องการให้ข้อมูลภาพของรูปลักษณ์เสื้อผ้าที่ดีนั้น สามารถเพิ่มทัศนคติเชิงบวกและความตั้งใจซื้อให้กับผู้บริโภคได้ ซึ่งอาจนำมาสู่ขั้นตอนการตัดสินใจซื้อที่เพิ่มขึ้นให้กับวงการอี-คอมเมิร์ชได้ด้วย
อย่างที่ทราบกัน แม้การลองสวมเสื้อผ้าจริงจะมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจซื้อมากกว่าการลองสวมใส่เสมือนจริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยี AR ได้เข้ามาช่วยสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งมากกว่าการมาแทนที่ ทั้งยังเป็นโซลูชันหนึ่งที่คอยซัพพอร์ตเหล่าผู้บริโภคที่หากขาดไปก็คงน่าเสียดาย โดยเฉพาะในยุคที่การช้อปปิ้งออนไลน์กำลังมาแรงในขณะนี้
Freepik
ส่องแบรนด์ดังที่ใช้ AR แล้วปังสุด ๆ
ด้วยกระแสความนิยมของเทคโนโลยี AR หลายแบรนด์ดังทั่วโลกจึงต่างนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เป็นหนึ่งในแคมเปญการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายและมอบประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบใหม่ให้กับผู้บริโภค ลองชวนมาดูตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AR ของแต่ละแบรนด์กัน
ในปี 2022 Kohl เครือห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกับ Snapchat เพื่อเปิดตัวฟีเจอร์ AR Virtual Closet ที่ให้ผู้บริโภคสามารถเข้าไปในห้องแต่งตัวเสมือนจริง ลองสวมเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายต่าง ๆ จับคู่มิกซ์แอนด์แมทช์เพื่อสร้างการผสมผสานที่ทันสมัยถูกอกถูกใจผู้บริโภค นำมาสู่การซื้อสินค้าภายในแอปพลิเคชันได้ นอกจากนี้มีอีกหลายแบรนด์ดังที่ได้ใช้เทคโนโลยี AR ผ่านแอปพลิเคชัน Snapchat อย่างเช่นแบรนด์ Gucci ที่ได้สร้างฟีเจอร์ AR สำหรับการ Try-on ที่ผู้บริโภคสามารถลองสวมรองเท้าจากคอลเล็กชันล่าสุดของแบรนด์ได้ด้วยเทคโนโลยี AR ที่จะซ้อนทับเมื่อหันกล้องไปที่บริเวณเท้าของผู้บริโภค แถมยังสามารถเลือกช้อปปิ้งอย่างสะดวกได้บน Snapchat ที่มีการเชื่อมตลาดอี-คอมเมิร์ชของแบรนด์ไว้อีกด้วย
ส่วน Zalando ผู้ค้าปลีกแฟชั่นออนไลน์ชั้นนำในเยอรมนีก็ได้เปิดตัวแคมเปญการแต่งตัวเสมือนจริงใหม่ โดยให้ Try On บน Snapchat เช่นเดียวกัน เพียงถ่ายภาพเต็มตัวและอัปโหลดลงในแอปพลิเคชัน จากนั้นทำการเลือกเสื้อผ้าจากตัวเลือกที่มีอยู่ เทคโนโลยี AR จะผสานการทำงานและแสดงภาพการสวมใส่เสมือนจริงขึ้นมาให้เห็นได้อย่างสมจริง
ร้านเครื่องสำอางระดับโลกอย่าง Sephora ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่มีการนำเทคโนโลยี AR มาประยุกต์ใช้ เพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภคทั้งการช้อปปิ้งหน้าร้านค้าและการช้อปปิ้งออนไลน์ โดย Sephora ได้สร้างกระจก AR ภายในร้านค้าที่ช่วยให้ผู้บริโภคได้ลองแต่งหน้า เลือกเฉดสีที่เหมาะกับตนเองได้โดยไม่ต้องแต่งแต้มลงบนผิวโดยตรง ทั้งยังสร้างฟีเจอร์ Virtual Artist ไว้ในแอปพลิเคชัน เพื่อลดปัญหาการทดลองใช้งานที่ผู้บริโภคจำนวนมากต้องเผชิญขณะซื้อเครื่องสำอางออนไลน์
อย่างไรก็ดี มีการยกระดับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AR ไปอีกขั้นกับการแสดงแฟชั่นโชว์เสมือนจริง ตัวอย่างเช่น แบรนด์ Burberry ที่ได้ใช้เทคโนโลยี AR จัดแสดงงานแฟชั่นโชว์เสมือนจริง โดยให้ผู้เข้าชมสามารถเห็นสินค้าได้แบบ 3 มิติ และซื้อสินค้าที่ชอบได้ทันทีหลังจบการแสดงอีกด้วย นอกจากนี้ Burberry ยังได้ร่วมมือกับ Google Search เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การช้อปปิ้งผ่านการค้นหาสินค้า ให้ผู้บริโภคสามารถค้นหาสินค้าและดูตัวอย่างสินค้าในรูปแบบ 3 มิติบนพื้นหลังใด ๆ ในโลกความเป็นจริงก็ได้
ข้างต้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AR ของแบรนด์ต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เทคโนโลยี AR นั้นไม่เพียงมอบประสบการณ์การซื้อขายที่ดีระหว่างผู้บริโภคและแบรนด์ เพราะแม้แต่ดีไซเนอร์ก็ยังสามารถใช้เทคโนโลยี AR เพื่อแสดงผลงานการออกแบบให้ผู้คนได้ชมและอัพเดตเทรนด์แฟชั่นใหม่ ๆ ได้โดยทั่วกันไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยี AR ได้เชื่อมโลกความเป็นจริงกับโลกเสมือนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้อุตสาหกรรมแฟชั่นและความงามได้เติบโตและปรับตัวไปสู่ประสบการณ์ช้อปปิ้งรูปแบบใหม่ที่ดึงดูดใจและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคได้อยู่หมัด ทั้งยังเป็นโซลูชันหนึ่งที่ซัพพอร์ตให้การช้อปปิ้งมีความสะดวกสบายและซื้อขายง่ายมากยิ่งขึ้น การตามทันเทคโนโลยี AR จึงถือเป็นสิ่งสำคัญในการก้าวไปข้างหน้า ที่ไม่เพียงเป็นเรื่องของการแข่งขันทางการตลาดเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นทางเลือกในการอยู่รอดในอุตสาหกรรมแฟชั่นและความงามที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็คือหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่คอยขับเคลื่อนทิศทางความก้าวหน้านี้นั่นเอง
ที่มา : บทความ “Augmented Reality in Retail: How Retailers are Using AR for Better Shopping Experiences” โดย Randy Ginsburg
บทความ “How to Try on One Hundred Outfits in Under Three Minutes” โดย Zeekit
บทความ “What Are Virtual Fitting Rooms and How Do They Work? (2023)” โดย Elise Dopson
บทความ “Top Examples of Augmented Reality in Fashion Retail” โดย Jinder Kang
บทความ “Augmented reality and fashion: The perfect fit?” โดย 3DLOOK
บทความ “AR in Fashion. Key Benefits and Real Use Cases” โดย nglogic
บทความ “Virtual Fitting Room Development Using AR & AI Technologies” โดย Maksym Maiboroda
บทความ “How Augmented Reality (AR) is restyling fashion” โดย Paula Ferrai
บทความ “Augmented Reality in Fashion: Why Is It a Must for Retailers” โดย indestry
บทความ “Augmented Reality: The Latest Trend In The Fashion Industry” โดย Pooja Bhageria
บทความ “AR fashion: How AR is revolutionizing the fashion industry” โดย ienhance
บทความ “How Will AR and VR Impact the Fashion Industry?” โดย browzwear
บทความ “Augmented Reality in Fashion” โดย Patrick Johnson
บทความ “เทคโนโลยี AR จะพาเราไปได้ไกลแค่ไหนในโลกแฟชั่น?” โดย ELLEMENDEV
เรื่อง : ณัฐธิดา คำทำนอง