เปิดแฟ้ม 6 คดีลิขสิทธิ์ดังที่สะเทือนไปทั้งวงการสร้างสรรค์
Technology & Innovation

เปิดแฟ้ม 6 คดีลิขสิทธิ์ดังที่สะเทือนไปทั้งวงการสร้างสรรค์

  • 20 Nov 2023
  • 7209

เมื่อโลกบังคับให้เราง่าย งานสร้างสรรค์ในยุค AI จึงเนรมิตได้ภายในคำสั่งเดียว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดังกล่าว ช่วยให้ผู้คนสามารถสร้างและแบ่งปันเนื้อหาระหว่างกันได้เอง (User-generated content: UGC) มากขึ้นก็จริง แต่ก็ตามมาด้วยผลกระทบเชิงลบ นั่นคือ อาจทำให้เกิดการคัดลอกและเผยแพร่เนื้อหาอันมีลิขสิทธิ์ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย ยากต่อการติดตามแหล่งที่มาของเนื้อหา และนำไปสู่การละเมิดสิทธิในงานสร้างสรรค์ที่ง่ายขึ้น โดยข้อมูลจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) มีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั่วโลกไว้ว่าได้สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐ 

การเข้าใจความแตกต่างของทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจาก IP แต่ละประเภทมีรูปแบบการคุ้มครอง ระยะเวลา การบังคับใช้ และวิธีการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน ในวงการสร้างสรรค์ IP ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับหมวดของลิขสิทธิ์ (Copyright) เป็นหลัก ซึ่งพบการละเมิดได้ง่ายมาก ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ปัญหานี้สร้างความเจ็บปวดให้กับศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานมาแล้วมากมาย 

บทความนี้จึงขอหยิบยกกรณีศึกษาการฟ้องร้องจริงที่เกิดขึ้นในวงการสร้างสรรค์ เพื่อสะท้อนถึงการตีความและการใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัล ซึ่งการพิจารณาความผิดถูกมีความซับซ้อนมากขึ้น การศึกษาจากเคสที่เกิดขึ้นจริงจาก 6 คดีดัง ละเมิดลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ในกลุ่มเพลง ซีรีย์ ภาพยนตร์ และแฟชั่นเหล่านี้ จะช่วยให้เห็นภาพที่ชัดเจน นำไปสู่การรับมือกับสถานการณ์ละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

1) Dua Lipa "Levitating" vs The band Artikal Sound System "Live Your Life"
ปี 2022 วงการดนตรีได้เห็นคดีละเมิดลิขสิทธิ์ที่น่าสนใจระหว่างวงดนตรี Artikal Sound System กับศิลปินดาวเด่นอย่าง Dua Lipa โดย Artikal ยื่นฟ้องว่าเพลง Levitating ของ Dua Lipa ละเมิดลิขสิทธิ์เพลงชื่อ Live Your Life ของพวกเขา ที่ปล่อยสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2017 ประเด็นน่าสนใจอยู่ที่ความคล้ายคลึงของทำนอง โดย Artikal อ้างว่า Dua Lipa อาจเข้าถึงเพลงดังกล่าว และมีโอกาสลอกเลียนแบบงานของพวกเขาได้ เพราะเพลงนี้เคยอยู่บน YouTube และ Spotify มาก่อน แต่จุดเปลี่ยนของคดีเกิดขึ้นเมื่อผู้พิพากษาตัดสินว่าไม่มีหลักฐานมากพอที่จะพิสูจน์การเข้าถึงเพลงดังกล่าว จากทีมงานของ Dua Lipa ผลของการพิจารณาคดี ท้ายที่สุดศาลตัดสินให้ Dua Lipa และ Warner Records ชนะคดี โดยตัดสินว่าความคล้ายคลึงกันที่พบไม่เพียงพอที่จะถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ 

คดีนี้ไม่เพียงแค่สำคัญในวงการเพลงเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวอย่างของความท้าทายที่ศิลปินยุคดิจิทัลต้องเผชิญในการสร้างผลงานใหม่ ๆ โดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ใคร ทั้งนี้ยังแสดงถึงความซับซ้อนในการตัดสินคดี ที่ต้องพิจารณาทั้งความเหมือนคล้ายและความเป็นไปได้ของการละเมิด ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินคดีอื่น ๆ ในอนาคต 

2) "Stranger Things" vs "Montauk"
เราอาจถูกฟ้องว่าละเมิดงานคนอื่นจากการสนทนาบนโต๊ะอาหารหรืองานปาร์ตี้สักงานก็เป็นได้ 

กรณีนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างผู้กำกับหนังสั้นเรื่อง Montauk (2011) และผู้สร้างซีรีส์ดังอย่าง Stranger Things (2016) โดย Charlie Kessler ผู้กำกับหนังสั้น Montauk ได้ยื่นฟ้อง Matt และ Ross Duffer ผู้สร้าง Stranger Things กล่าวหาว่าพวกเขาได้ลอกเลียนแนวคิดผลงานของ Kessler ซึ่งได้สร้างเป็นทีเซอร์ไว้แล้ว ความคล้ายคลึงของสองชิ้นงานนี้อยู่ที่การเล่าเรื่องราวเหตุการณ์อาถรรพ์ที่เกี่ยวกับเด็กนักเรียนในยุค 1980 ที่ต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติ

คดีนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการมีข้อตกลงที่ชัดเจนระหว่างผู้สร้างสรรค์ คู่เจรจา หรือผู้ร่วมทุน พร้อมทั้งความท้าทายในการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของความคิดแรกเริ่ม ซึ่งยากที่จะพิสูจน์ว่าแนวคิดใดเป็นต้นฉบับ คดีนี้จบลงด้วยการตกลงนอกศาลในปี 2019 โดยไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนสำคัญในการแชร์ไอเดียแบบไม่เป็นทางการ หรือข้อตกลงทางวาจา ที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงทางกฎหมายและการสูญเสียสิทธิในไอเดียนั้น ๆ ได้

3) "The Shape of Water" vs "Let Me Hear You Whisper"
The Shape of Water (2017) หนังรักฉีกขนบของผู้กำกับชื่อดังอย่าง Guillermo del Toro ไม่เพียงแต่สร้างความประทับใจในวงการภาพยนตร์ด้วยเรื่องราวและงานอารมณ์ที่ลึกซึ้ง แต่ยังกลายเป็นหัวข้อของการถกเถียงด้านลิขสิทธิ์ โดยผู้กำกับ Guillermo del Toro ได้ถูกฟ้องร้องจากผู้จัดการทรัพย์สินของนักเขียนบทละคร Paul Zindel ผู้ล่วงลับ ซึ่งอ้างว่า del Toro ลอกเลียนเนื้อหามาจากละครเรื่อง Let Me Hear You Whisper (1969) ของ Zindel ซึ่งทั้งสองเรื่องมีแกนเล่าเรื่องที่คล้ายคลึงกัน บอกเล่าเรื่องราวของหญิงทำความสะอาดในห้องแล็บและมีความสัมพันธ์กับสัตว์น้ำที่ถูกกักขัง 

อย่างไรก็ตาม del Toro ยืนยันว่าเขาสร้างภาพยนตร์นี้โดยอิสระ และไม่ได้ใช้งานของ Zindel เป็นแรงบันดาลใจ คดีนี้สะท้อนถึงความท้าทายในการแยกแยะระหว่างการแสดงความเคารพต่องานสร้างสรรค์ชั้นครูและการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะกับธีมและแนวคิดที่เป็นนามธรรม การตัดสินคดีของศาลในท้ายที่สุด ยกให้ The Shape of Water ไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของ Zindel กรณีนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจขอบเขตการคุ้มครองลิขสิทธิ์ และความจำเป็นในการรักษาความสมดุลระหว่างแรงบันดาลใจและการผลิตเนื้อหาต้นฉบับ 

4) "Enola Holmes" vs “The Conan Doyle Estate”
การปรากฏตัวของสมาชิกคนอื่น ๆ ในตระกูล Holmes บนนวนิยายและภาพยนตร์ ถูกเล่าเรื่องผ่านน้องสาวของ Sherlock Holmes ได้สร้างความสนใจให้แฟนดอมของนวนิยายเรื่องนี้อย่างมาก แต่เคสนี้ได้ถูกพูดถึงอีกครั้งเนื่องจากผู้จัดการทรัพย์สินของ Sir Arthur Conan Doyle ผู้ประพันธ์นิยาย Sherlock Holmes ได้ยื่นฟ้อง Netflix และ Legendary Pictures โดยอ้างว่าเนื้อเรื่องของ Enola Holmes (2020) ละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากนำเสนอ Sherlock Holmes ในรูปแบบที่แตกต่าง มีความอบอุ่นและเข้าถึงอารมณ์มากขึ้น ผู้จัดการทรัพย์สินของ Doyle เสนอต่อศาลว่า เนื้อเรื่องที่ Netflix สร้างและกำหนดให้ Holmes มีภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากผลงานต้นฉบับ โดยถูกปรับให้แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจในมนุษย์ที่ลึกซึ้งขึ้น

เหมือนเช่นเคย คดีนี้จบลงได้ด้วยการตกลงกันนอกศาลและไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด การตัดสินในคดีนี้เป็นตัวอย่างในเรื่องการจัดการกับลิขสิทธิ์ของตัวละครในบทประพันธ์ที่มีประวัติซับซ้อน และการดัดแปลงตัวละครคลาสสิกในบริบทใหม่ กรณี Enola Holmes ยังชี้ให้เห็นว่าลักษณะของตัวละครก็สามารถเป็นประเด็นข้อพิพาทได้เช่นเดียวกัน

5) “Navajo Nation” vs “Urban Outfitters”
สัญลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ อาจไม่ใช่สิ่งที่ใครจะหยิบไปสร้างสรรค์งานได้โดยง่าย สิ่งบังตานี้ทำให้นักสร้างสรรค์หลายคนมองข้ามจนเลยเถิดสู่การฟ้องร้องจากชุมชน ดังเช่นคดีระหว่างชาวพื้นเมืองนาวาโฮกับแบรนด์ดังอย่าง Urban Outfitters ที่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการปกป้องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาและการแสดงออกทางวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองในยุคสมัยใหม่ โดยในกรณีนี้ Urban Outfitters ได้ใช้ชื่อ "Navajo" และลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์นี้ ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กางเกงชั้นในและลวดลายบนขวดใส่เหล้า โดยไม่มีการขออนุญาตจากชาวพื้นเมืองนาวาโฮก่อน การกระทำนี้ถูกมองว่าไม่เคารพความสำคัญทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของชนพื้นเมือง

ชาวนาวาโฮจึงได้เดินเรื่องฟ้องร้อง Urban Outfitters โดยอ้างการละเมิดเครื่องหมายการค้าและพระราชบัญญัติศิลปะและหัตถกรรมของชาวอินเดียน (The Indian Arts and Crafts Act of 1990) ผลลัพธ์หลังจากการฟ้องร้องที่ยาวนาน ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน พร้อมจัดทำเป็นข้อตกลงและใบอนุญาต ซึ่งระบุว่า Navajo และ Urban Outfitters จะร่วมมือกันในการผลิตสินค้าที่ใช้แรงบันดาลใจจากชนพื้นเมืองอเมริกัน

กรณีนี้จึงถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการปกป้องการแสดงออกทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง และยังสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความอ่อนไหวทางวัฒนธรรมและการจัดสรรสิทธิ์ให้กับชนพื้นเมือง เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจให้ธุรกิจต่าง ๆ ตระหนักถึงผลกระทบทางกฎหมายเมื่อจะนำสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมเหล่านี้มาใช้ในผลิตภัณฑ์ของตน

6) “Maasai Intellectual Property Initiative” vs “Super Brands”
ในยุคที่โลกไร้พรมแดน ไม่ใช่เพียงการสื่อสารข้ามทวีปที่ทำได้ง่าย แต่ยังรวมถึงการฟ้องร้องด้วย กรณีของชาวมาไซกับซูเปอร์แบรนด์อย่าง Louis Vuitton, Calvin Klein, และ Ralph Lauren เป็นตัวอย่างให้เห็นได้อย่างดี ลวดลายและงานลูกปัดที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวมาไซ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก ถูกนำไปใช้ประดับเสื้อผ้าและ แอ็กเซสซอรีโดยไม่ได้รับการยินยอม 

Maasai Intellectual Property Initiative (MIPI) ได้ทำงานเพื่อปกป้องและยืนยันสิทธิ์ในการออกแบบและใช้สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพวกเขา แต่กรณีนี้ได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับการขออนุญาตใช้ และการชดเชยความเสียหายทางวัฒนธรรมให้กับชนพื้นเมือง 

“เกือบ 80% ของประชากรมาไซในเคนยาและแทนซาเนียมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน” ความไม่เท่าเทียมนี้ถูกเรียกร้องให้แบรนด์แฟชั่น หันมาใส่ใจเรื่องการจ่ายค่าธรรมเนียมสำหรับแรงบันดาลใจที่ได้จากชนพื้นเมือง เช่นเดียวกับเมื่อแบรนด์แฟชั่นเหล่านี้ได้รับค่าเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์เมื่อฟ้องร้องบริษัทอื่น

เราเรียนรู้อะไรจากคดีต่าง ๆ
การพิสูจน์ว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ในคดีต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพิถีพิถันและต้องมีหลักฐานที่เหนียวแน่น อย่างไรก็ตาม เนื้อหาดิจิทัลอาจมีความซับซ้อนและองค์ประกอบมากมาย ในกรณีนี้ อาจเป็นเรื่องยากที่จะระบุว่าส่วนใดของเนื้อหามีลิขสิทธิ์ นักสร้างสรรค์จำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าตัวเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่เคยคัดลอกผลงานของคนอื่นมาก่อน โดยต้องเตรียมหลักฐานเพื่อสนับสนุนความเป็นเจ้าของ อาทิ หลักฐานการบันทึกเวลาผลงาน (Timestamp) ใบรับรองการจดแจ้งลิขสิทธิ์ หลักฐานกระบวนการสร้างสรรค์ เช่น แบบร่างที่ทำการบันทึกตั้งแต่เริ่มต้นสร้างชิ้นงาน หรือแม้กระทั่งคำให้การจากพยานที่เห็นการผลิตงานนี้

แผนเดินหน้าเพื่อพัฒนากฎหมายลิขสิทธิ์ในวงการสร้างสรรค์ไทย อาทิ

  • อัปเดตกฎหมายให้ทันสมัย สอดคล้องกับยุคดิจิทัลและมาตรฐานสากล
  • นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์ที่รวดเร็วและแม่นยำ เช่น การใช้ซอฟต์แวร์สแกน หรือบล็อกเชน
  • เพิ่มการให้ความรู้เรื่องลิขสิทธิ์แก่ประชาชน เพื่อส่งเสริมการป้องกันและการใช้ประโยชน์จากลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
  • ส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ และการใช้ประโยชน์จากลิขสิทธิ์เพื่อการสร้างรายได้

ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้ไทยมีระบบการจัดการลิขสิทธิ์ที่แข็งแกร่งและทันสมัย สามารถรับมือกับความท้าทายในอนาคตได้เป็นอย่างดี และส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพ โดยหาสมดุลระหว่างการปกป้องผลงานกับเสรีภาพในการแสดงออกของผู้สร้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่คนในวงการสร้างสรรค์ต้องร่วมกันตัดสินใจ

รู้จัก CAP (Creative Asset Platform) เครื่องมือช่วยคนสร้างสรรค์พิทักษ์สิทธิ์ 
CAP หรือ Creative Asset Platform คือแพลตฟอร์มช่วยบริหารจัดการงานสร้างสรรค์ เพื่อรักษาสิทธิ์ความเป็นเจ้าของผลงานด้วยการประทับเวลา (Timestamp) ให้กับผลงานของคุณ พร้อมออกใบรับรอง (Certificate) กำกับชิ้นงาน ผ่านเทคโนโลยี บล็อกเชนซึ่งมีความโปร่งใสและแก้ไขไม่ได้ ช่วยยืนยันสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ของคุณและง่ายต่อการตรวจสอบถึงที่มา 

ประโยชน์ที่สำคัญอีกหนึ่งเรื่องคือ CAP จะช่วยให้นักสร้างสรรค์บันทึกหลักฐานกระบวนการสร้างสรรค์งานได้ตั้งแต่เริ่มต้นไอเดีย เช่น ขั้นตอนการร่างแบบหรือผลิตต้นฉบับงาน แม้จะเป็นการวาดหรือเขียนด้วยลายมือ ก็สามารถทำ Timestamp ได้ เพียงถ่ายรูปพร้อมอัปโหลดเข้า CAP เพื่อบันทึกหลักฐาน ก็ช่วยยืนยันสิทธิ์ในงานแต่ละขั้นตอนได้แบบไม่จำกัด สิ่งนี้สำคัญเมื่อเกิดกรณีฟ้องร้อง เพราะสามารถนำ Certificate และภาพหรือไฟล์งานในแต่ละขั้นตอนไปแสดงต่อศาล เพราะหลักการพิจารณาคดีของศาลที่สำคัญประการหนึ่ง จะดูที่กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงานนั้น ๆ ด้วย 

นักสร้างสรรค์ที่สนใจพิทักษ์สิทธิ์งานสร้างสรรค์ของตัวเอง สามารถเข้าใช้งาน CAP ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ https://cap.cea.or.th/ เพียง 4 Step ง่าย ๆ คือ 

  1. สมัครเข้าใช้และยืนยันตัวตน
  2. อัปโหลดไฟล์ผลงานสร้างสรรค์ (รองรับงานสร้างสรรค์ 18 ประเภท 16 สกุลไฟล์ ทั้งที่เป็นภาพ เอกสาร หรือวิดีโอ) 
  3. บันทึกเวลา (Timestamp) และบริหารจัดการงานสร้างสรรค์ของคุณผ่าน Dashboard 
  4. ดาวน์โหลด Certificate ไปใช้ยืนยันสิทธิ์ของคุณได้ทันที

ที่มา : บทความ "'Levitating' Vs 'Live Your Life': Dua Lipa wins copyright infringement lawsuit" โดย Onmanorama Staff
บทความ "‘Stranger Things’ Creators Accused of Plagiarizing From ‘Montauk’ Short Film" โดย Gene Maddaus
บทความ "The Shape Of Water/Let Me Hear You Whisper Lawsuit Explained" โดย Padraig Cotter
บทความ "Lawsuit over 'warmer' Sherlock depicted in Enola Holmes dismissed" โดย Alison Flood
บทความ "Urban Outfitters settles with Navajo Nation after illegally using tribe's name" โดย Nicky Woolf
บทความ "Maasai people of East Africa fighting against cultural appropriation by luxury fashion labels" โดย Sarah Young

เรื่อง : อินทรพิทักษ์ เจริญรัตน์