แปลกแต่ (ทำได้) จริง สิ่งนี้ไม่น่าจะเข้าคู่กันได้: Ig Nobel รางวัลอิหยังวะที่เชื่อว่าความฮาและความซีเรียสเข้าคู่กันได้ในงานวิจัยวิทยาศาสตร์
Technology & Innovation

แปลกแต่ (ทำได้) จริง สิ่งนี้ไม่น่าจะเข้าคู่กันได้: Ig Nobel รางวัลอิหยังวะที่เชื่อว่าความฮาและความซีเรียสเข้าคู่กันได้ในงานวิจัยวิทยาศาสตร์

  • 04 Mar 2024
  • 1182

“ประโยคที่น่าตื่นเต้นที่สุดในวงการวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เสียงตะโกนว่า ‘ยูเรก้า!’  แต่กลับเป็นเสียงพึมพำเบา ๆ ว่า ‘แปลกแฮะ…’” ไอแซค อซิมอฟ (Isaac Asimov) นักเขียนและนักชีวเคมีชาวอเมริกันเชื้อสายรัสเซีย เจ้าของงานเขียนนิยายวิทยาศาสตร์คลาสสิกชุดสถาบันสถาปนา (Foundation Series) ได้ระบุไว้ 

ประโยคดังกล่าวนำเสนอไอเดียที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการทดลองทางวิทยาศาสตร์ทุกชิ้นในโลกใบนี้ ซึ่งสะท้อนอยู่ในจุดประสงค์ของการก่อตั้งรางวัล “อิกโนเบล” (Ig Nobel) ด้วยเช่นกัน 

ดังคำขวัญประจำรางวัล “เป้าหมายของเราคือการทำให้คนหัวเราะ จากนั้นจึงทำให้คิด” 

รางวัลอิกโนเบล (Ig Nobel Prize) มีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องสิ่งแปลกประหลาด เชิดชูจินตนาการ และกระตุ้นความสนใจของผู้คนในด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และเทคโนโลยี ก่อตั้งโดย มาร์ก อับราฮัมส์ (Marc Abrahams) เขายังเป็นผู้ก่อตั้งวารสาร Annals of Improbable Research หรือ งานวิจัยที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ 

โดยคำว่า “อิก (Ig)” ในชื่อรางวัลย่อมาจากคำว่า “อิกโนเบิล (Ignoble)” ที่แปลว่า น่าอับอายหรือต่ำต้อย ซึ่งเป็นการเล่นคำล้อเลียนรางวัลโนเบล (Nobel Prize) โดยตั้งใจให้รู้สึกขำขันและขัดแย้งกับรางวัลโนเบลที่มอบให้กับผลงานที่ยิ่งใหญ่


Davidlkessler / Wikimedia Commons

ตลกไว้ก่อน แล้วค่อยคิด
ทำไมนกหัวขวานที่ใช้จะงอยตอกลงไปบนเนื้อไม้อยู่ทั้งชีวิตเพื่อใช้เป็นที่เก็บสะสมลูกโอ๊กไว้ในยามฤดูหนาว ถึงไม่รู้สึกเวียนหัว? ทำไมนักวิทยาศาสตร์หลายคนชอบเลียหิน? ทำไมคนที่ประสบความสำเร็จ มักไม่ใช่คนที่มีความสามารถสูงสุด แต่เป็นคนที่โชคดีที่สุด? และทำไมอุจจาระของเจ้าวอมแบตถึงเป็นทรงลูกบาศก์? 

“อิหยังวะ!” หลายคนอาจคิดในใจต่อคำถามเหล่านี้ แต่สำหรับอับราฮัมส์ นี่แหละคือสิ่งที่เขาตามหา ไม่เพียงแค่นั้น เขายังเห็นว่าคนเหล่านี้ควรได้รับรางวัลเสียด้วยซ้ำ 

รางวัลอิกโนเบลมีเกณฑ์การพิจารณาอย่างเรียบง่ายเพียงข้อเดียวนั่นคือ เมื่อแรกเห็นหรือได้ยินไอเดีย คุณจะต้องหัวเราะ จากนั้นคุณจึงค่อยเก็บมันมาคิด 

และใช่ครับ ตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นคือตัวอย่างงานศึกษาที่ได้รับรางวัลอิกโนเบลมาแล้วทั้งสิ้น


Bengt Oberger / Wikimedia commons

ปี 2000 อังเดร ไกม์ (Andre Geim) และ ไมเคิล แบรรี (Michael Berry) ชนะรางวัลอิกโนเบลสาขาฟิสิกส์ สำหรับการใช้แรงจากแม่เหล็กเพื่อยกกบให้ลอยเคว้งกลางอากาศได้สำเร็จ โดยการทดลองเกิดขึ้นในปี 1997

ฮ่า ๆ ได้หนึ่งขำแล้ว จากนั้นคนทั่วไปคงถามต่อ แล้วยังไงต่อนะ 

แต่สำหรับทั้งคู่ แม้ว่าการยกกบให้ลอยขึ้นจะเป็นปรากฏการณ์ที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์อยู่แล้วว่า Diamagnetism แต่อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ของทั้งคู่ก็นับเป็นครั้งแรกในการทดลองใช้แรงแม่เหล็กยกสิ่งมีชีวิต (นอกเหนือจากมนุษย์) อย่างกบให้ลอยกลางอากาศได้สำเร็จ ไกม์เคยกล่าวไว้ในปี 1997 ว่า “กบเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าโลกใบนี้มีสนามแม่เหล็ก แม้จะมีพลังอ่อน แต่ก็เพียงพอที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าทึ่งภายใต้สนามแม่เหล็กที่มีอยู่ในปัจจุบัน”

“กบที่สามารถบินได้ (The flying frog) นี้ ได้จุดประกายความสนใจในเรื่องแม่เหล็กให้กับผู้คนหลากหลายกลุ่ม ทั้งนักวิทยาศาสตร์และบุคคลทั่วไป และปฏิกิริยาตอบรับของพวกเขามักจะเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น”

จากรากฐานความสนุกในการค้นคว้าอยู่เสมอของไกม์ ส่งผลให้ 10 ปีต่อมา เขาและคอนสแตนติน โนโวเซลอฟ (Konstantin Novoselov) ชนะรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ จากการคิดค้นแผ่นอะตอมคาร์บอน หรือการ์ฟีน (graphene) ซึ่งมีคุณสมบัติน่าตื่นตาตื่นใจทางด้านไฟฟ้า ฟิสิกส์ และเคมี นับเป็นแผ่นวัสดุที่บาง แต่ก็แข็งแรงมาก ว่ากันว่า หากเทียบกับเหล็กแล้ว กราฟีนมีความแข็งแรงมากกว่าเหล็ก 100 - 200 เท่า 

สหภาพยุโรปเล็งเห็นถึงศักยภาพของกราฟีนเช่นกัน ในปี 2013 จึงริเริ่มลงทุนในโครงการ Graphene Flagship มูลค่า 1 พันล้านยูโร มุ่งเน้นไปที่การวิจัยและพัฒนากราฟีน โครงการนี้สิ้นสุดลงในปี 2023 แต่ผลลัพธ์ของโครงการจะยังคงส่งผลต่อการพัฒนาของกราฟีนต่อไปในอนาคต

หลังจากการคว้ารางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 2010 มาครองได้สำเร็จ ก็ส่งผลให้เขากลายเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกและคนเดียวที่คว้ารางวัลทั้งอิกโนเบลและโนเบลมาครอง

อิกโนเบล ส่องสปอร์ตไลต์ไปยังงานวิจัยที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ซูมเข้าไปในรายละเอียดลึก ๆ ของการค้นคว้า ผสานระหว่างความตลกและความซีเรียสจริงจังที่ซ่อนอยู่หลังม่านของเสียงหัวเราะเพื่อค้นพบว่า แท้จริงแล้วความแปลกประหลาดนี้นี่เอง ที่เป็นรากฐานให้กับการคิดค้นที่ยิ่งใหญ่ที่รอวันต่อยอด  


hahatango / Flickr

รางวัลอิกโนเบลจัดขึ้นครั้งแรกในปี 1991 ที่ Sanders Theatre หอประชุมอันทรงเกียรติในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด 1 เดือนก่อนรางวัลโนเบลจะประกาศ โดยรางวัลในแต่ละปีจะถูกแบ่งย่อยเป็น 10 หมวดหมู่ในแต่ละสาขา ล้อไปกับรางวัลต้นแบบ 6 สาขาของโนเบล และอีก 4 สาขาที่เพิ่มเข้ามา ได้แก่ สาธารณสุข วิศวกรรมศาสตร์ ชีววิทยา และงานวิจัยสหวิทยาการ แต่ทว่า ในแต่ละปีอาจมีรางวัลสาขาอื่น ๆ แทรกเข้ามาแทนที่ได้ เช่น รางวัลสาขาการจัดการ (Management Prize) รางวัลด้านกายวิภาค (Anatomy Prize) หรือ รางวัลด้านสูติศาสตร์ (Obstetrics Prize) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการเกิดขึ้นของอิกโนเบล อับราฮัมส์ผู้ก่อตั้งรางวัลกล่าวว่า ในปีแรก ๆ ที่เขามอบรางวัลนี้ เขาโดนคำวิจารณ์มากมายในการนำความตลกเข้ามาปะปนกับเรื่องซีเรียสอย่างวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะจากในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ แนวโน้มในโลกวิชาการก็มีทิศทางที่ดีขึ้นจากช่วงแรก ครั้งหนึ่งวารสารวิทยาศาสตร์ Nature เคยกล่าวถึงการประกาศรางวัลอิกโนเบลไว้ว่า “นี่น่าจะเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของปฏิทินงานวิทยาศาสตร์” 

ภายในงานประกาศรางวัลเต็มไปด้วยกิจกรรมที่สนุกสนาน ครื้นเครง และเรียกเสียงหัวเราะได้อย่างไม่หยุดหย่อน ผู้ได้รับรางวัลอิกโนเบลจะได้รับมอบรางวัลโดยผู้ชนะรางวัลโนเบลตัวจริง (และในบางโอกาส อับราฮัมส์จะเชิญผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลตัวจริงมาโชว์การทดลองแปลกแหวกแนวบนเวทีอีกด้วย) 

“เราพยายามทำให้ค่ำคืนนั้น เต็มไปด้วยเซอร์ไพรส์” อับราฮัมส์กล่าว

บนเวทียังมีกิจกรรมสนุก ๆ และแปลกประหลาดอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น กิจกรรม 24/7 Lectures คือการเชิญผู้เชี่ยวชาญ (ตัวจริงเสียงจริง) ทั้งที่ได้รับรางวัลและไม่ได้รับจากทั่วมุมโลก มาแสดงความเห็นต่อสิ่งที่พวกเขากำลังศึกษาหรือสิ่งที่เขาพบเจอจากผลการวิจัย โดยเขาจะมีเวลาพูดถึงโปรเจ็กต์ของตัวเองสองรอบ รอบแรกเล่าจัดเต็มด้วยศัพท์แสงเฉพาะทาง ในระยะเวลาเพียง 24 วินาที ตามมาด้วยการพูดเป็น “คำ” ที่คนทั่วไปสามารถฟังแล้วเข้าใจได้ แต่พูดได้แค่ 7 คำ

รวมถึงยังมีโอเปร่าขนาดย่อมที่เขียนโดยอัมบราฮัมส์เองทุกปี พร้อมด้วยนักวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นมารับบทเป็นนักแสดง สุดท้ายคือช่วงเวลาแห่งการกล่าวคำขอบคุณของผู้ที่ได้รับรางวัลในแต่ละสาขา แต่ละคนจะมีเวลาได้พูดขอบคุณคนละ 60 วิ และเมื่อครบกำหนด จะมีผู้หญิงเดินขึ้นมาบนเวทีพร้อมกล่าวคำว่า “ได้โปรดหยุดเถอะ ฉันเบื่อ” วนไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้พูดจะยอมลงจากเวที


Los Muertos Crew / Pexels

ญี่ปุ่นซิวรางวัล 17 สมัยซ้อน การันตีแหล่งกำเนิดความคิดแหวกแนว
นับตั้งแต่ปี 1991 ปัจจุบัน รางวัลอิกโนเบลถูกจัดขึ้นแล้ว 33 สมัย กำลังย่างเข้าสู่สมัยที่ 34 สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ประเทศญี่ปุ่นคว้ารางวัลมาได้ถึง 25 รางวัลจาก 33 รางวัล และเป็นการคว้าถึง 17 สมัยติดต่อกัน

ปี 2018 อับราฮัมส์จัดอิกโนเบลทัวร์ที่ประเทศญี่ปุ่น โทโมโนริ ยามาโมโตะ (Tomonori Yamamoto) นักสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์จาก Miraikan, The National Museum of Emerging Science and Innovation ได้มีโอกาสถามคำถามที่ว่า ทำไมคนญี่ปุ่นถึงได้รางวัลนี้มากมายขนาดนี้ต่ออับราฮัมส์ โดยเขาได้ตอบว่า “อาจจะเป็นเพราะในวัฒนธรรมของญี่ปุ่น หากใครสักคนตกเป็นที่สนใจของสังคมจากการทำอะไรแปลก ๆ พวกเขาก็จะภูมิใจในสิ่งนั้น”

“ญี่ปุ่นมีสภาพทางสังคมที่ทำให้ผู้คนมีความสุข เมื่อคนที่มีความแตกต่างทำอะไรแปลก ๆ พวกเขามักจะพูดว่า 'นี่คือดินแดนที่ให้กำเนิดบุคคลผู้นั้น' ซึ่งแสดงถึงความเคารพต่อความสามารถและความคิดริเริ่มอันเหนือชั้นของเขา” อับราฮัมส์กล่าว

ยามาโมโตะกล่าวเสริมว่า “ผมเชื่อว่าทักษะระดับสูงและบุคลากรที่มีพรสวรรค์มากมายในหมู่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ของญี่ปุ่น รวมถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่รองรับกลุ่มคนเหล่านี้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นก้าวหน้าทางเทคโนโลยี”

ตัวอย่างงานศึกษาที่ได้รางวัลจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2020 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทาเคชิ นิชิมูระ (Takeshi Nishimura) และทีม ได้ทำการทดลองศึกษาคลื่นความถี่ของเสียงร้องของจระเข้หลังสูดแก๊สฮีเลียม 

ยามาโมโตะมองผลงานนี้ว่า “ทีมวิจัยที่มี ผศ. นิชิมูระ ร่วมอยู่ ซึ่งได้รับรางวัลด้านเสียง (Acoustics Prize) ได้ทำการทดลองที่แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกของโลกว่า สัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ มีเสียงร้องที่เปลี่ยนแปลงไปตามระดับเสียงเมื่อสูดอากาศที่มีแก๊สฮีเลียม” หลายคนอาจจะคิดว่ามันก็แน่นอนอยู่แล้วกับแก๊สฮีเลียม “การได้ยินเสียง "จระเข้สูดฮีเลียม" อาจฟังดูตลก แต่จริง ๆ แล้วนี่เป็นงานวิจัยที่จริงจังและช่วยไขปริศนาที่เรายังไม่รู้คำตอบอีกมากมาย”

อีกสักตัวอย่างจากทีมญี่ปุ่น ในปี 2007 คุณมายู ยามาโมโตะ (Mayu Yamamoto) นักวิจัยจากศูนย์การแพทย์นานาชาติญี่ปุ่น (ปัจจุบันคือ ศูนย์การแพทย์และสุขภาพโลกแห่งชาติ) ได้รับรางวัลอิกโนเบลสาขาเคมีจากการ "พัฒนาวิธีสกัดวานิลลิน (vanillin) ซึ่งเป็นสารให้กลิ่นและรสชาติวานิลลาจากมูลวัว" แน่นอน คงไม่มีใครอยากจะชิมผลลัพธ์ชิ้นนี้ แต่มันนำเสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากของเสีย ซึ่งมีประโยชน์มากในเชิงวิทยาศาสตร์


Pixabay / Pexels

ไทยเราก็เคยชนะ และ อิหยังวะ! ไม่แพ้ชาติใดในโลก
ประเทศไทยเคยคว้าอิกโนเบลมาครองได้ 2 รางวัลนับแต่ปีก่อตั้ง ได้แก่ ในปี 2013 ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษียร ภังคานนท์และทีม ได้รับรางวัลในสาขาสาธารณสุข ในหัวข้อ “การผ่าตัดเชื่อมต่ออวัยวะเพศชายในสยาม” โดยงานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร The American Journal of Surgery ฉบับที่ 146 ปี 1983 โดยระบุว่า ในช่วงปีดังกล่าวเกิดเหตุภรรยาชาวไทยตัดอวัยวะเพศสามีบ่อยครั้ง เนื่องจากโกรธแค้นที่สามีเป็นคนเจ้าชู้ ทีมวิจัยจึงศึกษาการผ่าตัด เพื่อเชื่อมต่ออวัยวะเพศชายของคนไข้ที่ประสบเหตุจากกรณีดังกล่าว และสามารถผ่าตัดเชื่อมต่อกลับมาได้สำเร็จจำนวนถึง 18 คน ทั้งนี้ เทคนิคการผ่าตัดที่นำมาใช้ถูกต่อยอดมาจากงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในปี 1968 

อย่างไรก็ดี มีใจความตอนหนึ่งระบุไว้ในงานวิจัยว่า “อวัยวะเพศชายสามารถผ่าตัดรักษาได้ แต่หากอวัยวะเพศชายถูกตัดให้เป็ดกินไปบางส่วนแล้ว จะไม่สามารถต่อกลับไปได้อีก”


Oleksandr P / Pexels

รางวัลที่สองที่ประเทศไทยได้รับเกิดขึ้น 2 ปีต่อมา ในปี 2015 สาขาเศรษฐศาสตร์ ตำรวจนครบาลไทย ถูกเลือกให้ได้รับรางวัลจากนโยบาย “มอบเงินรางวัลให้ตำรวจที่ไม่รับสินบน” 

ความคิดที่บ้าคลั่งคือเมล็ดพันธุ์ของงานวิจัยวิทยาศาสตร์
“กล่องจดหมายของผมมีผลงานส่งเข้าชิงรางวัลไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องทุกวัน ดังนั้นจึงไม่เคยขาดแคลนผลงานที่จะพิจารณา” ความท้าทายที่แท้จริงอยู่ที่กระบวนการคัดเลือก อับราฮัมส์กล่าวต่อ “ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวสำหรับงานวิจัยที่จะชนะรางวัล สิ่งเดียวที่สำคัญคือ งานวิจัยนั้นต้องสร้างความประหลาดใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้พบเห็น” 

อับราฮัมส์เคยให้สัมภาษณ์ไว้อย่างน่าสนใจกับ The European Molecular Biology Laboratory (EMBL) เมื่อปี 2017 ต่อเส้นแบ่งระหว่างความตลก ไร้สาระ กับ ความซีเรียสจริงจังในทางวิทยาศาสตร์ ว่า “เมื่อสิ่งใดกลายเป็นที่เข้าใจและยอมรับโดยทั่วไป มันก็มักจะถูกมองว่าจริงจังและสำคัญ แต่เกือบทุกคนลืมหรือนึกไม่ถึงเลยว่า สิ่งเหล่านี้อาจเริ่มต้นมาจากสิ่งที่คนอื่นมองว่าบ้า การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายหลังจากถูกค้นพบแล้ว แต่ความจริงแล้วมันไม่เคยง่ายเลย ความเข้าใจของคุณเกี่ยวกับการศึกษานี้อาจเปลี่ยนไปอย่างมาก หากคุณใช้เวลาดูรายละเอียดของมัน” 

การคิดค้นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกิดจากการใคร่ครวญและเริ่มตั้งคำถามถึงสิ่งเล็ก ๆ จากการสังเกตสิ่งรอบตัวเสมอ ดังนั้น หากเรากลับมาที่สารตั้งต้นของรางวัลนี้ “งานที่ทำให้คุณหัวเราะ และนำมาคิดต่อในภายหลัง” แท้จริงแล้วก็คือการสร้างให้เกิดพฤติกรรมของการใคร่ครวญถึงสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา ในรูปแบบที่สนุกและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

“เมื่อการศึกษาวิจัยใดชนะรางวัลอิกโนเบล มักจะมีบางสิ่งที่น่าประหลาดใจจนปฏิกิริยาตอบสนองเบื้องต้นเพียงอย่างเดียวที่คุณจะมีได้ก็คือการหัวเราะ สิ่งนี้นำพาคุณให้หยุดและตั้งใจฟังงานวิจัย ณ จุดนี้ คุณอาจจะเริ่มคิดว่า "ว้าว ฉันจะคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป เพราะฉันอยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้" หรืออาจจะไม่ สำหรับอีกทางหนึ่ง การคิดแล้วจึงค่อยหัวเราะ เป็นกระบวนการที่ช้ากว่าและใช้การไตร่ตรองมากกว่า”

“แต่เมื่อคุณมีอารมณ์หัวเราะกับบางสิ่ง คุณสามารถฝึกตัวเองให้คิดถึงมันได้ แม้เพียงชั่วขณะ และไม่รีบไปสนใจสิ่งอื่นต่อในทันที หากคุณทำได้อย่างนั้น ผมคิดว่านั่นเป็นทักษะที่มีค่าที่คุณมอบให้ตัวเอง ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และนอกเหนือจากนั้น” 

ที่มา : เว็บไซต์ “improbable.com” 
เว็บไซต์ “Graphene Flagship” 
วิดิโอ “Marc Abrahams: A science award that makes you laugh, then think” โดย TED 
บทความ “Magnetically Speaking, Frogs Float” โดย Mark Frauenfelder 
บทความ “The Ig Nobel Prize, Which Has Had Japanese Recipients for 14 Years Running—Fascinating Research Topics, and Why Are So Many Recipients Japanese?” โดย Foreign Press Center Japan 
บทความ “Japanese Again Takes Home a Nobel — We Mean, the Satiric Prize” โดย Reina Kikkawa 
บทความ “Meet the winners of the 2023 Ig Nobel Prizes” โดย Jennifer Ouellette 
บทความ “Make ‘em laugh: the humorous path to academic success” โดย Michael J. I. Brown 
บทความ “To laugh, and then think” โดย Margaux Phares
บทความ “Diamagnetic Levitation” โดย Radbound University
บทความ “Master of Ig Nobel Prize Ceremonies Talks Humor in Science” โดย Emily Pontecorvo
บทความ “The man who levitated frogs: How one scientist's strange experiment led to a Nobel Prize” โดย Sarah Lewis 
บทความ “นักฟิสิคส์ที่ได้รับรางวัลโนเบลปีนี้ เคยได้รับรางวัล Ig Nobel สำหรับการใช้แม่เหล็กยกกบให้ลอยขึ้นในอากาศได้” โดย Nittaya Maphungphong
บทความ “ผ่า'ต่อเจ้าโลก'ได้-ไทยคว้า'อิกโนเบล''ฝรั่ง'ทึ่ง!ชี้ผลงาน6นักวิจัยสุดแปลก” โดย hfocus.org 
บทความ “Andrey Geim กับ การพบกราฟีน (graphene)” โดย ดร.สุทัศน์ ยกส้าน 
บทความ “8 Ig Nobel รางวัลวิทยาศาสตร์ที่บ้าบอสุดขีด ขั้วตรงข้ามของ Nobel” โดย Taey Ch 
บทความ “เปิดผลงาน Ig Nobel Prizes 2022 เวทีที่มอบรางวัลให้งานวิจัยแปลกๆ ที่อ่านแล้วหลุดขำ …แต่ก็มีสาระ” โดย The Matter 
บทความ “รางวัล Ig Nobel 2023 กับงานวิจัยสุดแปลก ตั้งแต่นักวิทย์เลียหินทำไม ไปจนถึงหุ่นยนต์ศพแมงมุม” โดย Tanakrit Srivilas 
บทความ “งานวิจัย “เหตุใดนักธรณีวิทยาชอบเลียหิน” พิชิตรางวัลอิกโนเบล 2023” โดย บีบีซีไทย 
บทความ “คนไทยชนะ 'อิก โนเบล' จากผลงานต่ออวัยวะเพศชาย” โดย กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี 

เรื่อง : คณิศร สันติไชยกุล