แต่งรถสุดล้ำได้ตามใจชอบกับนวัตกรรม 3D-Printed Cars
นอกจาก “เสื้อผ้า-หน้า-ผม” และการตกแต่งบ้านหรือห้องนอนแล้ว สิ่งที่พอจะใช้เป็นตัวแทนสะท้อนตัวตนหรือแนวทางการใช้ชีวิตของใครซักคนหนึ่งได้ ก็คงหนีไม่พ้น “รถยนต์” ไม่ว่าจะจากประเภทการใช้งานของรถ ดีไซน์ สี หรือการการตกแต่งรถ ล้วนแล้วแต่สามารถแสดงความเป็นตัวตนของเราได้ทั้งนั้น
แต่หลายคนน่าจะเจอปัญหาเหมือนกันว่า “การแต่งรถ” ไม่ได้ง่ายเหมือนการแต่งตัว เพราะแม้ในตลาดจะมีผู้ที่ผลิตชุดแต่งทางเลือกทั้งภายในและภายนอกมาให้เราใช้งานอย่างหลากหลาย แต่เมื่อเราเดินทางไปซื้อรถยนต์กับตัวแทนจำหน่ายดั้งเดิม ก็กลับโดนจำกัดอยู่ที่ชุดแต่งจากแบรนด์เพียงไม่กี่แบบที่มีให้เลือก
แล้วถ้าจะไปแต่งเอาภายหลังจากอู่นอก ถ้าไม่ได้เป็นคนที่พอมีความรู้ด้านนี้อยู่บ้างก็มักไม่รู้จะไปเริ่มต้นอย่างไร จะเสิร์ชหาเอาแล้วลองเลือกอู่ด้วยตัวเอง ถ้าเจออู่ที่ใช่และทำงานได้ดี ก็รอดตัวไป แต่ถ้าเจออู่ที่ประสบการณ์ยังไม่มากพอ แต่ง ๆ ไป รถเราอาจจะใช้งานได้แย่ลง ก็ตัวใครตัวมัน
มีรถทั้งที ต้องไม่ซ้ำใคร เมื่อแบรนด์ยักษ์ใหญ่เริ่มขยับตัวตามเทรนด์
ในอดีต เราจะเห็นว่าโมเดลรถแต่ละรุ่นจะมีแค่การปรับโฉมเล็กน้อยแบบปีต่อปีเท่านั้น อาจมีการปรับไฟหน้าหรือเพิ่มไฟท้ายบ้าง แต่หากจะมีการเปลี่ยนเป็นโมเดลโฉมใหม่เลยก็มักใช้เวลาราว 4-5 ปีต่อครั้ง
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการผลิตซ้ำจำนวนมากในระดับอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีการสร้างแม่พิมพ์ขึ้นมาจากตัวดีไซน์ ซึ่งนอกจากการผลิตตัวแม่พิมพ์นี้จะมีต้นทุนค่อนข้างสูงแล้ว การที่วิศวกรจะแปลงดีไซน์ที่ซับซ้อนออกมาเป็นแม่พิมพ์ได้ก็ยังมีข้อจำกัดอีกมากมาย บางดีไซน์ก็ไม่สามารถถอดออกมาเป็นแม่พิมพ์ได้จริง การสร้างแม่พิมพ์ใหม่บ่อย ๆ จึงไม่สามารถทำได้เร็วเท่าการออกแบบโมเดลรถรุ่นใหม่เพียงลำพัง
แต่ในปัจจุบัน เราน่าจะพอเห็นได้ว่า รถรุ่นยอดฮิตหลายรุ่น มักมีการออกโมเดลโฉมใหม่มาทุกปี โดยเอาเลขปี 202x ห้อยท้ายชื่อรุ่นไว้แบบนั้นเอง ที่ทำได้แบบนี้ก็เป็นเพราะเทคโนโลยี “3D Printing” หรือการพิมพ์ 3 มิติที่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิต
3D Printing กับการปฏิวัติหลากหลายวงการอุตสาหกรรม
เครื่องพิมพ์ 3 มิติ หรือเครื่องจักรที่ใช้กระบวนการทำให้เนื้อวัสดุก่อตัวเป็นรูปร่างตามไฟล์ 3 มิติที่ได้ออกแบบไว้ แม้จะถูกพูดถึงกันเป็นวงกว้างในช่วง 10 ปีมานี้ แต่นั่นก็เป็นเพียงเพราะการที่เริ่มมีเครื่องพิมพ์ 3 มิติขนาดตั้งโต๊ะออกวางขายตามท้องตลาด แต่แท้จริง ตัวเทคโนโลยีนี้ได้ถูกคิดค้นและใช้งานมาแล้วร่วม 40 ปีได้
เครื่องพิมพ์ 3 มิติไม่ได้ถูกใช้กับแค่การสร้างงานศิลปะ หรือหุ่นโมเดลตัวละคร แต่กลับแฝงตัวอยู่ในการพัฒนาของหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การผลิตอวัยวะเทียมและสร้างอุปกรณ์การแพทย์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ไปจนถึงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ถูกใช้ผลิตอุปกรณ์บนสถานีอวกาศ และแน่นอนว่า ต้องมีอุตสาหกรรมยานยนต์รวมอยู่ด้วยเช่นกัน
พิมพ์ชิ้นส่วนก็ทำได้ พิมพ์ทั้งคันมันซะเลยก็ยังมี!
ตลาด 3D Printed Car ถูกแบ่งออกเป็นสองหมวดหลัก ๆ อย่างแรกคือกลุ่มธุรกิจที่ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดที่เรารู้จักกันดีอย่าง Porsche, Rolls Royce, Ford Motor, Volkswagen, BMW ก็ล้วนเบนเข็มการผลิตไปหวังพึ่งเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติกันทั้งสิ้น
เพราะด้วยจุดเด่นของการพิมพ์ 3 มิติ ทำให้การผลิตส่วนประกอบรถยนต์จะมีน้ำหนักที่เบาลง และมีดีไซน์ที่ซับซ้อนขึ้นได้ สามารถสร้างตัวต้นแบบของรถยนต์ในดีไซน์ใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และยังสามารถผลิตชุดแต่งเพื่อความสวยงามออกมาได้หลากหลายมากขึ้น ตรงกันข้ามกับการสร้างชิ้นส่วนด้วยแม่พิมพ์แบบดั้งเดิม
ในส่วนของการแต่งรถเอง อู่เอกชนที่รับจ้างตกแต่งรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา จีน และหลายประเทศในยุโรป ก็ได้มีการนำเครื่องพิมพ์ 3 มิติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการ โดยจะทำการสแกนชิ้นส่วนเดิมของรถยนต์แบบ 3 มิติ อย่างเช่นสแกนประตูข้างคนขับทั้งบาน และถอดที่พักแขนออกมาสแกน จากนั้นก็ลองใส่ดีไซน์ใหม่ลงไปในคอมพิวเตอร์จนพอใจแล้วก็แค่สั่งพิมพ์ออกมา จากนั้นก็สามารถนำไปประกอบเข้ากับข้อต่อเดิมได้ทันที
ส่วนอีกหมวดที่เน้นในการผลิตรถยนต์ทั้งคันด้วยกระบวนการพิมพ์ 3 มิติก็มีความคืบหน้าไปไม่แพ้กัน
me:MO รถยนต์ไฟฟ้าไซส์มินิจากญี่ปุ่นที่สั่งคัสตอมได้แทบทั้งคัน
ในงาน Japan Mobility Show 2023 ที่ผ่านมา Daihatsu บริษัทลูกของ Toyota ได้เผยโฉมคอนเซ็ปต์คาร์ “me:MO” ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่คัสตอมได้ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติแบบแทบทั้งคัน
ซึ่งกระบวนการผลิต me:MO เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนวิธีการผลิตรถยนต์ไปโดยสิ้นเชิง โดยที่ผู้ขับขี่จะสามารถออกแบบทั้งโครงสร้างรถภายนอกถึงภายในได้เองอย่างง่ายดายราวกับการเล่นตัวต่อเลโก้เท่านั้น ซึ่งถ้าดูจากหน้าตาของรถแล้ว มันก็ดูน่ารักปุ๊กปิ๊กดีไม่น้อย
จุดประสงค์ของตัวโมเดลนี้ คือการให้เจ้าของรถยนต์ได้ขับขี่ยานพาหนะที่มีรูปลักษณ์ถูกจริต โดนใจ และสามารถอยู่กับมันได้อย่างยาวนาน เป็นการตอบสนองด้านความยั่งยืนไปด้วยในตัว
และถึงแม้ตัวรถนี้จะยังเป็นแค่คอนเซ็ปต์คาร์ ซึ่งไม่แน่ว่าจะสามารถต่อยอดจนออกมาวางขายได้ในอนาคตหรือไม่ หรือจะถูกพับเก็บไว้เป็นแค่คอนเซ็ปต์คาร์อยู่แบบนี้ เพราะไหนจะติดเรื่องปัญหาที่โดนบริษัทแม่สั่งหยุดผลิตรถยนต์ไปเนื่องด้วยประเด็นปลอมแปลงเอกสารด้านความปลอดภัย แต่ลำพังแค่การมีคอนเซ็ปต์คาร์ลักษณะนี้ออกมาตั้งโชว์ในงานได้ ก็ถือว่าเป็นข้อพิสูจน์เทรนด์ที่กำลังมาแรงได้อีกหนึ่งสเต็ปแล้ว
Daihatsu
Daihatsu
Daihatsu
ไม่ได้มีแค่คอนเซ็ปต์คาร์ รถยนต์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่วางขายแล้วก็มี!
ถึงจะไม่ได้เน้นหลักไปที่การคัสตอมหน้าตาได้ดั่งใจเหมือนคอนเซ็ปต์คาร์ที่กล่าวไปข้างต้น แต่การผลิตรถยนต์ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติก็ไม่ได้เป็นแค่ความหวังลม ๆ แล้งๆ ในอนาคตแต่อย่างใด
เพราะอย่าง XEV สตาร์ตอัปจากประเทศอิตาลีได้เปิดตัว “Yoyo” รถยนต์ไฟฟ้าแบบมินิ 2 ที่นั่งออกมาในปี 2020 โดยวัสดุแทบทุกอย่างถูกสร้างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ยกเว้นเพียงแค่ชุดเพลา เบาะนั่ง และกระจกที่นำมาประกอบภายหลังเท่านั้น แถมยังมาพร้อมชุดแบตเตอรี่ที่สามารถถอดสลับเปลี่ยนได้ด้วย โดยทำยอดจองในยุโรปไปได้ถึง 20,000 คันนับตั้งแต่เปิดตัวมา
ทางผู้ผลิตเองก็ได้เปรยไว้ว่า ในอนาคตเจ้าของรถอาจ DIY ดัดแปลงสีและลวดลายตัวรถได้ตามต้องการด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติเช่นเดียวกัน
XEV
และไม่ใช่แค่รถยนต์ขนาดเล็กเท่านั้น เพราะอย่าง Czinger ก็ได้เปิดตัวไฮเปอร์คาร์ “21C V Max” ที่มีขุมกำลังกว่า 1,250 แรงม้า และยังเร่งความเร็วจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในเวลาเพียง 1.9 วินาที วัสดุและตัวถังรถยังทำมาจากอะลูมิเนียมอัลลอยด์ที่ฉีดจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ผสานการใช้งาน AI คำนวณโครงสร้างให้ใช้วัสดุน้อยลง ส่งผลให้น้ำหนักรถเบาลงเป็นอย่างมาก
Divergent3D
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ยกมาคร่าว ๆ เท่านั้น เพราะยังมีรถที่ผลิตจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติอีกหลายต่อหลายรุ่น เช่น “CELESTIQ” จาก Cadillac, “Bolide” จาก Bugatti หรือแม้แต่รถคอนเซ็ปต์หน้าตาจากโลกอนาคตอย่าง “David Bowie Car” โดย Massivit 3D Printing ส่วนในฝั่งสองล้ออย่างมอเตอร์ไซค์ก็ยังมี “NERA” ที่ใช้การพิมพ์ 3 มิติด้วยเช่นกัน
Massivit 3D Printing
ในอนาคตเราอาจเป็นเจ้าของยานพาหนะที่หน้าตาไม่ซ้ำใครในโลกได้ง่ายขึ้น
แม้ในปัจจุบันเราจะยังไม่สามารถสั่งซื้อรถที่ผลิตด้วยการพิมพ์ 3 มิติล้วน ๆ ทั้งคันจากค่ายรถใหญ่ ๆ ได้ และเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติยังต้องใช้เวลาพัฒนาไปอีกหลายต่อหลายปี แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาก็น่าจะพอทำให้เห็นเทรนด์ในอนาคตที่กำลังจะมาถึงได้บ้างไม่มากก็น้อย
ลองนึกดูสิว่าจะสนุกแค่ไหน ถ้าในอนาคตจะมีหน้าจอให้เราสามารถระบุชิ้นส่วนการตกแต่งต่าง ๆ ของรถที่เรากำลังจะซื้อได้ทั้งหมด ในทำนองเดียวกับการสร้างหน้าตาตัวละครในเกมออนไลน์อย่าง Gran Turismo 7 อย่างไงอย่างงั้น
Gran Turismo 7
Gran Turismo 7
Gran Turismo 7
Gran Turismo 7
ตั้งแต่การคัสตอมชิ้นส่วนภายนอกยันภายใน เลือกชิ้นส่วนจากดีไซน์เนอร์ทั้งจากแบรนด์และบุคคลทั่วไปที่เข้าไปร่วมสร้างผลงานไว้ แถมเราจะได้เลือกหน้าตาคอนโซลหรือพวงมาลัยรถในแบบที่เราชอบ เลือกจำนวนช่องใส่แก้วน้ำได้มากตามการใช้งาน หรือแม้แต่จะสร้างชุดสีพิเศษเฉพาะที่ไม่ซ้ำใครก็สบาย ๆ งานนี้คนรักรถคงกระเป๋าแฟ่บไปตาม ๆ กัน แต่ถ้าเทียบกับว่า เราจะสามารถเป็นเจ้าของรถฟักทองไฟฟ้าได้ 100% โดยไม่ต้องเกิดเป็นซินเดอเรลล่า ก็น่าจะคุ้มอยู่ไม่น้อยเลย...ว่าไหม?
ที่มา : บทความ “Automotive Industry Revolution: 3D Printed Urban Transportation” โดย Justyna Matuszak
รายงาน “Global 3D Printed Car Market Growth 2023-2028” จาก reliablebusinessinsights.com
บทความ “The complete history of 3D printing” จาก ultimaker.com
บทความ “3D-Printed Cars: 11 Current Examples” โดย Ellen Glover
บทความ “A Customizable Concept Car Made With 3D Printing” Madeleine P.
วิดีโอ “3D Printing For Next-Level Car Customization | AVI Boston” โดย BigRep 3D Printers
วิดีโอ “Innovative Talk EP.3 : ปฏิวัติการผลิตด้วย Additive Manufacturing ปรับตัวให้ทัน เพื่อความเหนือกว่า” โดย AppliCAD Mi
เรื่อง : สโรชา พรรณพิสิฐ