“สัตว์” หลากชนิดสู่แรงบันดาลใจแห่งนวัตกรรมที่พามนุษย์ให้ก้าวไปไกลกว่าเดิม
Technology & Innovation

“สัตว์” หลากชนิดสู่แรงบันดาลใจแห่งนวัตกรรมที่พามนุษย์ให้ก้าวไปไกลกว่าเดิม

  • 30 Jan 2024
  • 2117

ธรรมชาติออกแบบสิ่งมีชีวิตให้ดำรงชีวิตและปรับตัวได้ในสภาพที่แตกต่างกัน ธรรมชาติจึงเป็นดั่ง “ผู้สร้าง” ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และความอัศจรรย์แปลกใหม่ อันนำมาสู่ไอเดียอันแสนบรรเจิดที่พามนุษย์ให้ก้าวหน้าไปได้ไกลยิ่งขึ้น และตราบใดที่ธรรมชาติยังคงอยู่ มนุษย์ก็ย่อมสามารถพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างไม่รู้จบ ทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาของมนุษย์และค้นพบแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

และนี่คือพลังของ “การลอกเลียนแบบธรรมชาติ (Biomimicry)” ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางกายภาพ รูปแบบ โครงสร้าง หรือองค์ประกอบต่าง ๆ ผ่านการสังเกตอย่างละเอียด ควบคู่ไปกับการศึกษาและเปลี่ยนผันธรรมชาติเหล่านั้นให้กลายเป็นแรงบันดาลใจ ผนวกเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ เพื่อจุดประกายไอเดียต่าง ๆ ที่สามารถประยุกต์ให้เกิดเป็นนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยสร้างความสะดวกสบายให้กับชีวิตมนุษย์มากกว่าที่เคยเป็น จนนับเป็นก้าวแรกของทิศทางการพัฒนาที่ทำให้เราเข้าใกล้ธรรมชาติมากขึ้นกว่าเดิม

การได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นมานานหลายศตวรรษแล้ว โดย "สัตว์" เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตของธรรมชาติที่ถูกลอกเลียนแบบจำนวนนับไม่ถ้วน โดยธรรมชาติของสัตว์หลากสปีชีส์หลายสายพันธุ์ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เหล่านักวิทยาศาสตร์มากมาย กลายเป็นผลลัพธ์น่าทึ่งในหลากหลายหมวด เช่น ของใช้ในชีวิตประจำวัน วัสดุ สารเคมี โครงสร้าง ยานหาหนะ และอีกมากมาย

เราจึงอยากพามาดู “ตัวแทนสัตว์” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลให้กับนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง สู่การพัฒนานวัตกรรมที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน...จะอัศจรรย์กินใจเพียงใดลองมาดูกันได้เลย


Pixabay / Pexels

จาก "ปากยุง" สู่ "เข็มฉีดยาลดความเจ็บปวด"
จากข้อสังเกตที่ว่า "ทำไมเวลาโดนยุงกัดถึงไม่เจ็บ" แต่กลับทิ้งอาการคันและตุ่มแดงไว้ภายหลัง บวกกับความรู้สึกของ "ความกลัวและความเจ็บปวดทรมานจากการโดนเข็มฉีดยาขนาดใหญ่" จึงได้นำมาสู่แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เข็มฉีดยาแบบใหม่ที่ช่วยลดความเจ็บปวด ที่เรียกว่า Microneedle ด้วยหลักการเลียนแบบธรรมชาติ "ปาก" ของ "ยุง" ที่เจาะเข้าสู่ผิวหนังมนุษย์เพื่อดูดเลือด แต่กลับไม่ทำให้รู้สึกเจ็บแม้แต่น้อย 

เข็มไมโครนีดเดิลประกอบด้วยไมโครนีดเดิลขนาดเล็กสองอันที่ทำงานแยกกัน ซึ่งเข็มทั้งสองมีการไล่ระดับความแข็งโดยปลายเข็มจะมีความยืดหยุ่น  ซึ่งช่วย​ลดแรงที่ต้องใช้ในการเจาะผิวหนัง ทำให้เสียรูปน้อยลงและเจ็บปวดน้อยลง สำหรับการทำงานของเข็มจะเริ่มจาก​​เข็มตัวแรกที่สร้างขึ้นเพื่อลดแรงที่ต้องใช้ในการเจาะผิวหนัง โดยเข็มนี้จะฉีดยาชาเข้าไปในผิวหนัง หลังจากปล่อยยาชาแล้ว เข็มอันที่สองจะถูกสอดเข้าไปเพื่อเจาะเลือดหรือฉีดยาที่จำเป็น 

เข็มไมโครนีดเดิลดังกล่าวได้ลอกเลียนมาจากวิธีการดูดเลือดของยุง หากมองเห็นด้วยตาเปล่า ปากของยุงจะมีลักษณะคล้ายงวง ซึ่งภายในงวงนี้ประกอบด้วยท่อสองอันซ้อนขนานกันอยู่ โดยปลายท่อทั้งสองจะมีความยืดหยุ่น ทำให้เมื่อเจาะดูดเลือดมนุษย์ เราจะไม่รู้สึกเจ็บ เมื่อยุงเจาะเข้าผิวหนังแล้ว ยุงจะปล่อยน้ำลายที่ทำให้มนุษย์รู้สึกชา จากนั้นจะใช้ท่อแรกที่มีลักษณะเหมือนใบเลื่อยเจาะเข้าผิวหนังด้วยการสั่นเบา ๆ เพื่อทำให้การเจาะเข้าผิวหนังง่ายขึ้นและเป็นการช่วยลดความเจ็บปวด ขณะเดียวกันก็ใช้อีกท่อสั่นขณะสอดเข้าไปเพื่อดูดเลือด 

อย่างไรก็ดี เข็มไมโครนีดเดิลจะมีราคาแพงกว่าเข็มทั่วไป และอาจใช้ไม่ได้กับการทำงานบางอย่าง เช่น การสูบฉีดของเหลวในหลอดเลือดดำหรือการเจาะเลือดจำนวนมาก แต่ทว่าอาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่กลัวการใช้เข็มขนาดใหญ่แบบเดิม ซึ่งนับเป็นการเลียนแบบที่น่าสนใจ เนื่องจากสามารถเปลี่ยนวิธีการฉีดวัคซีนแบบเดิม และลดความเจ็บปวดในการฉีดหรือการเก็บตัวอย่างเลือด ซึ่งนำมาสู่การเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคคุกคามที่อันตรายถึงชีวิตได้


Pickpik

จาก "เกล็ดงู" สู่ "รองเท้าเพิ่มแรงเสียดทาน" 
การลื่นล้ม...ไม่ใช่เรื่องเล็กสำหรับผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะลื่นล้มบนพื้นที่เปียกน้ำได้ตลอดเวลา

“การล้มยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุอันดับที่สองของการเสียชีวิตจากการประกอบอาชีพ…ถ้าเราสามารถควบคุมและเพิ่มแรงเสียดทานระหว่างรองเท้ากับพื้นดินได้ เราก็สามารถลดความเสี่ยงของการล้มนี้ได้ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เสียชีวิตลดน้อยลง แต่ยังลดค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลได้หลายพันล้านดอลลาร์ในทุกปีอีกด้วย” นักวิจัยจาก MIT กล่าว

ด้วยความท้าทายที่ต้องการให้ปัญหาดังกล่าวหมดไป นำมาสู่แรงบันดาลในการสร้างสรรค์ไอเดียรองเท้าที่เพิ่มการเสียดสีกับพื้นและลดโอกาสการลื่นล้ม โดยเลียนแบบธรรมชาติของ "หนังงู" ผสานเข้ากับการตัดกระดาษแบบคิริกามิ (Kirigami) ซึ่งเป็นศิลปะการตัดกระดาษของญี่ปุ่นที่ถูกประยุกต์กับวัสดุอื่นนอกจากกระดาษ อย่างเช่นโลหะและสารกึ่งตัวนำ เพื่อผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความยืดหยุ่นสูง

“งู” เป็นสัตว์ที่ไม่มีแขนขา จึงเคลื่อนไหวด้วยร่างกายที่มีเกล็ดคอยสัมผัสพื้นผิวต่าง ๆ ซึ่งเกล็ดของงูจะเรียงทับซ้อนและเชื่อมต่อกันด้วยผิวหนัง การจัดเรียงลักษณะนี้ ทำให้งูมีความยืดหยุ่นเมื่อเคลื่อนที่ไปบนพื้นผิวต่าง ๆ ที่ช่วยให้พวกมันเคลื่อนไหวและสร้างแรงเสียดทานในทิศทางที่ต้องการได้ โดยลักษณะเกล็ดงูจะมีขนาดเล็ก ส่วนปลายเกล็ดเป็นตัววี (V) ชี้ไปบริเวณหาง สำหรับการเคลื่อนไหวของงูขณะที่ไถลไปข้างหน้า เกล็ดส่วนปลายจะยกขึ้น เพื่อสร้างแรงเสียดทานในทิศทางตรงกันข้ามและเพื่อยึดเกาะกับพื้นผิวนั้น ๆ 

นักวิจัยจาก Harvard และ MIT ได้ใช้คิริกามิจากแผ่นเหล็กที่บางและยืดหยุ่นเพื่อเลียนแบบเกล็ดงู เมื่อวัสดุยืดออกระหว่างที่ยกส้นเท้าเดิน ส่วนปลายจะโผล่ออกมาในลักษณะหนามแหลมที่เจาะลงไปในพื้นดิน ทำให้เกิดการเสียดสี และเมื่อก้าวเท้าเสร็จ ส่วนปลายของพื้นใต้รองเท้าจะกลับมาเรียบอีกครั้ง 


Andy Castille / Unsplash

จาก "เมือกหอยแมลงภู่" สู่ "กาวปิดแผล" 
หอยแมลงภู่ อาจเป็นเมนูโปรดของใครหลายคน แต่มันกลับซ่อนความอัศจรรย์ในตัวเองไว้ด้วยคุณสมบัติในการยึดเกาะที่แน่นหนาบนโขดหินริมทะเลท่ามกลางคลื่นโหมกระหน่ำ หนำซ้ำยังเป็นน้ำเค็ม เพียงเพราะมีการหลั่งเมือกที่มีส่วนประกอบของโปรตีนที่มีโดพามีน (DOPA) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกาวที่มีความเหนียวสูง ทำให้หอยแมลงภู่สามารถเกาะยึดติดกับพื้นผิวในสภาพที่เปียกได้

ความสามารถของพลังการยึดเกาะท่ามกลางกระแสน้ำที่โหมกระหน่ำนี้ ได้จุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิทยาศาสตร์ ที่พยายามนำคุณสมบัติดังกล่าวไปสู่การลอกเลียนธรรมชาติของ "เมือกของหอยแมลงภู่" เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ “กาวปิดแผลกันน้ำ”

สำหรับการผ่าตัดทางการแพทย์นั้น โดยปกติจะทำการปิดแผลด้วยการเย็บ ที่อาจทำให้กลายเป็นร่องรอยของแผลเป็นได้ และอาจจะไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมเสมอไปในการรักษาอวัยวะที่บอบบาง ด้วยข้อเสียเหล่านี้ได้กระตุ้นให้เกิดการพัฒนากาวที่แข็งแรงมากพอที่จะยึดเนื้อเยื่อไว้ด้วยกันในสภาพแวดล้อมที่เปียกชื้น และต้องทำได้โดยไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้บนผิวหนังได้

ทั้งนี้ มีการค้นพบว่า เมือกของหอยแมลงภู่ช่วยในการสมานบาดแผลและเชื่อมปิดแผลผ่าตัดได้ อีกทั้งยังช่วยให้เนื้อเยื่อฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและลดรอยแผลเป็นได้ดีกว่าการปิดแผลแบบเดิม จึงก้าวมาสู่การพัฒนากาวที่ใช้ในการปิดแผลผ่าตัดแบบใหม่ โดยผ่านการสังเคราะห์เมือกที่อ้างอิงจากธรรมชาติของหอยแมลงภู่ ซึ่งมีส่วนประกอบหลักของกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบของโปรตีน สู่การพัฒนาเป็นวัสดุกาวผ่าตัดใหม่ที่มีชื่อว่า “ELY16” ซึ่งนับเป็นความหวังทางการแพทย์ในอนาคต ที่สักวันเราอาจได้ใช้กาวปิดแผลที่ลดความเจ็บปวดและมีประสิทธิภาพในการรักษาแทนที่การเย็บแผลแบบดั้งเดิม


Miha TAMURA / Flickr

จาก "โครงสร้างรังปลวก" สู่ "การระบายความร้อนของอาคาร" 
บ่อยครั้งการเลียนแบบทางชีวภาพไม่ได้เป็นเพียงการเลียนแบบเฉพาะทางกายวิภาคของสัตว์เท่านั้น แต่อาจใช้โครงสร้างที่สัตว์เหล่านี้สร้างขึ้น เพื่อสร้างระบบช่วยชีวิตที่ดีขึ้นได้ ดังเช่น โครงสร้างรังของ “ปลวก”

หนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดของการเลียนแบบธรรมชาติผ่านโครงสร้างรังปลวกก็คือ “อาคารอีสต์เกต” ประเทศซิมบับเว ที่ออกแบบโดย มิก เพียร์ซ (Mick Pearce) ซึ่งเป็นการสร้างอาคารผ่านการสังเกตเนินปลวกในสนามกอล์ฟ ซึ่งโครงสร้างรังปลวกในธรรมชาติประกอบด้วยช่องทางอุโมงคและช่องอากาศที่เชื่อมต่อถึงกันนับพันช่อง โดยจะมียอดแหลมสูงที่ทำหน้าที่เป็นช่องระบายอากาศคล้าย "ปล่องไฟ" คอยหมุนเวียนอากาศร้อนภายใน ควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นให้แก่รังที่อยู่ใต้ดินให้มีอากาศเย็น ซึ่งช่วยให้อากาศไหลเวียนได้ทั่วทั้งรัง

มิก เพียร์ซ ออกแบบอาคารอีสต์เกตในซิมบับเวให้ภายในอาคารมีปล่องลมขนาดใหญ่ที่ช่วยถ่ายเทมวลอากาศร้อนและอากาศเย็นไปทั่วตัวอาคาร มีเพดานที่สูง และตัวอาคารทำจากแผ่นคอนกรีตและอิฐ เช่นเดียวกับดินในรังปลวก เนื่องจากวัสดุเหล่านี้มีมวลความร้อนสูงที่สามารถดูดซับความร้อนได้มากโดยไม่เปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ทั้งยังช่วยกักเก็บอากาศเย็นเอาไว้ ตลอดจนผนังด้านนอกที่ถูกออกแบบให้มีลักษณะเหมือนหนาม ซึ่งได้ไอเดียมาจากพืชในทะเลทราย เนื่องจากพื้นผิวขรุขระจะช่วยลดการดูดกลืนความร้อนได้ดีกว่าผิวเรียบ จากทั้งหมด ส่งผลให้อาคารอีสต์เกตสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 35% เมื่อเทียบกับอาคารขนาดเดียวกันในระแวกใกล้เคียง

ต่อมาจวบจนถึงปัจจุบัน ได้มีการวิจัยโครงสร้างรังปลวกเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นนำมาสู่การออกแบบโครงสร้างวัสดุดิจิทัล 3D ที่สร้างโอกาสสำหรับการกำหนดรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่มีความเป็นไปได้ในการช่วยประหยัดพลังงานภายในอาคารอย่างแท้จริง ด้วยการควบคุมการไหลเวียนของอากาศในอาคาร ที่จะประหยัดพลังงานมากกว่าการใช้เครื่องปรับอากาศ โดยไม่ต้องอาศัยพัดลมขนาดใหญ่อย่างการออกแบบของมิก เพียร์ซ

ความสามารถในการเลียนแบบโครงสร้างรังปลวกทั้งหมดนี้ นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางแก้ปัญหาที่มีแนวโน้มมากที่สุดสำหรับการลดการพึ่งพาเครื่องปรับอากาศของมนุษย์ เพื่อเปลี่ยนไปสู่การดำเนินชีวิตที่คล้ายคลึงธรรมชาติและมีความยั่งยืนมากขึ้น


Waldemar / Unsplash

จาก "งวงช้างและหนวดปลาหมึก" สู่ "แขนหุ่นยนต์" 
การเคลื่อนไหวแขนของหุ่นยนต์มักถูกจำกัดด้วยความสามารถในการคำนวณของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อาจจะไม่ครอบคลุมการเคลื่อนไหวในทุกทิศทาง แต่เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ก้าวล้ำ จึงทำให้สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวแขนของหุ่นยนต์ที่ซับซ้อนให้เคลื่อนไหวได้อย่างพลิ้วไหวในทุกทิศทางมากขึ้น สามารถจับสิ่งของที่มีรูปร่างต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย ทั้งยังมีความแม่นยำสูง และปลอดภัยสำหรับการโต้ตอบของมนุษย์ ด้วยการเลียนแบบธรรมชาติมาจากการทำงานของงวงช้างและหนวดปลาหมึก

แขนหุ่นยนต์ดังกล่าวได้รับการพัฒนาโดยทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยอีพีเอฟแอลของสวิตเซอร์แลนด์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟต์ของเนเธอร์แลนด์ สำหรับการออกแบบแขนหุ่นยนต์จะใช้อุปกรณ์ที่แปลงพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานกล ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของวัตถุมาวางเรียงตัวกันในแกนกลางของแขน โดยใช้ตัวเชื่อมต่อมาจัดเรียงเป็นเกลียวสปริง ให้โครงสร้างแขนหุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่แบบโค้งงอ ปรับเปลี่ยนรูปแบบได้อย่างอิสระ มีประสิทธิภาพ และมีความยืดหยุ่นมากกว่าแขนหุ่นยนต์แบบเดิมที่โค้งงอได้เฉพาะที่ข้อต่อไหล่ ข้อศอก และข้อมือเท่านั้น โดยการทำงานของแขนหุ่นยนต์นี้ยังมีความนุ่มนวลมากพอที่จะหยิบจับวัตถุโดยไม่ทำให้วัตถุนั้นเสียหายหรือได้รับการกระแทก 

ด้วยเหตุนี้ ทีมนักวิจัยมีความเชื่อว่า แขนหุ่นยนต์ดังกล่าวจะมีความเป็นมิตรต่อมนุษย์ที่สามารถต่อยอดและพัฒนารูปแบบการใช้งานได้หลากหลายขึ้น เช่น งานเก็บผลไม้และงานเกษตรกรรมอื่น ๆ การดูแลผู้สูงอายุ หรืองานในสายการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมก็ตาม ทำให้ระบบการทำงานภายในโลกข้างหน้า จะมีความสะดวกสบายมากกว่าที่เคยเป็น


Jason Hafso / Unsplash

จาก "ขายีราฟ" สู่ "แนวทางการรักษาแผลหลอดเลือดดำบริเวณขา" 
ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง ถือได้ว่าเป็นโรคที่เกิดเฉพาะในมนุษย์ เนื่องจากการทำงานของหลอดเลือดดำบริเวณขาผิดปกติ ซึ่งแตกต่างจากยีราฟที่มีระยะห่างระหว่างหัวใจและเท้าเป็นสองเท่าของมนุษย์ ทั้งยังต้องรองรับน้ำตัวมหาศาล แต่กลับไม่มีความผิดปกติของหลอดเลือดดำบริเวณขาเลย จึงนับว่าเป็นแรงบันดาลใจสู่การเลียนแบบธรรมชาติจากโครงสร้างร่างกาย "ขา" ของ "ยีราฟ"

ยีราฟเป็นสัตว์ที่สูงที่สุดชนิดหนึ่งในโลก หมายความว่าเลือดของพวกมันจะต้องไหลเวียนเป็นส่วนใหญ่ผ่านขาที่ยาวลิบ ซึ่งมีระยะห่างระหว่างหัวใจและเท้ามากเป็นสองเท่าของมนุษย์ อีกทั้งยังมีกล้ามเนื้อน่องที่เล็กลง ไม่มีนิ้วเท้า และมีการเคลื่อนไหวของเอ็นข้อเท้าน้อยมาก ทว่ายีราฟมีลักษณะผิวหนังที่หนาและไม่ยืดหยุ่น ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดดำอย่างเหมาะสม สอดรับการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ว่า ในชั้นหนังแท้ของขายีราฟนั้นมีเส้นใยคอลลาเจนที่มีความหนาแน่นสูง ทำให้สามารถเคลื่อนไหวได้โดยไม่ทำให้ผิวหนังขยายตัว ดังนั้นผิวหนังของยีราฟจึงสามารถรับแรงกดทับของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังและทำหน้าที่เป็นกำแพงที่กล้ามเนื้อจะชนกันเมื่อหดตัวได้เป็นอย่างดี 

นักวิทยาศาสตร์ได้นำแรงบันดาลใจนี้ไปสร้างระบบบีบอัดเพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากแผลเรื้อรังจากหลอดเลือดดำที่ขา โดยใช้การเพิ่มแรงบีบจากภายนอกที่เท้าและน่องเพื่อไล่เลือดให้มากขึ้น 

แม้ว่าการใช้แบบจำลองสัตว์เพื่อศึกษาโรคหลอดเลือดดำเรื้อรังซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะในมนุษย์จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็สามารถพัฒนาและต่อยอดให้นวัตกรรมการรักษาในมนุษย์มีความก้าวหน้าและสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการรักษาได้มากยิ่งขึ้นในปัจจุบันและอนาคต

ทั้งหมดนี้ คือเหล่าแรงบันดาลใจจากการสังเกตสัตว์ในธรรมชาติที่ได้จุดประกายไอเดียแสนบรรเจิดอันนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ทั้งยังเป็นสิ่งเตือนใจให้กับมนุษย์ ที่มักทะนงตนว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญาและเฉลียวฉลาดที่สุด ว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ กลับให้อะไรกับมนุษย์ได้มากกว่าที่คาดคิด และเราต่างสามารถเรียนรู้จากสัตว์เหล่านั้นได้ไม่เพียงเพื่อนำมาสร้างเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของเราเอง แต่ยังช่วยโลกให้น่าอยู่สำหรับทุกชีวิตบนโลกได้อีกด้วย

ที่มา : บทความ “The best of biomimicry: Here"s 7 brilliant examples of nature-inspired design” โดย Dallon Adams 
บทความ “10 Cool Technology & Innovations inspired by Animals, Birds: Biomimicry” โดย theinnerdetail.com
บทความ “How Animals Shaped Our Modern World” โดย Emily J. Shiffer 
บทความ “Microneedles inspired by mosquitos” โดย Sophie H. 
บทความ “Painless Microneedle Inspired by Mosquitos” โดย Asknature 
บทความ “Mosquitos inspire pain-free micro-needle” โดย James Holloway 
บทความ “Snakeskin soles pop-up to help reduce falls” โดย Theengineer 
บทความ “Slip-Resistant Shoe Attachment Inspired by Snake Skin” โดย Asknature 
บทความ “Mussel-inspired surgical glue shuts down bleeding wounds in 60 seconds” โดย Nick Lavars 
บทความ “Kinder, gentler robotic arm channels its inner elephant and octopus” โดย Ben Coxworth 
บทความ “Passively Cooled Building Inspired by Termite Mounds” โดย Asknature 
บทความ “Sustainable air conditioning inspired by termites” โดย Sustainabilitymatters 
บทความ “No A/C? No problem, if buildings copy networked tunnels of termite mounds” โดย Jennifer Ouellette 
บทความ “Why animals do not develop venous ulcers?” โดย Elena Conde Montero

เรื่อง : ณัฐธิดา คำทำนอง