Deepfake เทคโนโลยีสลับใบหน้า อีกด้านหนึ่งของ AI ที่เริ่มเป็นภัยต่อความเป็นมนุษย์
Technology & Innovation

Deepfake เทคโนโลยีสลับใบหน้า อีกด้านหนึ่งของ AI ที่เริ่มเป็นภัยต่อความเป็นมนุษย์

  • 12 Jul 2024
  • 707

“ดีปเฟก (Deepfake)” คือเทคโนโลยีสังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่เกิดจากการพัฒนา AI เช่นเดียวกัน คำว่าดีปเฟก มาจากการรวมกันของคำว่า Deep ที่ถูกหยิบมาจาก AI Deep-learning Technology หรือเทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิงชนิดหนึ่งที่มีการประมวลผลซับซ้อนหลายขั้นตอน และคำว่า Fake ที่แปลว่าไม่จริง คำว่าดีปเฟกถูกนำมาใช้ในปี 2017 ในเว็บไซต์ Reddit โดยเริ่มจากที่มีคนสร้าง Subreddit หรือ ซับเรดดิต ซึ่งเปรียบเสมือนกลุ่มย่อยหรือหมวดหมู่บนเว็บไซต์ Reddit โดยตั้งชื่อซับเรดดิตนั้นว่า ‘deepfakes’ แล้วเริ่มโพสต์วิดีโอที่นำเทคโนโลยีสลับใบหน้ามาใช้ในการเอาจุดที่คล้ายดาราเซเลบริตีไปใส่ในวิดีโอประเภทสื่อลามก

Acadereality Animation Services ได้เขียนบทความเกี่ยวกับ “การสลับใบหน้าด้วยดีปเฟกเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไปตลอดกาลได้อย่างไร” โดยได้ยกตัวอย่างว่า การใช้ดีปเฟกในการแทนหน้านักแสดงตัวจริงนั้น ทำให้มีความจำเป็นต้องสร้างมาตรการจัดการกับปัญหาเรื่องศีลธรรม เช่น ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า นักแสดงให้ความสมัครใจ รวมทั้งต้องใส่ใจเรื่องความเป็นส่วนตัว และอาจเป็นไปได้ว่า จะถูกนำใบหน้าไปใช้ในทางที่ผิด

อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลนับตั้งแต่ที่โลกได้รู้จักเทคโนโลยีดีปเฟกก็คือ “การชุบชีวิตนักแสดง” หากเกิดเหตุไม่คาดฝันในระหว่างที่ยังถ่ายทำภาพยนตร์ไม่เสร็จ การบาดเจ็บหรือการจากไปตลอดกาลของนักแสดง อาจทำให้เนื้อเรื่องในภาพยนตร์เสียหายหรือขาดตอนได้ เทคโนโลยีดีปเฟกจะสามารถช่วยอุดช่องว่างในจุดนั้น ชุบชีวิตนักแสดงขึ้นมาในโลกดิจิทัล ให้ตัวละครที่เขาเล่น ยังคงโลดแล่นต่อไปได้ แม้ว่านักแสดงคนนั้นจะล่วงลับไปแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในการช่วยลดเวลาการทำงานของแรงงานฝ่ายวิชวลเอฟเฟ็กต์ และช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการแคสติงหรือการหานักแสดงได้อีกด้วย เพราะไม่จำเป็นต้องหานักแสดงที่มีหน้าตาตรงกับคาแรกเตอร์เป๊ะแบบ 100% และเมื่อข้อจำกัดเหล่านี้หายไป จะทำให้สามารถเล่าเรื่องได้หลากหลายและครอบคลุมคนหลายกลุ่มได้มากขึ้น


Wikimedia Commons

นอกจากนี้ ดีปเฟกยังช่วยในเรื่องการตัดต่อวิดีโอให้นักแสดงสามารถรักษามาตรฐานการแสดงไว้ได้คงที่ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยสามารถใช้เพื่อปรับเปลี่ยนการแสดงออกทางสีหน้า บทพูด หรือแม้แต่อารมณ์ในภายหลังได้ ดังนั้นดีปเฟกจึงเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์มหาศาลในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

อย่างไรก็ตาม อย่างที่ได้เกริ่นไปในตอนต้นว่า เทคโนโลยีดีปเฟกนั้นจำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงหลักการด้านจริยธรรม ความยินยอม และความเป็นส่วนตัวของผู้ที่เรานำใบหน้ามาใช้ก่อนเสมอ เพราะหากนำไปใช้โดยไม่คำนึงถึงหลักการเหล่านี้ แน่นอนว่ามักจะมีปัญหาตามมา

เมื่อหนึ่งปีก่อนมีข่าวฉาวในวงการสตรีมเมอร์อเมริกันเกิดขึ้น เมื่อสตรีมเมอร์หนุ่ม บรานดอน ยูวิง (Brandon Ewing) หรือที่เป็นที่รู้จักในวงการสตรีมเมอร์ว่า Atrioc ถูกจับได้ในระหว่างการสตรีม ว่าเขาได้ดูสื่อลามกที่สร้างจากเทคโนโลยีดีปเฟก โดยใช้ใบหน้าของสตรีมเมอร์สาวชื่อดังคนหนึ่ง ในภายหลัง Atrioc ได้ออกมายอมรับว่า เขาได้มีการจ่ายเงินให้กับเว็บไซต์เหล่านี้เพื่อดูสื่อลามกที่ไม่ได้เกิดจากความยินยอมของเหยื่อที่ถูกนำใบหน้าไปใช้ และได้ออกมาไลฟ์ขอโทษทั้งน้ำตาพร้อมกับภรรยาของเขา

เหยื่อในเหตุการณ์นี้อย่าง แบลร์ (Blaire) หรือที่รู้จักชื่อในวงการสตรีมเมอร์ว่า QTCinderella สตรีมเมอร์สาวชื่อดังชาวอเมริกันที่ตอนนี้มีผู้ติดตามกว่าหนึ่งล้านคน ได้ออกมาพูดถึงเหตุการณ์นี้ผ่านสตรีมของเธอว่า “นี่แหละคือความรู้สึกของการโดนล่วงละเมิด นี่คือความรู้สึกของการถูกเอาเปรียบ นี่คือความรู้สึกเวลาคุณเห็นตัวเองเปลือยกายว่อนไปทั่วอินเทอร์เน็ตทั้งที่ไม่ยินยอม” เธอกล่าวประโยคนี้ด้วยใบหน้าที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดและรอยน้ำตา

หลังจากที่ได้ด่าทอ Atrioc และคนที่ส่งรูปภาพดีปเฟกของเธอเข้ามาในกล่องข้อความ เธอก็ได้เสริมอีกว่า นี่แหละคือหน้าตาของความเจ็บปวด และไม่ควรจะเป็นเธอที่ต้องจ่ายเงินเพื่อลบสื่อลามกนั้นออกไป ไม่ควรเป็นเธอที่ต้องถูกล่วงละเมิดทางเพศและได้เห็นรูปเปลือยของตัวเองถูกเผยแพร่ และเธอสัญญาว่าจะฟ้องร้องคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้หมด


ApolitikNow / Flickr

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งสตรีมเมอร์สาวที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ดีปเฟกสร้างสื่อลามกจากใบหน้าของเธอโดยไม่ยินยอมอย่าง Sweet Anita สตรีมเมอร์ผู้ที่ไม่เคยปิดบังถึงอาการจากโรคทูเร็ตต์ (อาการกล้ามเนื้อกระตุก) กับผู้ชมของเธอ ซึ่งได้ออกมาพูดถึงประสบการณ์การเจอสื่อลามกจากดีปเฟกของเธอด้วยเช่นเดียวกัน ว่ามันทำให้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยที่เธอมีอยู่แล้วหนักหนายิ่งขึ้นอีก

“มันไม่มีทางหนีพ้น มันจะถูกเผยแพร่ตลอดไป มันคืออีกด้านหนึ่งที่ฉันต้องรับมือกับมันให้ได้ ไม่มีทางเอามันกลับมาได้แล้ว”

“ถ้าฉันอายุ 20 ปี กำลังหางานหรือทำบางสิ่งที่สำคัญกับชีวิต แล้วมีคนพบคลิปลามกของฉัน แต่พวกเขาไม่รู้เบื้องลึกเบื้องหลัง พวกเขาคงจะไล่ฉันออก หรือไม่ก็ไม่จ้างฉันแต่แรกมากกว่าจะมานั่งถามหาข้อเท็จจริง”

Sweet Anita ยังได้เสริมอีกว่า หากคนคิดว่าคุณเป็นผู้ทำงานบริการทางเพศ พวกเขาก็จะคิดว่ามันโอเคหากจะสัมผัสคุณ พวกเขาจะคิดว่าพวกเขามีสิทธิ์ทำร้ายคุณได้ มันทำให้คุณต้องรับมือกับคำครหาจากคนอื่นและถูกด้อยค่า คุณจะสูญเสียการป้องกันทางสังคม และตอนนี้เธอก็กำลังใช้ชีวิตกับผลกระทบเหล่านี้ ทั้งที่เธอไม่เคยเลือกที่จะทำมันเลยด้วยซ้ำ

งานวิจัยโดย Sensity AI พบว่า เหล่าดีปเฟกในปี 2018 ที่อยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตนั้น มีถึง 96% ที่เป็นสื่อลามกที่ไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของใบหน้า และ 99% ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง โดยผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงเซเลบริตีหรือคนดังเท่านั้น แต่ยังมีการสั่งทำสื่อลามกแบบตามสั่ง ที่ไม่ว่าจะเป็นใบหน้าใครก็ถูกนำมาใช้ได้ และมีแนวโน้มว่าเทคโนโลยีดีปเฟกที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น จะทำให้โลกอินเทอร์เน็ตกลายเป็นพื้นที่แห่งความไม่ปลอดภัยด้านความเป็นส่วนตัว ที่แม้แต่ใบหน้าและเสียงของใครก็ตาม ล้วนถูกนำไปสร้างข่าวปลอมและสื่อลามกได้อย่างง่ายดาย


Ministerie van Buitenlandse Zaken / Flickr

แล้วกฎหมายมีมาตรการรับมืออย่างไร?
ในปี 2019 รัฐเวอร์จิเนียได้เพิ่มข้อกฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมสื่อลามกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการแก้แค้น (Revenge Porn) โดยได้ครอบคลุมถึง “การสร้างสื่อวิดีโอหรือภาพนิ่งที่เป็นเท็จ” ที่หากละเมิดจะถือว่าเป็นความผิดทางอาญาชั้น 1 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกิน 12 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,500 เหรียญสหรัฐ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 91,182 บาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนข่าวเกี่ยวกับมาตรการรับมือข่าวปลอมและสื่อลามกจากดีปเฟกในสหรัฐอเมริกาล่าสุด ปี 2024 นี้ สหรัฐอเมริกากำลังร่างกฎหมายเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดีปเฟกในทางที่ผิด โดยร่างกฎหมายนี้ถูกเสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Trade Commission : FTC)  โดยได้ให้เหตุผลว่า มิจฉาชีพอาจใช้ AI ในการเลียนเสียงหรือทำข่าวปลอมของบุคคลเพื่อใช้ในการหลอกลวงประชาชนได้ และในขณะที่กฎหมายนี้มีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งการหลอกลวงจากมิจฉาชีพ มันยังมีประโยชน์ต่อการคัดกรองข่าวเท็จช่วงเลือกตั้งอีกด้วย นอกจากนี้ฝ่ายทำเนียบขาวยังได้ออกมาผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีปิดช่องทางค้าขายที่เกิดจากการล่วงละเมิดทางเพศโดยใช้เอไอดีปเฟกลงไปซะ เพราะปัจจุบันมีเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่มีจุดขายคือสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างหรือดัดแปลงรูปภาพให้กลายเป็นสื่อลามกโดยปราศจากความยินยอม โดยเหยื่อของการล่วงละเมิดด้วยดีปเฟกควรสามารถลบมันทิ้งได้อย่างง่ายดายด้วยตนเอง ถึงแม้ว่าทำเนียบขาวจะมีการพูดคุยและขอความร่วมมือจากบริษัทต่าง ๆ ที่พัฒนา AI ให้ใส่ใจในเรื่องนี้ เจนนิเฟอร์ ไคลน์ (Jennifer Klein) ผู้อำนวยการสภานโยบายเพศสภาวะของทำเนียบขาว (White House Gender Policy Council) ยังได้เสริมอีกด้วยว่า การออกมาพูดกับบริษัทต่าง ๆ ในวันนี้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงว่ารัฐสภาก็ต้องทำอะไรสักอย่างด้วยเช่นกัน

ในด้านของประเทศไทย โชคดีที่มีกฎหมายที่ครอบคลุมในกรณีนี้อยู่แล้ว การคุ้มครองเหยื่อที่โดนล่วงละเมิดโดยดีปเฟกนั้นอยู่ภายใต้กฎหมายมาตราที่ 14 และมาตราที่ 16 ตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับความผิดทางคอมพิวเตอร์ หากผู้ใดกระทำการตัดต่อ แต่งเติม หรือแม้แต่สร้างสื่อที่สร้างความอับอายด้วยดีปเฟก จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท โดยการคุ้มครองนี้ยังครอบคลุมไปถึงบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้วด้วย

ไม่เพียงแค่ดีปเฟกเท่านั้น แต่เทคโนโลยีที่เกิดจาก AI โดยรวมแล้วมีทั้งประโยชน์และโทษ ขึ้นอยู่กับว่าผู้พัฒนาตั้งใจให้ถูกใช้ไปในทิศทางใด และผู้ใช้งานเลือกที่จะใช้มันอย่างไร เทคโนโลยี AI หากถูกใช้ในทางที่ดีจะสามารถช่วยทุ่นแรงของมนุษย์และพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ได้ เช่นในแวดวงสุขภาพที่มีการใช้ AI ในการทำกายภาพบำบัด หรือใช้คำนวณหาแนวทางการรักษา หรือในวงการภาพยนตร์ที่ถูกใช้ในการพัฒนา Visual Effect ให้ตัวละครได้โลดแล่นอย่างสมจริงตามจินตนาการของผู้สร้าง ในขณะที่หากถูกใช้ในทางที่ผิด จะกลายเป็นเครื่องมือการละเมิดสิทธิและความเป็นมนุษย์ได้อย่างร้ายกาจเช่นเดียวกัน ดังนั้นทั้งผู้ใช้ AI และผู้ที่รับสารจาก AI จึงควรคำนึงถึงหลักจริยธรรมและมีวิจารณญาณอยู่เสมอ

ที่มา : บทความ “White House pushes tech industry to shut down market for sexually abusive AI deepfakes” โดย Matt O'Brien และ Barbara Ortutay
บทความ “How Deepfake Face Swapping is permanently altering the film industry?” จาก Acadereality Animation Services
บทความ “Powerless in Porn: Twitch streamer says 'there's no moving on' after deepfake scandal” โดย Sam Leader
บทความ “Deepfake Porn Creator Deletes Internet Presence After Tearful 'Atrioc' Apology” โดย Samantha Cole
บทความ “Popular Female Twitch Streamers Targeted In Deepfake Pornography Scandal” โดย Alyssa Mercante
บทความ “Nonconsensual deepfake porn is an emergency that is ruining lives” โดย Arwa Mahdawi
บทความ “The US is drafting new laws to protect against AI-generated deepfakes” โดย Simon Torkington
บทความ “Deepfake ภัยร้ายผู้หญิง อาวุธพิฆาตทางการเมือง” จาก ไทยรัฐออนไลน์

เรื่อง : ชลธิชา แสงสีดา