จากพลุถึง AR: เทคโนโลยีแสงสีแห่งการเฉลิมฉลอง
ท่ามกลางท้องฟ้ายามค่ำคืนอันมืดมิด ทันใดนั้นก็เกิดเสียงดังกึงก้องขึ้นพร้อมกับการระเบิดตัวของพลุหลากสีสันหลายรูปทรง ดึงดูดทุกสายตาให้หันไปจับจ้องและร่วมชื่นชมยินดีไปกับวินาทีสำคัญแห่งการเฉลิมฉลอง ด้วยแสงสีเสียงที่น่าตื่นตาตื่นใจ ทำให้ “พลุ” หรือ “ดอกไม้ไฟ” กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในงานเฉลิมฉลองของผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมมานานหลายร้อยปี และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน ยังทำให้พลุมีการพัฒนาทั้งสีสันและรูปแบบที่มีความซับซ้อนสวยงามมากยิ่งขึ้น
แม้ว่าการใช้พลุจะสร้างความสวยงามและความยิ่งใหญ่ตระการตาให้กับงานเฉลิมฉลอง แต่การใช้พลุในแต่ละครั้งก็ส่งผลกระทบตามมาหลายด้าน นอกจากผลกระทบที่ชัดเจนอย่าง “เสียง” ที่อาจดังจนส่งผลรบกวนต่อคนและสัตว์เลี้ยงแล้ว “สารเคมี” จากพลุยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชั้นบรรยากาศ ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยีใหม่ ๆ จึงถูกนำมาใช้ในงานเฉลิมฉลองแทนที่พลุ ไม่ว่าจะเป็นเลเซอร์ โดรน ไปจนถึงเทคโนโลยีความจริงเสริมหรือ Augmented Reality (AR) เพื่อลดกระทบจากการใช้พลุ
Designecologist / Pexels
Engin Akyurt / Pexels
พลุในอารยธรรมโลก
อย่างที่ทราบกันดีว่า จีนเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีสุดล้ำในโลกยุคโบราณ พลุก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นในราวศตวรรษที่ 9 โดยชาวจีนถือเป็นชาติแรกที่รู้จักการนำกำมะถัน ถ่าน และโพแทสเซียมไนเตรต มาผสมผสานกัน กระทั่งได้เป็น “ดินปืน” ที่มีคุณสมบัติติดไฟง่ายเมื่อสัมผัสประกายไฟ และสามารถระเบิดได้หากมีการอัดแน่นสูง กลายเป็นต้นกำเนิดของพลุที่เริ่มมีการใช้งานแพร่หลายในงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ในช่วงปลายราชวงศ์ถังต่อราชวงศ์ซ่งของจีน
จากต้นกำเนิดในจีน พลุได้แพร่กระจายไปตามเส้นทางการค้าพร้อมกับการแพร่หลายของดินปืน ที่ใช้ในวัตถุประสงค์ทางด้านการทหาร ส่งผลให้พลุเป็นที่รู้จักและกระจายตัวจากโลกอาหรับสู่ยุโรปในสมัยกลาง และเริ่มมีการใช้ในงานเฉลิมฉลองสาธารณะ เทศกาลทางศาสนา รวมถึงงานเฉลิมฉลองของราชวงศ์ แต่ในระยะแรก พลุยังคงไม่ได้รับการพัฒนาให้มีสีสันหรือรูปทรงที่หลากหลาย แต่ยังคงมีเพียงสีเหลืองและสีส้มอันเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม
กระทั่งต่อมา นักประดิษฐ์ชาวอิตาเลียนได้เริ่มพัฒนาพลุให้มีสีสันหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยการเติมสารประกอบโลหะต่าง ๆ ลงไปในการออกแบบและผลิตพลุ เช่น อลูมิเนียม แมกนีเซียม และแบเรียม ทำให้ได้พลุที่มีแสงสีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำเงิน สีแดง และสีเขียว และเริ่มมีการออกแบบรูปทรงของประกายไฟที่แตกต่างกันด้วยเทคนิคทางเคมี กลายเป็นรากฐานของการแสดงพลุที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง
ในปัจจุบันพลุมีการพัฒนาไปอย่างมาก ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้สามารถออกแบบพลุได้แทบจะทุกเฉดสีและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการออกแบบการเรียงตัวของประกายไฟให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ ตั้งแต่เรขาคณิตไปจนถึงภาพและตัวอักษร นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาพลุให้สามารถควบคุมได้ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้การแสดงพลุมีความแม่นยำและสามารถสอดประสานกับการแสดงอื่น ๆ ในงานเฉลิมฉลองได้เป็นอย่างดี
Belle Co / Pexels
ผลกระทบจากพลุ
แม้ว่าการใช้พลุจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมการเฉลิมฉลองมาอย่างยาวนาน แต่ผลกระทบจากการใช้พลุก็เริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางเสียงที่เป็นปัญหาไม่เพียงแต่มนุษย์และสัตว์เลี้ยง แต่ยังรวมถึงสัตว์ป่า เนื่องจากเสียงของพลุมีความดังได้ถึง 120-170 เดซิเบล ซึ่งดังกว่าเครื่องขุดเจาะหรือเครื่องบินเจ็ท และด้วยระดับความดังที่สูงเช่นนี้ จึงสามารถก่อให้เกิดความกลัวและความวิตกกังวลจนเป็นผลให้เกิดผลกระทบอื่นตามมา โดยเฉพาะเด็กและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ขณะที่การใช้พลุยามค่ำคืนยังรบกวนวิถีชีวิตของสัตว์ป่า ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียความสมดุลของระบบนิเวศโดยรวม
นอกจากนี้ การใช้พลุยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ตามรายงานของคณะกรรมาธิการความปลอดภัยผลิตภัณฑ์เพื่อผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา (CPSC) ระบุว่า ในปี 2022 มีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับพลุ 11 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับพลุกว่า 10,200 รายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกจากอุบัติเหตุทางร่างกายแล้ว พลุยังอาจเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้อาคารสถานที่ต่าง ๆ ไปจนถึงเหตุไฟป่าที่ลุกลามจากการจุดพลุ
แต่ประเด็นที่เป็นข้อกังวลอย่างมากในปัจจุบันเกี่ยวกับการใช้พลุ คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากควันจากการเผาไหม้ของพลุ ประกอบไปด้วยสารเคมีนานาชนิดที่ถูกปล่อยขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อสภาพอากาศในระยะยาว ขณะเดียวกันก็เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตจากการสูดดมสารพิษเข้าไป นอกจากนี้ สารอันตรายจากพลุยังสามารถตกค้างและก่อให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำและอาหาร ซึ่งเป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ได้อีกด้วย
ผลกระทบเหล่านี้ส่งผลให้หลายประเทศมีการออกกฎระเบียบควบคุมการใช้พลุอย่างเข้มงวด ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจก็มีความพยายามพัฒนาพลุให้มีผลกระทบน้อยลง เช่น พลุปราศจากกำมะถันและพลุไร้ควัน เพื่อลดการปล่อยมลพิษขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ หรือพลุไร้เสียง เพื่อลดผลกระทบทางเสียงที่มีต่อมนุษย์และสัตว์
Tom Fisk / Pexels
นวัตกรรมแสงสีบนฟากฟ้า
ถึงจะมีความพยายามออกแบบพลุที่มีความปลอดภัยและช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ลงได้บ้าง แต่ในปัจจุบันก็ยังคงไม่สามารถลดผลกระทบที่เกิดจากพลุได้ทั้งหมด เทคโนโลยีใหม่ ๆ จึงเริ่มถูกนำมาใช้งานมากขึ้น เพื่อสร้างสีสันบนฟากฟ้าในค่ำคืนแห่งการเฉลิมฉลอง ขณะเดียวกันก็มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์
การใช้แสง “เลเซอร์” ประกอบการแสดงแสงสีเสียงเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มีการใช้งานในการเฉลิมฉลอง และได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยคุณสมบัติที่ปลอดภัยกว่าพลุ ทั้งลดความกังวลเกี่ยวกับอุบัติเหตุและไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม อีกทั้งการแสดงด้วยแสงเลเซอร์ยังมีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างลงตัว อย่างการแสดงเลเซอร์แบบซิงโครไนซ์กับการแสดงดนตรีที่สามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจและสนุกสนานให้กับผู้เข้าร่วมงานได้ไม่แพ้การแสดงพลุ
อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่กำลังถูกนำมาใช้งานแทนที่พลุมากขึ้นคือ การใช้ “โดรน” แสดงแสงสีบนท้องฟ้า ด้วยคุณสมบัติเดียวกันกับแสงเลเซอร์ การแสดงโดรนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าและยังช่วยลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการระเบิดและการเผาไหม้ของพลุ ที่สำคัญโดรนยังมีความใกล้เคียงกับพลุอย่างมากจากการบินขึ้นไปแสดงแสงสีอันโดดเด่นเหนือท้องฟ้า แม้ว่าจะไม่มีเสียงดังกระหึ่มและประกายไฟเหมือนพลุ แต่โดรนสามารถให้สีสันได้หลากหลายและสามารถสร้างสรรค์รูปแบบการแสดงได้มากมายและแม่นยำ ทำให้โดรนสามารถใช้แสดงร่วมกับการแสดงแสงสีเสียงอื่น ๆ ได้ ทั้งยังสามารถควบคุมทิศทางได้ครอบคลุมพื้นที่การแสดง ต่างจากพลุที่ต้องจัดพื้นที่เฉพาะเพื่อป้องกันอันตรายต่อผู้ร่วมงาน
ขณะที่เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริมหรือ Augmented Reality (AR) ก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการแสดงพลุไฟแบบเสมือนจริง โดยผู้ใช้งานสามารถไปยังจุดที่มีการกำหนดไว้ และรับชมพลุผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลส่วนบุคคล อย่างสมาร์ตโฟนหรือแว่นตาโฮโลแกรม ซึ่งผู้ใช้งานสามาถเลือกสีสันและรูปแบบของพลุได้ แน่นอนว่าพลุ AR เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยังปราศจากมลภาวะทางเสียง เพราะทุกคนสามารถรับชมแสงสีเสียงผ่านเครื่องมือส่วนตัวได้โดยไม่รบกวนบุคคลอื่น
เทคโนโลยีทางเลือกทั้งหมดนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความพยายามคิดค้นวิธีการเฉลิมฉลองที่ปราศจากผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงต้องมีการพัฒนาอีกมาก จนกว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะลงตัวและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย แม้แต่การใช้พลุเองก็จำเป็นต้องมีการพัฒนากันต่อไปเพื่อให้สามารถออกแบบพลุที่มีผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อที่สุดท้ายแล้วค่ำคืนแห่งการเฉลิมฉลองจะได้เป็นของทุกคนอย่างแท้จริง
George Dagerotip / Unsplash
ที่มา : ข้อมูล “Fireworks” จาก www.cpsc.gov
บทความ “The History of Fireworks” โดย Universal Light
บทความ “Science of Fireworks: Illuminating the Sky Through Ages” จาก www.miragenews.com
บทความ “How to Block Fireworks Noise for Adults, Kids, and Pets” โดย Rose Maura Lorre
บทความ “Low-Noise Fireworks - NOT No-Noise Fireworks!” จาก www.illusionfireworks.com
บทความ “A new way to light up the sky” โดย Polina Saran และ Laura Miller
บทความ “From Drones to Augmented Reality: Exciting New Tech Trends for July 4th” โดย Kevin Clemens
บทความ “Fireworks: Cities Are Replacing a Longtime Tradition With Tech” โดย Julia Edinger
เรื่อง : ธีรพล บัวกระโทก