เปิดแนวคิด 5 ผู้ประกอบการนำทางสู่ Road to Net Zero กับนวัตกรรมวัสดุคาร์บอนต่ำสู่ความยั่งยืน
ผ่านปี 2024 มาเพียงครึ่งปี แต่เรื่องความแปรปรวนของโลกใบนี้กลับทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนน่าใจหาย สร้างให้เกิดความตระหนักรู้มากมายในสังคม กระนั้นการรับรู้อย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะนี่คือเวลาที่ทุกคนจะต้อง “ลงมือทำ” อย่างจริงจัง! หนึ่งในการแก้ปัญหาที่สำคัญที่หลายภาคส่วนเริ่มลงมือก็คือ การเลือกใช้ “วัสดุ” ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนมากกว่าที่เคย
ในการนี้ กิจกรรมเสวนา “Road to Net Zero: Low Carbon Material มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยวัสดุคาร์บอนต่ำ” โดยศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ (Material & Design Innovation Center หรือ MDIC) จึงเกิดขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อพาผู้คนที่สนใจมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมสร้างสรรค์ผ่านวัสดุจากผู้ประกอบการ 5 ราย ที่หวังเห็นอนาคตของโลกใบนี้ที่ยั่งยืนขึ้น
01 HEMPTHAI โดย คุณดวงฤทัย ภูมิพิเชฐ
คุณดวงฤทัยได้นำเสนอเรื่องราวของกัญชงและ “HempThai” ผ่าน 4 คีย์เวิร์ดสำคัญ ได้แก่ Circular Economy, Sustainable, Zero Waste และ Everything Transformed และแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการส่งต่อความรู้และทักษะต่าง ๆ จากรุ่นผู้ใหญ่ไปสู่เด็ก ๆ เพื่อให้เกิดเป็นความยั่งยืนต่อไป
ความพิเศษของกัญชงสำหรับความเป็น Zero Waste ก็คือความที่พืชชนิดนี้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งยังเป็นที่ต้องการสำหรับหลากอุตสาหกรรม ทำให้สามารถศึกษาและต่อยอดได้ว่า ส่วนใดจะตอบโจทย์กับอุตสาหกรรมใด ยกตัวอย่างเช่น การนำเส้นใยมาทำเป็นกระดาษหรือเสื้อผ้า หรือการต่อยอด “พลาสติกชีวภาพจากพืชกัญชง” เพื่อสร้างเป็นแพคเกจจิง อาทิ แก้ว ช้อน ส้อมใช้แล้วทิ้งที่สามารถย่อยสลายด้วยการฝังกลบภายใน 3-6 เดือนโดยไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา นอกจากนี้ หลังมีกฎหมายเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตออกมา กัญชงก็ยิ่งได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการหลายภาคส่วนมากขึ้น เนื่องจากกัญชง 1 ไร่ สามารถให้คาร์บอนเครดิตถึง 2 ตันต่อปี ทั้งยังปลูกง่ายและต้องการน้ำน้อยในการเพาะปลูกอีกด้วย จึงเหมาะจะเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่ไม่ได้เพียงมีศักยภาพสูงต่อภาคธุรกิจ แต่ยังดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
02 KENSAI โดย คุณชนัตถ์ ตันติวัฒน์พานิช
KENSAI อุตสาหกรรมเซรามิกมีประสบการณ์ในการพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์มานานกว่า 40 ปี โดยล่าสุดได้พัฒนาวัสดุบล็อกช่องลมและอิฐ Upcycle จากเศษเหลือในกระบวนการผลิตเพื่อความยั่งยืนในอนาคต โดยนำเอาวัสดุเหลือใช้หรือขยะ เช่น ดินเผาจากโรงงานอุตสาหกรรมเซรามิกมา Upcycle เพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไร้ขยะเหลือทิ้ง (Zero Waste)
โดยในอุตสาหกรรมเซรามิกนั้น มีการผลิตหลากหลายผลิตภัณฑ์ เช่น จาน ชาม และสุขภัณฑ์ ซึ่งปัญหาที่พบคือการกำจัดขยะหรือเศษวัสดุเหลือใช้ (Waste) จากโรงงาน จึงเกิดเป็นแนวคิดการนำขยะเหล่านั้นมาเพิ่มมูลค่าด้วยแนวทาง Circular Economy ผ่านโครงการของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อแก้ปัญหาการผลิตของวัสดุบล็อกช่องลมและอิฐในการปูทางพื้น
หากโรงงานไม่มีขยะเหลือ การผลิตวัสดุบล็อกช่องลมและอิฐจะทำได้ยาก ดังนั้นจึงมีการรวบรวมขยะจากโรงงานกว่า 300 แห่ง มาผ่านกระบวนการเฉพาะของทาง KENSAI ที่ผ่านคัดแยก บดหยาบ บดละเอียด และร่อนคัดขนาด เพื่อ Upcycle ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปอย่างไร้ขยะเหลือทิ้ง
03 WHOLESOME LAB โดย คุณสิริยุภา เนตรมัย
“WHOLESOME LAB” เกิดจากการรวมตัวกันของนักศึกษา นักวิจัย และอาจารย์ ภายใต้ความพยายามในการแก้ปัญหาหลักร่วมกัน ซึ่งก็คือเรื่องของ “การลดขยะอาหาร” ที่ปัจจุบันมีปริมาณค่อนข้างมาก เนื่องด้วยสาเหตุต่าง ๆ ทั้งจากกระบวนการขนส่ง การบรรจุหรือแพ็กที่ผิดวิธี ทำให้ผลผลิตเสียก่อนเวลา หรือมีตำหนิไม่สามารถขายได้ รวมถึงขั้นตอนการปรุงอาหาร ไปจนมิติของการบริโภค ที่ทำให้วัตถุดิบและอาหารจำนวนมากไม่เคยได้มีโอกาสเสิร์ฟขึ้นโต๊ะเลย
ดังนี้ นวัตกรรม “ฟิล์มบริโภคได้” (Edible Film) ที่มีรสชาติและกลิ่นเสมือนวัตถุดิบจริงจึงเกิดขึ้น โดยผลิตภัณฑ์นี้มีกระบวนการผลิตที่คล้ายการทำมะม่วงแผ่น เพียงแต่ใช้วัตถุดิบที่ต่างออกไป เน้นเป็นผลผลิตที่ยังกินได้แต่มักถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะอาหาร เช่น ผลไม้ที่สุกจนงอม หรือผักที่ไม่สวยตามมาตรฐานการขาย มาใช้แทนมะม่วง ทำให้อาหารที่เคยถูกทิ้งโดยไม่จำเป็นได้กลับเข้าไปอยู่ในจานอาหารได้อย่างคุ้มค่า ตามสูตรที่พัฒนาขึ้นมาอย่างหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่ต่างกัน เช่น บางสูตรพัฒนาให้มีความนิ่ม บางสูตรเน้นความหอม และบ้างก็เน้นความแข็งกรอบ เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น ฟิล์มสูตรหนึ่งมีลักษณะผิวสัมผัสคล้ายสาหร่าย ทำให้เมื่อรับประทานไปแล้วรู้สึกเหมือนได้รับประทานสาหร่ายจริง ๆ ขณะที่ฟิล์มอีกสูตรจากผักชีตัดแต่ง ก็ทำให้ผักชีที่รู้กันว่าเน่าเสียง่าย สามารถอยู่ได้ (ในอีกรูปแบบ) นานถึง 3 เดือน ทั้งยังเป็นซองที่ใส่เครื่องทั้งหมดของข้าวต้มไว้ ทำให้เพียงแค่ละลายน้ำก็สามารถสร้างเมนูข้าวต้มที่ทั้งหอมทั้งอร่อย นับเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดขยะอาหาร และเพิ่มมูลค่าให้กับของเสียอีกด้วย
04 WASTEMATTERS โดย คุณพิมพิพัฒน์ ห้องดุลย์ และ คุณจารวี บุญศิริ
คุณพิมพิพัฒน์ และคุณจารวี เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นสถาปนิก ผู้ประกอบธุรกิจด้านการออกแบบและตกแต่งภายใน อันเป็นงานที่ต้องคำนึงถึงความงามเป็นสำคัญ แต่พวกเขาตระหนักว่าความสวยงามนั้นกลับมีวันหมดอายุ และถูกกลายร่างเป็นขยะหรือเศษวัสดุในอุตสาหกรรมก่อสร้างจำนวนมากที่ไม่มีใครต้องการ ทั้งสองจึงมีแนวคิดน่าสนใจในการนำความสามารถทางด้านการออกแบบมาผสมผสานกับการจัดการปัญหาขยะหรือวัสดุเหลือใช้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์ที่มีทั้งประโยชน์ใช้สอยและความงดงามไปพร้อมกัน
นอกเหนือจากเศษวัสดุในอุตสาหกรรมก่อสร้างแล้ว ทั้งสองยังหันมาให้ความสนใจกับเศษอาหารหรือ Food Waste ซึ่งเป็นขยะจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมอาหารและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง โดยมีความตั้งใจที่จะนำ Food Waste มาต่อยอดสร้างเป็นมูลค่าสูงสุด เนื่องจากในชีวิตประจำวันเรามักจะพบเห็นขยะจากเศษอาหารและการประกอบอาหารมากมาย ซึ่งมักถูกทิ้งโดยไม่ได้รับการนำไปใช้ประโยชน์ต่อ จากนั้นพวกเขาจึงเริ่มนำขยะจากสิ่งของในครัวที่ไม่มีการนำไปต่อยอดและถูกทับถมรวมกันมาผ่านกระบวนการแปรรูป คัดแยก เพื่อสร้างให้เกิดประโยชน์ใช้สอยและความงดงามควบคู่กันไป
แนวคิดหลักคือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและสวยงาม จากการนำของเสียหรือขยะในอุตสาหกรรมอาหาร ผสานกับเศษวัสดุในอุตสาหกรรมก่อสร้างมาต่อยอด จึงเป็นการเปลี่ยนมุมมองของคนเกี่ยวกับขยะเหล่านี้ที่เคยถูกมองว่าไร้ประโยชน์ให้กลายเป็นของมีคุณค่า เสมือนการเก็บขวดพลาสติกแล้วนำไปขายเพื่อสร้างรายได้ เป็นกระบวนการนำขยะแปรรูปกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ และมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะหรือวัสดุเหลือใช้อย่างยั่งยืน
05 GLISTEN DESIGN โดย คุณจุฑามาศ บุญพงษ์
ความพยายามตั้งแต่ปี 2019 ของ GLISTEN DESIGN ได้ช่วยเปลี่ยนเศษเหลือจากอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะ “Wrapping Car Film” ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ และมักถูกนำไปผ่านกระบวนการเผาไหม้ให้เกิดคาร์บอน มาพัฒนาและต่อยอด Upcycle ทั้งด้านดีไซน์และคุณสมบัติให้กลายเป็นวัสดุที่ทนทาน สวยงาม และใช้งานได้จริง ด้วยการใช้ทักษะงานคราฟต์ และการถักทอเข้ามาช่วยอีกแรง ทำให้เกิดเป็นวัสดุใหม่ที่มีข้อดีในด้านของการกันน้ำ กันกรดด่าง ทนความร้อน และยืดหยุ่น ขณะที่วัสดุแต่ละรอบก็จะมีความโดดเด่นของสีที่แตกต่าง ตามแต่เศษเหลือที่ได้รับมาแต่ละรอบนั่นเอง
โดยในปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาสินค้าจากวัสดุเหล่านี้ให้มีการใช้งานที่หลากหลายและตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของตกแต่งบ้าน ของใช้คู่เรือน และสินค้าแฟชั่น นับเป็นการลดขยะเพื่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนวงการงานฝีมือและหัตถกรรมเพื่อผลักดันสู่สากล
จะเห็นได้ว่า เบื้องหลังความพยายามของผู้ประกอบการทั้ง 5 รายนี้ ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบ ด้วยการลดขยะและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัสดุเหลือใช้ ซึ่งเป็นแนวทางที่น่าสนใจและคู่ควรแก่การสนับสนุน มาร่วมเปิดมุมมองกับพวกเขาให้มากขึ้นผ่านวัสดุทางเลือกที่น่าสนใจได้ที่การจัดแสดงนวัตกรรมวัสดุ “Road to Net Zero : Low Carbon Material มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยวัสดุคาร์บอนต่ำ” ณ TCDC กรุงเทพฯ ห้อง Material & Design Innovation Center (MDIC) ชั้น 2 ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน - 25 สิงหาคม 2567 เวลา 10.30 - 19.00 น. (ปิดวันจันทร์)
ที่มา : กิจกรรมเสวนา “Road to Net Zero : Low Carbon Material มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยวัสดุคาร์บอนต่ำ”
เรื่อง : กองบรรณาธิการ