พาไปดู “ป้ายรถประจำทาง” ทั่วโลก ที่เป็นมากกว่าแค่จุดจอดรถเมล์
Technology & Innovation

พาไปดู “ป้ายรถประจำทาง” ทั่วโลก ที่เป็นมากกว่าแค่จุดจอดรถเมล์

  • 09 Jan 2024
  • 2384

สำหรับใครหลายคน ป้ายรถเมล์คือจุดเริ่มต้นสำหรับการเดินทางในระบบขนส่งมวลชนทุกวัน และยังเป็นที่พักพิงสำคัญสำหรับการรอคอยที่แสนยาวนานอีกด้วย การมีป้ายรถเมล์ดี ๆ คือหนึ่งในความอุ่นใจของผู้ใช้บริการที่จะช่วยให้รู้สึกปลอดภัย และยังส่งเสริมให้คนหันมาเลือกใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้นด้วย 

ผลการศึกษาในปี 2014 ชี้ให้เห็นว่า ป้ายรถเมล์ที่มีหลังคาจะช่วยทำให้รู้สึกว่าเวลาของการรอคอยสั้นลง ขณะที่การใส่ใจในรายละเอียดอื่น ๆ เช่น ม้านั่งและดีไซน์ ก็สามารถทำให้รถเมล์เหมือนมาเร็วขึ้น แม้ว่าเวลาการมาถึงของรถเมล์จริง ๆ จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป

ทว่าด้วยปัจจัยหลายอย่างก็อาจทำให้ป้ายรถเมล์ดี ๆ ไม่ได้หากันได้ง่าย ๆ เลย ป้ายจำนวนมหาศาลทั่วโลกมีลักษณะเป็นเพียงเสาหนึ่งต้นที่แปะป้ายไว้ให้รู้ว่ารถต้องหยุดที่นี่ ขาดทั้งฟังก์ชันในการปกป้องผู้ใช้บริการจากแดดลมฝน รวมถึงอันตรายจากท้องถนน และมิติของความสุนทรีย์ที่ช่างแห้งเหี่ยวเหลือเกิน 

เมื่อ “รถเมล์” คือหนึ่งในรากฐานของระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญ “ป้ายรถเมล์” จึงมีความสำคัญไม่แพ้ใคร และสมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการปรับปรุงและดูแลอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งไปกว่านั้นการสร้างป้ายรถเมล์ด้วยแนวคิดอื่น ๆ ประกอบกับความมีสุนทรียะ ก็อาจยิ่งทำให้สถานที่เล็ก ๆ นี้เป็นได้มากกว่าที่พักพิงเพื่อรอรถ และมีประโยชน์ในมิติอื่น ๆ ที่หลากหลายออกไป

01 เปลี่ยนป้ายให้กลายเป็น... พื้นที่โฆษณา
Out-of-home (OOH) advertising หรือสื่อโฆษณานอกบ้าน คือหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสร้างการรับรู้ที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ และโฆษณาที่ป้ายรถเมล์ก็นับเป็นหนึ่งในสื่อโฆษณานอกบ้านที่ได้รับความนิยมสูง ทั้งยังมีการพัฒนาจากเดิมที่เป็นเพียงป้ายกระดาษคลาสสิกให้มีรูปแบบดิจิทัล ไปจนถึงรูปแบบอินเทอร์แอ็กทีฟตามการเปลี่ยนแปลงของป้ายที่ไฮเทคขึ้น 

การโฆษณาตามป้ายรถเมล์นั้นมีข้อดีหลายประการ หนึ่งคือเรื่องของค่าเช่าที่ราคาดีและคุ้มค่าเมื่อเทียบกับแคมเปญโฆษณาอื่น ๆ ทำให้แม้แต่ร้านค้าหรือองค์กรในท้องถิ่นก็สามารถเช่าพื้นที่เพื่อโฆษณาแบรนด์ของตัวเองได้ ขณะที่ห้างร้านใหญ่ ๆ ก็สามารถเช่าป้ายรถเมล์ในพื้นที่กว้างขึ้นเพื่อทำแคมเปญได้เช่นกัน โดยโฆษณาเหล่านี้จะติดประกาศอยู่ที่ป้ายตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด ทำให้ทุกคนที่สัญจรผ่านไปมา เห็นได้ชัดเจนไม่ว่าจะเวลาไหนอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

อีกความพิเศษของโฆษณาที่ป้ายรถเมล์คือความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มคนได้อย่างกว้างขวางจากอัตราคนที่เดินทางด้วยรถเมล์ รวมถึงผู้สัญจรอื่น ๆ ที่ขับรถหรือเดินผ่าน ขณะเดียวกันก็สามารถตั้งเป้าไปที่กลุ่มผู้บริโภคที่เฉพาะเจาะจงได้ ยกตัวอย่างเช่น การลงโฆษณาตรงป้ายในละแวกที่ร้านค้าของตนตั้งอยู่ ก็เป็นการเจาะจงให้ผู้คนเฉพาะในพื้นที่ให้ได้ทำความรู้จักสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น หรือถ้าป้ายโฆษณาอยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่มีการผลัดขึ้นตามเวลา การกำหนดเวลาขึ้นเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการก็อาจเป็นไปได้ เช่น ร้านฟาสต์ฟู้ดที่เข้าถึงกลุ่มคนวัยทำงานรุ่นใหม่ด้วยการขึ้นโฆษณาตอนเช้าหรือเย็นที่คนจะไปและกลับมาจากการทำงาน เพื่อพยายามเข้าถึงลูกค้าในช่วงเวลาที่พวกเขามีแนวโน้มจะมีส่วนร่วมกับแบรนด์มากที่สุด เป็นต้น

โฆษณาตามป้ายรถเมล์ยังสามารถกลายเป็นไวรัลได้ง่าย ๆ หากแบรนด์ “ทำถึง” ยกตัวอย่างเช่น โฆษณาน้ำยาเช็ดกระจก “Windex” ที่แปะพื้นหลังของป้ายรถเมล์ให้มีลักษณะเป็นฝ้าขุ่น ๆ ยกเว้นส่วนที่น้ำยาฉีดเท่านั้นที่จะเห็นภาพอีกฝั่งได้ชัดแจ๋ว หรืออย่าง “Coca-Cola” ที่ใช้โปสเตอร์ตีนตุ๊กแก (velcro poster) ติดที่ป้ายรถเมล์ในฝรั่งเศส ด้วยต้องการโปรโมตขวดแบบใหม่ที่สามารถจับได้อยู่มือมากขึ้น ทำให้เสื้อผ้าและผมของผู้โดยสารที่เผลอพิงหรือจับติดอยู่กับโปสเตอร์ จนไม่วายที่ต้องหันกลับไปมอง สัมผัส และเล่นกับโปสเตอร์นั้น เช่นเดียวกับโฆษณาแซนด์วิชมื้อเช้าร้อน ๆ ณ เมืองมินนีแอโพลิสในช่วงที่หนาวเหน็บ ที่ทำการเนรมิตป้ายรถเมล์ให้กลายเป็นเตาอบเครื่องปิ้งขนมปังที่แผ่ไอความอบอุ่น (แม้เพียงเล็กน้อย) ให้กับคนที่รอรถได้จริง ป้ายดังกล่าวนี้กลายเป็นไวรัลจนย่านอื่น ๆ ในเมือง รวมถึงเมืองรอบข้างต่างก็เรียกร้องที่จะมีป้ายแบบนี้เช่นกัน และโฆษณาเหล่านี้ก็ยังเป็นที่โด่งดังและตรึงใจของผู้คนมาจนถึงปัจจุบัน

02 เปลี่ยนป้ายให้กลายเป็น... แลนด์มาร์ก
การสร้างป้ายรถประจำทางให้สวยและมีดีไซน์ ในบางครั้งก็ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ที่นั่งรอรถรู้สึกจรรโลงใจเท่านั้น แต่กลับสร้างอิมแพ็กต์ใหญ่จนทำให้ตัวมันเองไม่ใช่แค่ทางผ่าน แต่กลายมาเป็นแลนด์มาร์กที่ทุกคนต้องแวะเวียนกันมาเยี่ยมชม ดังเช่น ป้ายรถเมล์ธีมผลไม้สิบกว่าป้ายที่ตั้งเรียงกันตลอดสองข้างทางที่โคะนะไก (Konagai) ในเมืองอิซาฮายะ (Isahaya) ณ จังหวัดนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น

เจ้าเส้นทางสายผลไม้นี้มีที่มาอย่างไร ก็ต้องย้อนกลับไปในปี 1990 เมื่อจังหวัดนางาซากิได้จัดงาน “Nagasaki Travel Expo” ขึ้น ทำให้มีการสร้างป้ายรถโดยสารเหล่านี้เพื่อต้อนรับเหล่าแขกผู้มีเกียรติที่มาเยี่ยมเยือน ด้วยแรงบันดาลใจจากรถฟักทองในนิทานซินเดอเรลล่าที่แสนโด่งดัง ป้ายรถเมล์ผลไม้ยักษ์เหล่านี้จึงได้รับความนิยม (โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมา) จากความน่ารักสีสันสดใส ท่ามกลางบรรยากาศเลียบทะเลอาริอาเกะ (Ariake Sea) ตัดกลับท้องฟ้าปลอดโปร่ง จนกลายมาเป็นแลนด์มาร์กประจำถิ่น ที่มีการบูรณะดูแลให้สวยสดใสเหมือนใหม่อยู่เสมอ แม้จะสร้างมานานกว่า 30 ปีแล้วก็ตาม

รูปทรงของป้ายรถเมล์นี้ประกอบด้วยผลไม้ 5 ชนิด ได้แก่ แตงโม สตรอว์เบอร์รี มะเขือเทศ เมลอน และส้ม ซึ่งไม่ได้สุ่มมามั่ว ๆ แต่ผลไม้เหล่านี้คือสินค้าทางการเกษตรที่สำคัญของจังหวัดนางาซากิ โดยเฉพาะสตรอว์เบอร์รีและส้มที่เป็นที่นิยมมาก ป้ายส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 207 และเราก็สามารถเยี่ยมชมป้ายแสนน่ารักเหล่านั้นได้ด้วยการนั่งรถประจำทาง ทั้งยังสามารถแวะลงตามป้ายและถ่ายรูปกับมันได้อย่างจุใจ เนื่องจากกว่ารถคันต่อไปจะมาก็ใช้เวลาสักพักหนึ่ง 

เจ้าป้ายผลไม้ยักษ์นี้ยังได้รับความนิยมขนาดที่มีของที่ระลึกเป็นแบบจำลองอันจิ๋ววางจำหน่ายเป็นของฝาก ให้ผู้มาเยี่ยมเยียนได้เก็บกลับบ้านไปด้วย นี่จึงเป็นหนึ่งในป้ายรถโดยสารสุดสร้างสรรค์ที่แม้จะสร้างมาเฉพาะกิจ แต่ในที่สุดก็ผันตัวมาเป็นของดีประจำพื้นที่ไม่ต่างกับผลไม้ที่มันเป็นภาพแทนอยู่เลย (แอบกระซิบว่าเมื่อไม่นานมานี้ มีการสร้างองุ่นยักษ์ซ่อนอยู่ที่หนึ่งในป้ายรถเมล์เหล่านี้ พร้อมให้ทุกคนได้ไปลองเสาะหากัน)

03 เปลี่ยนป้ายให้กลายเป็น...ห้องสมุด
ป้ายรถเมล์หลายแห่ง ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้มีรูปแบบคล้ายห้องสมุดชุมชนที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ เช่นเดียวกับเขต Dakshina Kannada ในรัฐกรณาฏกะ ประเทศอินเดียที่ได้ปรับปรุงป้ายรถเมล์กว่า 267 แห่งทั่วเขตให้มีมุมหนังสือสำหรับให้ทุกคนได้มาหยิบยืมอ่านได้ตามต้องการ

แต่ละสถานีในเขต Dakshina Kannada จะมีตู้ที่คนพื้นถิ่นเรียกกันว่า “Pustaka goodu” หรือ “รังหนังสือ” ที่บรรจุหนังสือเอาไว้อย่างเป็นระเบียบ โดยมีสภาเขตเป็นผู้ผลักดันริเริ่มโครงการด้วยจุดประสงค์เริ่มแรกที่อยากให้ผู้คนละสายตาจากจอโทรศัพท์ มาใช้เวลาระหว่างรอให้เกิดประโยชน์มากขึ้น 

“มันจะดีกว่ามาก ถ้าพวกเขาได้รับความรู้แทน” ดร. กุมาร (Dr.Kumar) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสภาเขต กล่าว ทั้งยังเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะของหนอนหนังสือว่า แต่เดิมเขาเองต้องเดินเท้าหลายไมล์กว่าจะได้มีโอกาสได้จับหนังสือในห้องสมุดสักเล่ม ดังนี้ เมื่อถึงวันที่เขาได้อยู่ในจุดที่มีอำนาจตัดสินใจแล้ว เขาจึงได้เริ่มหาทางที่จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงหนังสือได้ง่ายมากขึ้น 

โครงการดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ปี 2021 และมีการพัฒนาเรื่อยมาจนสามารถขยายป้ายรถเมล์ที่มีรังหนังสือจากเริ่มแรกที่มีเพียงแค่ 17 ป้าย ให้กลายเป็น 267 แห่งภายในหนึ่งปีครึ่ง พร้อมด้วยหนังสือกว่า 45,000 เล่มที่ส่วนใหญ่มาจากการบริจาคโดยบุคคลทั่วไป และอีกส่วนก็มาจากการสนับสนุนของห้องสมุดและธุรกิจในท้องถิ่น ทั้งยังมีสมาคมเยาวชนในพื้นที่ที่เข้ามาช่วยเหลือเรื่องการดูแลและเก็บรักษาหนังสือเหล่านั้น

ผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาในป้ายรถเมล์ สามารถเลือกหนังสือมาเป็นเพื่อนคลายเหงาระหว่างรอได้ตามชอบใจ โดยหนังสือในตู้หนังสือตามสถานีนั้นจะเป็นภาษาอังกฤษและกันนาดา ครอบคลุมตัวเนื้อหาหลากหลาย และถ้าหากติดใจจนวางไม่ลง ก็สามารถนำหนังสือเหล่านั้นติดมือขึ้นไปอ่านบนรถบัส หรือนำกลับบ้านไปอ่าน ก่อนจะเอามาวางคืนในภายหลังได้ ภายใต้ระบบของความเชื่อใจกัน โดยในมุมมองของกุมารเอง ก็ไม่ได้ถือสาเรื่องการขโมยหนังสือ ซ้ำยังเห็นว่าผู้ลักหนังสือคือผู้ที่รักหนังสือโดยแท้จริงเสียอีก อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะคิดเช่นกุมาร ดังนั้นตู้หนังสือบางตู้จึงล็อกเอาไว้และพนักงานต้องคอยมาไขเป็นระยะ หรือไม่ก็อาจจะเห็นป้ายที่เขียนเตือนว่า ภายในพื้นที่มีกล้อง CCTV คอยจับตาดูอยู่เพื่อป้องกันอีกระดับ

ขณะที่ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมืองบอสตันก็ได้ทดลองโครงการนำร่อง “Browse, Borrow, Board” ที่จะให้ผู้โดยสารสามารถเข้าถึงเนื้อหาดิจิทัล เช่น นิตยสาร หนังสือ หรือสื่ออื่น ๆ ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดที่ติดตามป้ายรถเมล์แล้วกรอกข้อมูล โดยไม่ต้องใช้บัตรห้องสมุด เพื่อจรรโลงใจผู้คนขณะเดินทาง พร้อมเชื่อมโยงพวกเขาให้ได้เข้าถึงทรัพยาการที่ห้องสมุดสาธารณะบอสตันมีอยู่ในมือ และต่อมาโครงการดังกล่าวก็ได้ขยายไปทดลองยังพื้นที่อื่น ๆ ด้วย โดยผู้ลงทะเบียนรับสื่อดิจิทัลจะสามารถเข้าถึงสื่อที่ยืมมาได้ครั้งละ 21 วัน แต่หลังจากนั้นก็สามารถลงทะเบียนผ่านคิวอาร์โค้ดเพื่อยืมสื่อใหม่ได้โดยไม่ได้การจำกัดจำนวนครั้งแต่อย่างใด

04 เปลี่ยนป้ายให้กลายเป็น... สวนหย่อม
สวนขนาดย่อมบนป้ายรถเมล์เกิดขึ้นเป็นที่แรก ณ เมืองอูเทรคต์ (Utrecht) ประเทศเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ปี 2019 เพื่อเป็นของขวัญให้กับเหล่าแมลง เช่น ผึ้งและผีเสื้อ ที่ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดในป่าปูนอย่างยากลำบาก จนตัวเลขประชากรของพวกมันลดฮวบอย่างน่าใจหาย และบางชนิดถึงขีดที่ใกล้จะสูญพันธุ์เลยด้วยซ้ำ ดังนี้เองสภาเมืองอูเทรคต์และ “Clear Channel” จึงได้ร่วมมือกันสร้างพื้นที่สีเขียวเล็ก ๆ มากกว่า 300 แห่งบนป้ายรถเมล์ให้เกิดขึ้นเพื่อมาเป็นที่พักพิงให้กับแมลงเหล่านี้ ทั้งยังช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองอูเทรคต์ด้วย 

หลังคาของป้ายเหล่านี้เต็มไปด้วยพืชที่เรียกว่า ซีดัม (Sedum) เป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นพันธุ์ไม้ที่ไม่ต้องมาคอยดูแลเอาใจใส่มากนัก และเจ้าสวนขนาดย่อมนี้ก็ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อให้เหล่าแมลงในเมือง แต่ยังมีดียิ่งกว่าตามเป้าหมายของการ “สร้างสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่ดีต่อสุขภาพสำหรับทุกคน” ด้วยการเอื้อประโยชน์ให้กับมนุษย์เมืองเช่นกัน ทั้งในแง่ของการปรับปรุงคุณภาพอากาศจากการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ช่วยกักเก็บน้ำฝนตอนฝนตก และทำให้ผู้เดินทางรู้สึกเย็นลงในช่วงฤดูร้อน 

สวนน้อย ๆ นี้ยังขยับขยายพื้นที่ไปสู่เมืองต่าง ๆ ทั่วสหราชอาณาจักรและยุโรป โดยมีเมืองเลสเตอร์เป็นผู้นำร่องสร้างป้ายรถเมล์พร้อมสวนขนาดย่อมบนหลังคา 30 ป้ายในปี 2021 “เราอยากจะทำสิ่งนี้ในเมืองต่าง ๆ ของสหราชอาณาจักรให้ได้มากที่สุด” หลุยส์ สตับบิงส์ (Louise Stubbings) จาก Clear Channel UK กล่าว โดยการดำเนินงานจะเริ่มจากป้ายที่จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนอยู่แล้วก่อน เนื่องจากป้ายที่มีสวนต้องได้รับการดีไซน์ใหม่ให้รองรับน้ำหนักมหาศาลจากดิน (โดยเฉพาะเมื่อโอบอุ้มน้ำ) ได้ และตั้งเป้าว่า จะสามารถติดตั้งป้ายรถเมล์ดังกล่าวได้ราว ๆ 1,000 จุดในสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ยังมีการร่วมมือกับ “Wildlife Trusts” ในการเลือกพืชพรรณพื้นเมืองมาเป็นส่วนหนึ่งของสวนเพื่อดึงดูดแมลงให้มาผสมเกสรด้วย 

โจ สมิธ (Jo Smith) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Derbyshire Wildlife Trust ยังเห็นว่า ป้ายรถเมล์เหล่านี้เป็นสื่อที่ดีที่จะทำให้ธรรมชาติมีตัวตนมากขึ้น “ทุกคนเห็นมัน แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ขึ้นรถเมล์ แต่แค่เดินหรือขับรถผ่านไปก็ตาม” นับเป็นความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เห็นได้ชัดเจน และช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างพื้นที่เพื่อธรรมชาติมากขึ้นได้ 

05 ป้ายไม่จริง แต่ดีต่อใจ
เพราะป้ายรถโดยสารประจำทางบางป้าย ก็ไม่ได้ถูกสร้างมาให้รถประจำทางคันไหนจอด... 

หนึ่งในอาการที่ร้ายแรงสำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ก็คือความรู้สึกสับสนจากสภาพแวดล้อมรอบตัว ก่อให้เกิดความรู้สึกแย่และวิตกกังวลจนต้องหาวิธี “หนี” ออกจากจุดนั้นโดยไม่สนใจอันตรายใด ๆ และหลายครั้งวิธีที่ผู้ดูแลจะป้องกันได้ก็คือการล็อกห้องหรือล็อกวอร์ดอัลไซเมอร์ ซึ่งมักจะทำให้ผู้ป่วยตื่นตระหนกรุนแรงขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม ในปี 2008 ที่ผ่านมา บ้านพักคนชราแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนีก็ได้ค้นพบวิธีแก้ปัญหาทางเลือกที่ดูประนีประนอมมากกว่า จากการสังเกตว่าผู้ป่วยมักจะมุ่งหน้าไปยังประตูบานแรกที่จะพาเขาออกจากพื้นที่ นั่นก็คือรถสาธารณะ ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงเริ่มสร้าง “ป้ายรถเมล์ปลอม” ขึ้นหน้าคลินิกแทน และกลายเป็นว่าวิธีการนี้ค่อนข้างได้ผลดีทีเดียว

นอกจากนี้ ยังมีป้ายรถเมล์จำลองอีกป้ายตั้งอยู่ที่บ้านพักคนชราอีกแห่งที่ประเทศสวีเดนมากว่า 4 ปี และได้ช่วยเหลือผู้ป่วยไว้หลายโอกาส “มีผู้หญิงคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่นี่ และเธอมักจะมาหาฉันวันละหลาย ๆ รอบ ขอให้ผู้ปกครองมารับเธอ... เราเคยนั่งบนม้านั่ง (ณ ป้ายรถเมล์) ด้วยกัน แล้วก็รอ จากนั้นก็เริ่มคุยกัน แล้วเธอก็สงบขึ้น แฮปปี้ขึ้น แล้วเราก็ไปกินข้าวหรือดูทีวีกันต่อ” แคโรไลน์ วอห์ลเบิร์ก (Caroline Wahlberg) ผู้ดูแลบ้านพัก กล่าว

ขณะที่พยาบาลที่ดูแลบ้านพักคนชราอีกคนก็ให้ความเห็นว่า ป้ายรถเมล์นี้เหมือนเป็นการบำบัดอีกแขนงหนึ่งที่ผู้ป่วยหลายคนจะพากันมาในช่วงเวลาเย็น ๆ ซึ่งเป็นช่วงที่พวกเขามีแนวโน้มกระสับกระส่าย โดยเธอมักจะเข้าไปพูดคุยกับผู้ป่วยจนพวกเขาลืมว่าอยากหนีออกไปข้างนอก แล้วก็พาพวกเขากลับเข้าไปข้างในได้ และบางครั้ง ป้ายยังเป็นสื่อที่นำความทรงจำบางส่วนกลับมาให้ผู้ป่วยได้ระลึกถึงเช่นกัน เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างก็คุ้นเคย และเชื่อมโยงกับกิจวัตรเดิม ๆ อย่างเช่น การเดินทางไปทำงานแต่ละวัน เป็นต้น

กระนั้นเอง ก็มีคนที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของป้ายรถเมล์จำลองนี้เช่นกันว่ามันเหมาะสมหรือไม่ เพราะแม้มันจะมีเป้าหมายหลักเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่พยายามหลบหนีออกจากบ้านพักคนชราก็จริง แต่มันก็อาจจะเพิ่มความรู้สึกขัดข้องและถูกหลอกได้เช่นกัน

“ป้ายรถเมล์ที่ดี ช่วยสร้างระบบการขนส่งมวลชนที่ดีขึ้น” ทั้งในแง่ความปลอดภัย ประสบการณ์ใช้งาน รวมถึงโอกาสในมิติต่าง ๆ เช่น ธุรกิจ สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ด้านจิตใจ ดังที่ได้ยกตัวอย่างข้างต้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือในการออกแบบ การระดมทุน การประสานงานจากหลาย ๆ องค์กร รวมถึงการบำรุงรักษาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกป้ายที่เป็นมากกว่าป้ายสามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายและเต็มประสิทธิภาพต่อไป

และถึงแม้จะไม่ใช่ทุกป้ายที่จะมีการเสริมคุณค่าในมิติอื่น ๆ แต่อย่างน้อยขอเพียงมีความสะดวกและความปลอดภัยให้ผู้โดยสารได้นั่งรออย่างสบายใจ เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะเรียกได้ว่านี่คือ “ป้ายรถเมล์ที่ดี” และเป็นมาตรฐานที่ทุกป้ายควรจะเป็น 


Nicholas Bartos / Unsplash

ที่มา : บทความ “From Sorry to Superb: Everything You Need to Know about Great Bus Stops” โดย TransitCenter 
บทความ “Why Bus Shelters Matter More Than You Think” โดย Allyn West 
บทความ “20+ Examples of Clever Bus Stop Advertising” โดย Igor Ovsyannnykov 
บทความ “The benefits of bus shelter advertising” โดย James Robinson 
บทความ “Bus Shelter Advertising: Is It Right For Your Business?” โดย Paul Inman 
บทความ “What is Bus Station Advertising? Bus Stop or Shelter, Pros & Cons” โดย Ahsan Ali Shaw
บทความ “Velcro Ads Used to Promote the Coca-Cola Grip Bottle” โดย Tawanda Johnson 
บทความ “Breakfast-sandwich ad turns bus shelter into toaster oven” โดย Lesley Ciarula Taylor 
บทความ “Nagasaki's Fruit-themed Bus Stops” โดย Kim 
บทความ “In Japan, Bus Stops Look Like Fruit. Here’s Why.” จาก tiphero.com 
บทความ “Whimsical Fruit-Shaped Bus Stops in Nagasaki” จาก japan.travel 
บทความ “Brakes on boredom: Karnataka’s bus stop libraries” โดย Amulya B 
บทความ “MA: Browse, Borrow, Board program offers reading material to PVTA riders” โดย Jim Kinney 
บทความ “Browse, Borrow, Board” จาก bpl.org 
บทความ “Boston debuts a digital pop-up libraries pilot program at 20 bus stops” โดย Aya Elamroussi 
บทความ “utrecht transforms over 300 bus stops into green-roofed bee stops” โดย Juliana Neira 
บทความ “Europe's hidden green spaces: from flowering roof tops to bus stop gardens” โดย Rosie Frost 
บทความ “There are tiny parks for bees hiding on the roof of these bus stops” โดย ADELE PETERS 
บทความ “Buzz stops: bus shelter roofs turned into gardens for bees and butterflies” โดย Phoebe Weston
บทความ “Utrecht Creates 300 Bee-Friendly Bus Stops” โดย Niall Patrick Walsh 
บทความ “Fake bus stop calms Swedish dementia sufferers who want to go home” จาก medicalxpress.com 
บทความ “Uncommon Act of Design: Fake Bus Stop Helps Alzheimer’s Patients” โดย CLIFF KUANG จาก fastcompany.com 
อินสตาแกรม @discover_nagasaki 

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง