ไม่เบื่อ ไม่เนือย ไม่เซ็ง...ด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำที่ทำให้ “พิพิธภัณฑ์” เป็นมากกว่าศูนย์กลางบอกเล่าเรื่องราวในอดีต
Technology & Innovation

ไม่เบื่อ ไม่เนือย ไม่เซ็ง...ด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำที่ทำให้ “พิพิธภัณฑ์” เป็นมากกว่าศูนย์กลางบอกเล่าเรื่องราวในอดีต

  • 06 Aug 2024
  • 936

หากใครกำลังมองหาสถานที่ที่สามารถพักผ่อนหย่อนใจเพื่อปล่อยทิ้งทุกความเครียดที่สะสมมาตลอดสัปดาห์แล้ว นอกจาก ‘บ้าน’ ที่เป็นเซฟโซนในการพักผ่อน หรือ ‘คาเฟ่’ สุดชิลล์ที่ผู้คนนิยมไปกันแล้ว หลายคนอาจนึกถึง “พิพิธภัณฑ์” ที่เป็นได้ทั้งจุดพักพิงใจในการไปเดินเล่น พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการ การจัดแสดงศิลปะ หรือสิ่งประดิษฐ์จากในอดีตกันบ้างไม่มากก็น้อย เพราะนอกจากจะได้สะสมความรู้ที่ช่วยเชื่อมโยงปัจจุบันเข้ากับอดีตแล้ว หลาย ๆ โอกาสเราก็ยังได้เรียนรู้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวัฒนธรรมและอารยธรรมที่หลากหลายเพื่อสานต่อไอเดียสู่อนาคตอีกด้วย

คำว่า “พิพิธภัณฑ์” หรือ “Museum” เป็นคำที่มาจากภาษากรีกโบราณ มีความหมายว่า หอแห่งสรรพวิชา หรือ แหล่งเรียนรู้ จนในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ “Museum” ก็ได้ถูกจำกัดความความหมายใหม่ว่า สถานที่จัดเก็บและแสดงสิ่งของนานาชนิด

“พิพิธภัณฑ์” ในความหมายของคนทั่วไป อาจเป็นเพียงสถานที่หนึ่งที่เก็บรวบรวมสิ่งของเพื่อจัดแสดงให้กับผู้ชมได้เพลิดเพลิน แต่ความจริงแล้ว พิพิธภัณฑ์ถือเป็นสถานที่ที่เรียกได้ว่าเป็นแหล่งรวบรวมมรดกทางวัฒธรรมอันเก่าแก่ โดยทำหน้าที่อนุรักษ์สิ่งของทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในอดีตเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม โบราณวัตถุ เพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันได้เรียนรู้และศึกษา รวมไปถึงช่วยอนุรักษ์และเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ถึงปัจจุบัน และสืบเนื่องไปจนถึงอนาคต 


Ars Electronica / Flickr

จุดเริ่มต้นการใช้เทคโนโลยีในพิพิธภัณฑ์
การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในพิพิธภัณฑ์นั้นเริ่มต้นอย่างแพร่หลายในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผู้คนต้องใช้ชีวิตแบบลดการสัมผัส ทำให้ทุกอย่างต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ที่ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับวิกฤตการณ์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และกลายเป็นการเริ่มต้นของยุค “พิพิธภัณฑ์เสมือน” หรือ “Virtual Museum” 

พิพิธภัณฑ์เสมือน เป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหรือแอปพลิเคชันมาช่วยจำลอง เสริม และปรับปรุงคุณลักษณะของพิพิธภัณฑ์แบบดั้งเดิมให้ผู้เข้าชมที่ไม่ว่าจะอยู่แห่งใดในโลก สามารถทัวร์ชมพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงโดยใช้อุปกรณ์ใดก็ได้ เช่น สมาร์ตโฟนหรือแล็บท็อป โดยปัจจุบันพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลกได้เริ่มใช้ VR (Virtual Reality) เพื่อแปลงสิ่งประดิษฐ์และวัตถุจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ให้เป็นดิจิทัล พร้อมสร้างพื้นที่เสมือนจริงที่สามารถโต้ตอบกับผู้เข้าชมได้ผ่านทางออนไลน์ 

ข้อดีของพิพิธภัณฑ์เสมือน คือการที่เราสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ตลอดทุกที่และทุกวัน 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นหนึ่งในการช่วยขยายฐานผู้เข้าชมของพิพิธภัณฑ์ให้มีผู้สนใจเข้าชมเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นวิธีที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศที่อยู่ห่างไกล ช่วยลดการสัมผัสและโอกาสในการสร้างความเสียหายให้กับวัตถุจัดแสดงหรือการออกแบบนิทรรศการที่เปราะบางและชำรุดง่ายซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ขณะที่ข้อเสียก็คือการที่ผู้เข้าชมอาจไม่ได้สัมผัสประสบการณ์จากบรรยากาศแท้จริงในพิพิธภัณฑ์


Ars Electronica / Flickr

รู้จัก 5 เทคโนโลยีสุดฮิตที่ช่วยเพิ่มความพิเศษให้พิพิธภัณฑ์ยุคใหม่

  • Projection Mapping ถือเป็นเทคโนโลยีที่ปฏิวัติวงการพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการมาโดยตลอด ด้วยเทคนิคการฉายภาพและวิดีโอเคลื่อนไหวไปยังการจัดแสดงนิทรรศการและสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ตลอดจนอาคารทั้งบนผนัง เพดาน พื้น และวัตถุ โดยการฉายภาพนี้จะช่วยให้พื้นผิวดูมีชีวิตชีวาเสมือนจริง สามารถมองเห็นได้ไม่ว่าจะจากระยะใกล้หรือไกล ทั้งยังช่วยเพิ่มบรรยากาศให้พิพิธภัณฑ์มีความสนุกสนาน น่าสนใจ ดึงดูดผู้ชมให้ดื่มด่ำไปกับนิทรรศการ และช่วยยกระดับประสบการณ์ในการรับชมได้มากขึ้น
  • Hologram Installation การติดตั้งโฮโลแกรมในพิพิธภัณฑ์ นับเป็นการผสมผสานประวัติศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน โดยการผสานความเป็นจริงกับจินตนาการไว้ได้อย่างลงตัว ทำให้ผู้เยี่ยมชมได้มองเห็นบุคคล เหตุการณ์ และสิ่งประดิษฐ์ทางประวัติศาสตร์ที่ลึกลงในรายละเอียดได้อย่างน่าอัศจรรย์ ราวกับว่าได้เดินทางข้ามเวลาไปอยู่ ณ ช่วงเวลานั้น ๆ เนื่องจากโฮโลแกรมสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่โต้ตอบได้และมีชีวิตชีวา จึงช่วยสร้างประสบการณ์อันสมจริงและน่าจดจำให้กับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมได้อย่างล้ำสมัย
  • Virtual Reality (VR) อีกเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับประสบการณ์ในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ โดยเป็นการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สร้างสภาพแวดล้อมแบบจำลองผ่านประสาทสัมผัสในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น เสียง การสัมผัส การเคลื่อนไหว ทั้งยังสามารถโต้ตอบกับโลกจริงได้แบบ 3 มิติ จึงเป็นการตอบสนองและสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เยี่ยมชมกับนิทรรศการได้อย่างไร้ขอบเขตจำกัด
  • Augmented Reality (AR) เป็นการใช้คอมพิวเตอร์และอัลกอริธึมในการกำหนดทิศทางและตำแหน่งของกล้อง หลังจากนั้น AR จะช่วยเพิ่มมิติที่ 3 ให้กับจอแสดงผล เพื่อให้วัตถุหรือฉากมีชีวิตชีวาและมีความสมจริง ช่วยให้ผู้เข้าชมมีความรู้สึกราวกับว่าได้หลุดเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่งที่วัตถุหรือสิ่งต่าง ๆ นั้นกำลังขยับได้และมีชีวิตขึ้นมาจริง ๆ เช่น การใช้ AR กับสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วอย่างไดโนเสาร์ให้กลับมาเสมือยมีชีวิตจริงอีกครั้ง จึงเป็นการเพิ่มความน่าสนใจและความสนุกสนานให้กับการมาชมพิพิธภัณฑ์มากยิ่งขึ้น
  • 3D Printing เทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิตินี้จะช่วยเปิดโลกความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับพิพิธภัณฑ์ ทั้งช่วยในการสร้างแบบจำลองที่แม่นยำ ประณีต และมีรายละเอียดที่ครบถ้วนเหมือนกับวัตถุจริง ๆ โดยเทคโนโลยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อนิทรรศการที่ต้องจัดแสดงสิ่งของที่เปราะบางหรือยากต่อการจัดแสดงวัตถุจริง เช่น การจำลองซากดึกดำบรรพ์หรือโบราณวัตถุอันเก่าแก่หายาก และต้องการรักษาเอาไว้เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยแบบพิมพ์สามมิติมักถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษา และกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสและเข้าใจถึงความสำคัญของโบราณวัตถุอันทรงคุณค่าโดยที่ไม่ทำให้วัตถุจริงเสียหาย

บทบาทของ “พิพิธภัณฑ์” ในวันนี้ไม่ได้มีหน้าที่เป็นเพียงผู้อนุรักษ์ แต่ทว่ายังต้องเป็นผู้ปกป้องดูแล ช่วยปลูกฝังและบ่มเพาะองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ให้ยังคงอยู่และสามารถปรับตัวทันต่อยุคสมัย ที่สำคัญคือการเชื่อมโยงกับกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยไม่ละทิ้งคุณค่าและความดั้งเดิมของวัตถุโบราณ แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยต่าง ๆ เพื่อช่วยขยายโอกาสที่เปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันล้ำค่าได้อย่างสะดวกสบายและน่าสนใจยิ่งขึ้น พร้อมเปลี่ยนพิพิธภัณฑ์จากการเป็นพื้นที่ที่รอให้ผู้คนเข้ามาเรียนรู้ ไปสู่ยุคแห่งความก้าวหน้า ที่สามารถจุดประกายความคิด กระตุ้นแรงบันดาลใจ พร้อมสร้างปฏิสัมพันธ์และประสบการณ์ใหม่ ๆ อันน่าตื่นตาตื่นใจและไร้ขอบเขตให้ผู้เยี่ยมชมได้มากกว่าที่เคยเป็น

ที่มา : บทความ “พิพิธภัณฑ์: นิยามที่มากกว่าห้องเก็บของ” โดย พรรณปพร บุญแปง และ  ชรัณ ลาภบริสุทธิ์
บทความ “Preserving History: The Role of Museums in Safeguarding Cultural Heritage” โดย jaafarshaikh2573
บทความ “‘พิพิธภัณฑ์’ ไม่ใช่ที่เก็บของ ไม่ใช่ของที่เก็บ” โดย ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทความ “Virtual museum” โดย Britannica
บทความ "What a Virtual Museum Is And Why It Is Better To Develop Online Tours" จาก 3d-ace.com
บทความ “Why We Need Museums Now More Than Ever — The Importance of Museums” โดย Rebecca Carlsson
บทความ “The Importance of Museums” โดย Balloon museum
บทความ “เทรนด์เทคโนโลยีในพิพิธภัณฑ์” โดย ยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล 
บทความ “PROJECTION MAPPING FOR MUSEUMS AND EXHIBITIONS: ENHANCING CULTURAL EXPERIENCES” โดย Luxedo
บทความ “8 tech innovations becoming standard in museums and heritage sites” จาก musuemsandheritage.com
บทความ “What kind of technology do museums use?” โดย Museumnext
บทความ “4 เทรนด์เทคโนโลยี สำหรับพิพิธภัณฑ์ ในปี 2022” โดย Kampol Nisitsukcharoen
บทความ “How Museums are using Augmented Reality” โดย Manuel Charr
บทความ “Museum Hologram Installation” จาก axiomholographics.com

เรื่อง : ณัฐนิธิ ประเสริฐแท่น