“AI” การปลดแอกทางนวัตกรรม เทคโนโลยีสารพัดประโยชน์และความท้าทายทางด้านจริยธรรม
Technology & Innovation

“AI” การปลดแอกทางนวัตกรรม เทคโนโลยีสารพัดประโยชน์และความท้าทายทางด้านจริยธรรม

  • 11 Jul 2024
  • 222

ในโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน บริษัทเทคโนโลยีต่างต้องเร่งพัฒนาให้ทันความต้องการของผู้ใช้ การใช้โปรแกรมประมวลผลในรูปแบบเดิมอาจไม่เพียงพอหรือไม่รวดเร็วทันใจ การพัฒนา AI จึงเป็นสิ่งที่บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ ทำกันเป็นเรื่องปกติ และเทคโนโลยี AI ก็เข้าถึงผู้ใช้งานได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน เพียงแค่เข้าเว็บไซต์แล้วพิมพ์ค้นหา ไม่ว่าใครก็สามารถใช้งานและช่วยกันพัฒนา AI ได้ นอกจากนี้ ยังถูกใช้อย่างแพร่หลายในวงการแพทย์และอุตสาหกรรมบันเทิงอีกด้วย แต่เทคโนโลยีที่ว่าจะมีเพียงแค่ประโยชน์เท่านั้นจริง ๆ หรือ

Artificial Intelligence (AI) หรือที่เรียกว่าปัญญาประดิษฐ์ คือการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้สามารถทำสิ่งที่ปกติแล้วต้องใช้ปัญญาของมนุษย์ในการทำสิ่งนั้น เช่น การประมวลผลภาพ การรับรู้เสียง การตัดสินใจ หรือการแปลภาษา แต่ปัจจุบันมนุษย์ได้พัฒนา AI จนถึงจุดที่สามารถทำผลงานที่ใกล้เคียงกับการสร้างสรรค์ของมนุษย์ได้ เช่น การวาดรูป การถ่ายภาพ การร้องเพลง หรือแม้แต่การเขียนบทความ


UN Geneva / Flickr

กว่าจะมาเป็น AI เราต้องเสียอะไรไป และได้อะไรกลับคืนมา
แม้จะดูเหมือนเป็นเทคโนโลยีที่ง่ายดายและรวดเร็ว เพียงแค่พิมพ์คำสั่งไม่กี่คำ AI ก็ประมวลผลออกมาให้เสร็จสรรพ แต่เมื่อมองย้อนไปยังต้นน้ำ การพัฒนา AI จำเป็นต้องใช้ข้อมูลมหาศาล ซึ่งอาจหามาด้วยวิธีถูกกฎหมายได้ยาก ทำให้ผู้พัฒนาเลือกที่จะ ‘หยิบ’ ข้อมูลหรือผลงานของผู้อื่นมาใช้โดยไม่มีการขอล่วงหน้า ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า “นวัตกรรม”

มีงานวิจัยหลายฉบับที่กล่าวถึงความปลอดภัยของทรัพย์สินทางปัญญาที่หายไป เมื่อ AI เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมถึงความปลอดภัยทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงด้วย ในบทความ “AI Doesn’t Kill Jobs? Tell That to Freelancers: AI ไม่ได้แย่งงานงั้นหรือ? ลองพูดคำนี้กับฟรีแลนซ์สิ” โดย คริสโตเฟอร์ มิมส์ (Christopher Mims) ได้ยกตัวอย่างงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยวอชิงตันในเซนต์หลุยส์ และมหาวิทยาลัยฮ่องกง ซึ่งพบว่าตั้งแต่มีการเปิดตัวโปรแกรม ChatGPT และโปรแกรมเจเนอเรตงานเขียนและรูปภาพด้วย AI อื่น ๆ จำนวนการโพสต์หาคนทำงานฟรีแลนซ์ในเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Upwork และ Fiverr รวมถึงเว็บไซต์ติดต่อหางานฟรีแลนซ์เจ้าอื่น ๆ ล้วนแต่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานที่สามารถใช้ AI ทำได้ ที่มีอัตราการว่าจ้างลดลงถึง 21% 

ในบทความยังมีฟรีแลนเซอร์อีกหลายคนที่พูดถึงปัญหาเหล่านี้ เช่น ผู้ว่าจ้างเรียกใช้งานฟรีแลนซ์เพราะได้ใช้ AI ในการเจเนอเรตงานแล้ว แต่งานที่ได้นั้นคุณภาพแย่เกินไป หลังจากผิดหวังจากการใช้ AI ทำงาน ถึงค่อยมาจ้างงานฟรีแลนซ์ให้ช่วยแก้ไข โดยเจนนิเฟอร์ เคลลี (Jennifer Kelly) ก็อปปี้ไรเตอร์ ได้กล่าวถึงประสบการณ์ของเธอว่า “นี่ไม่ใช่การแก้ไข แต่คุณต้องทำมันขึ้นมาใหม่ทั้งหมด” ในขณะที่รีด เซาเธิน (Reid Southen) ฟรีแลนซ์สายกราฟิกก็ยืนยันเช่นกันว่า ให้ลองไปถามอาร์ตติสต์คนอื่นได้เลย เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเจอนายจ้างที่ใช้ภาพจาก AI เป็นตัวอย่างในการอ้างอิง หรือแม้แต่เสียโอกาสในการได้งานไปเพราะ AI เพราะปัจจุบันคนเลือกที่จะใช้ AI ก่อน หากผลที่ได้ออกมาไม่น่าพึงพอใจ จึงค่อยมองหาฟรีแลนซ์


Tara Winstead / Pexels

การพัฒนา AI ยังเป็นที่ถกเถียงกันในแวดวงสิ่งแวดล้อม ในบทความของ Forbes หัวข้อ “AI Is Accelerating the Loss of Our Scarcest Natural Resource: Water” หรือ AI กำลังเร่งเวลาสู่การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังเป็นที่ขาดแคลนที่สุด นั่นคือน้ำ โดยซินดี้ กอร์ดอน (Cindy Gordon) ได้มีการพูดถึงผลกระทบของ AI ต่อปริมาณการใช้น้ำ อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังขาดแคลนอยู่ในปัจจุบันด้วย เนื่องจากต้องใช้น้ำจำนวนมหาศาลในการลดอุณหภูมิเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ในการพัฒนา AI 

ในขณะที่ ChatGPT และโปรแกรม AI ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันนั้นถูกยกย่องให้เป็นกูเกิลแห่งใหม่ (The New Google) มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า เมื่อเราใช้กูเกิลในการค้นหาหนึ่งครั้ง เราจำเป็นต้องใช้น้ำประมาณครึ่งมิลลิลิตร แต่ ChatGTP กลับใช้น้ำถึง 500 มิลลิลิตรในทุก 5 ถึง 50 ข้อความที่ถูกป้อนสู่โปรแกรม AI นอกจากนี้ การพัฒนา AI ยังจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าอีกมหาศาลเช่นกัน


Marcus Aurelius / Pexels

อเล็กซานดรา รีฟ กิฟเวนส์ (Alexandra Reeve Givens) ประธานองค์กรไม่แสวงผลกำไร Center for Democracy & Technology ได้พูดถึง AI ในอีกแง่มุมหนึ่งว่า AI มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนชีวิตของผู้พิการได้ เพียงแต่ต้องใช้ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม

“เราก็ได้เห็นกันแล้ว (ว่าเทคโนโลยีนี้มีประโยชน์อย่างไร) อย่างเช่น เทคโนโลยีช่วยพิมพ์ข้อความโดยการใช้เสียงพูด สำหรับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตหรือผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง วิธีที่พวกเขาจะสื่อสารกับโลกภายนอกได้ทันทีก็คือเทคโนโลยีเหล่านี้

ในด้านของการศึกษาเกี่ยวกับระบบประสาท ตอนนี้ก็มีความก้าวหน้าด้านการรักษามากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เราจะกระตุ้นระบบประสาทอย่างไรให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหวและเจ้าของร่างกายสามารถควบคุมได้ ผ่านเทคโนโลยีสำหรับผู้พิการเหล่านี้ แต่การใช้ AI ก็ต้องบาลานซ์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้ดี ทั้งในตอนนี้และในอนาคต เราจะทำอย่างไรให้แน่ใจว่า AI นั้นจะไม่อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ รวมทั้งต้องเคารพสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และโอกาสทางเศรษฐกิจ เราควรจะหารือกันว่าจะยืนหยัดในคำสัญญาเหล่านี้ได้อย่างไร”

AI เป็นการพูดรวม ๆ ถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีหลากหลายเทคโนโลยีและมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน AI มีทั้งในรูปแบบเทคโนโลยีแชตบอต (ChatBot) ที่ใช้รูปแบบการโต้ตอบกับผู้ใช้งานผ่านการพิมพ์แชต โดยมีทั้ง AI ที่สามารถตอบคำถามในเรื่องที่คุณสงสัย และ AI ที่โต้ตอบผ่านบทบาทที่ถูกเขียนโปรแกรมไว้ เช่น อาจจะโรลเพลย์เป็นเพื่อน เป็นแฟน หรือเป็นคาแรกเตอร์ที่คุณชื่นชอบ นอกจากนี้ยังมี AI ที่ใช้สร้างรูปภาพหรือบทความ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนให้เหล่านักสร้างสรรค์ได้ถกเถียงกันว่า เทคโนโลยีนี้มาจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่

อย่างไรก็ตาม AI ยังเป็นเทคโนโลยีที่ถูกใช้ในวงการการแพทย์เพื่อพัฒนาคุณภาพการรักษา รวมถึงใช้ในการกายภาพบำบัด หลายบริษัทและหลายองค์กรในปัจจุบันก็มีการใช้ AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย เช่น การใช้ AI ในการพัฒนาเครื่องจักรให้ทำงานที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตแทนมนุษย์ เช่นในอุตสาหกรรมถ่านหิน หรือการสำรวจทางทะเล ส่วนในประเทศไทยนั้น มีกรณีของบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ผู้ให้บริการรถเมล์โดยสารที่ใช้เทคโนโลยี AI ในการตรวจสอบพฤติกรรมคนขับรถเมล์ เพื่อไม่ให้ขับเร็วจนเกินไป และจอดรับผู้โดยสารทุกป้าย หากพบว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น สูบบุหรี่หรือคุยโทรศัพท์ขณะขับขี่ AI เหล่านี้ก็จะตรวจจับพฤติกรรมได้เช่นกัน

ประโยชน์ของ AI นั้นมีอยู่มหาศาลแบบที่ไม่มีใครอาจปฏิเสธได้ในโลกทุกวันนี้ แต่ความท้าทายที่มาพร้อมกัน ก็คือการได้มาซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ประมวลผลในเพียงชั่ววินาที และผลลัพธ์จากการใช้งานที่แตกต่างหลากหลายของมนุษย์ด้วยกันเอง

ที่มา : บทความ “OpenAI destroyed a trove of books used to train AI models. The employees who collected the data are gone.” โดย Darius Rafieyan และ Hasan Chowdhury
บทความ “Data Authenticity, Consent, and Provenance for AI Are All Broken: What Will It Take to Fix Them?” โดย Media Lab, Massachusetts Institute of Technology, Cambridge, USA
บทความ “AI is exhausting the power grid. Tech firms are seeking a miracle solution.” โดย Evan Halper และ Caroline O'Donovan
บทความ “AI Is Accelerating the Loss of Our Scarcest Natural Resource: Water” โดย Cindy Gordon
บทความ “AI Doesn’t Kill Jobs? Tell That to Freelancers” โดย Christopher Mims
บทความ “รถเมล์ใช้ AI ตรวจวินัยการขับ ซิ่ง-ไม่เข้าป้าย-พฤติกรรมไม่เหมาะสม ตัดเงิน” โดย 
บทความ “รวม 30 เครื่องมือ AI ที่จะช่วยให้การทำธุรกิจง่ายกว่าเดิม” โดย Pimlapat Phansuathong
บทความ “Artificial intelligence (AI) คืออะไร ? เครื่องมือไหนบ้างที่ใช้” โดย Mandala Team
บทความ “AI’s excessive water consumption threatens to drown out its environmental contributions” โดย Joyeeta Gupta, Hilmer Bosch และ Luc van Vliet
วิดิโอ “AI has the potential to transform the lives of people with disabilities, says this expert” โดย World Economic Forum

เรื่อง : ชลธิชา แสงสีดา