คุยกับ “คิม - สหพัฒณ์ ล้ำสมบัติ” เรื่อง AI OCR เมื่อการมาของเทคโนโลยี เปลี่ยนโลกใบนี้จนเกินจินตนาการ
Technology & Innovation

คุยกับ “คิม - สหพัฒณ์ ล้ำสมบัติ” เรื่อง AI OCR เมื่อการมาของเทคโนโลยี เปลี่ยนโลกใบนี้จนเกินจินตนาการ

  • 07 Nov 2024
  • 330

ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยมีหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักคือ “เทคโนโลยี” ที่ได้รับการพัฒนาให้เก่งขึ้นจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์มากเข้าทุกวัน และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นนั้น ก็รังสรรค์ให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่มากมาย กลายเป็นที่พึ่งและหนทางแก้ปัญหาใหม่ที่ช่วยให้มนุษย์รู้สึกอุ่นใจ ทว่าในทางกลับกัน ยิ่งเทคโนโลยีเก่งกาจและมีบทบาทมากขึ้นเท่าไร ความมั่นใจของมนุษย์ก็ถูกสั่นคลอนด้วยความรู้สึก “ถูกแทนที่” มากเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทในความสามารถที่มนุษย์มั่นใจนักหนา เช่น “การอ่านลายมือของคน” ด้วยศักยภาพที่ไม่ธรรมดาเลย

Creative Thailand จึงขอพาทุกคนมาเจาะลึกเรื่อง “เทคโนโลยี AI OCR” หรือการเปลี่ยนข้อความที่อยู่ในรูปหรือไฟล์สแกนภาพให้เป็นข้อความที่เป็นตัวอักษรหรือตัวพิมพ์ อีกหนึ่งเทคโนโลยีสำคัญที่เข้ามาสั่นเก้าอี้ความมั่นใจของใครหลายคน ผ่านการพูดคุยกับ “คิม - สหพัฒณ์ ล้ำสมบัติ” CEO ของบริษัท เวิร์ดเซนส์ จำกัด (WordSense) บริษัทสตาร์ตอัปภายใต้การดูแลของบริษัท ลูลู่ เทคโนโลยี จำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี OCR เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ พร้อมทั้งอัปเดตแนวโน้มของโลกยุค AI ที่ใคร ๆ ต่างก็ต้องเรียนรู้เพื่อปรับตัว


คิม - สหพัฒณ์ ล้ำสมบัติ CEO ของบริษัท เวิร์ดเซนส์ จำกัด (WordSense)

ทำความรู้จักเทคโนโลยี OCR
OCR หรือ Optical Character Recognition คือเทคโนโลยี AI ชนิดหนึ่ง ที่มีบทบาทในการช่วยแปลงตัวอักษรหรือลายมือที่อยู่ในรูปภาพหรือเอกสารใด ๆ ให้กลายเป็นก้อนข้อความดิจิทัลที่ระบบคอมพิวเตอร์สามารถจัดเก็บได้อย่างเป็นระบบและแก้ไขได้เหมือนข้อความที่พิมพ์ด้วยคีย์บอร์ด โดยคุณคิมได้อธิบายหลักการทำงานเบื้องต้นว่า ในขั้นตอนแรก OCR จะทำการดูภาพรวมของเอกสารนั้นทั้งหมด จากนั้นจึงจะหาตัวอักษรด้วยการดูความแตกต่างระหว่างพิกเซล หาความตัดกันระหว่างสีอักษรกับสีพื้นหลัง เทียบประกอบไปกับข้อมูลรูปแบบฟอนต์ที่มีอยู่ในระบบ ระบุออกมาเป็นตัวอักษรที่ถูกต้อง แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการแปลงข้อมูล ออกมาเป็นข้อความดิจิทัลที่จัดเก็บได้นั่นเอง

เทคโนโลยี OCR แท้จริงแล้วมีบทบาทอยู่ในสังคมมากว่า 10 ปี และอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้ OCR ในยุคนี้น่าตื่นเต้นกว่ายุคไหน ๆ คงอยู่ที่การพัฒนาของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดจนยุคของ AI ได้มาถึงอย่างแท้จริง ทั้งการเกิดขึ้นของ Generative AI รวมถึงตัวการ์ดจอที่แรงและเร็วขึ้น ทำให้การป้อนข้อมูลเข้า AI เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ทั้งย่นระยะการเรียนรู้ของ AI จากหลักปีเป็นหลักวัน ทำให้ผลลัพธ์ของ AI ที่ได้ยิ่งแม่นยำขึ้น และส่งผลให้ช่วงสองปีมานี้มีองค์กรต่าง ๆ หันมาใช้ OCR ในการจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นด้วย

จาก OCR สู่ OCR Handwriting ก้าวต่อไปที่มาพร้อมความยาก 20 เท่า
OCR เริ่มแรกมีศักยภาพในการอ่านเฉพาะตัวพิมพ์เท่านั้น แต่หลังจากนั้นก็ได้รับการพัฒนาสู่ “OCR Handwriting” ที่เกิดขึ้นเพื่ออ่านและแปลงลายมือของแต่ละคนให้กลายเป็นข้อความดิจิทัลได้ ซึ่งคุณคิมถึงกับเอ่ยปากเลยว่า สิ่งนี้ยากกว่าเดิมถึง 20 เท่า เพราะในขณะที่ตัวพิมพ์มีรูปแบบของฟอนต์ที่จำกัด และยังเขียนยู่ในกรอบบรรทัดอย่างเป็นระเบียบ ลายมือของคนกลับไม่มีขีดจำกัด คาดเดาไม่ได้ อีกทั้งเมื่อเป็นภาษาไทย ก็ยิ่งยากกว่าภาษาอังกฤษเข้าไปใหญ่ เพราะมีทั้งเรื่องตัวอักษรที่เขียนใกล้เคียงกันมาก ไหนจะเรื่องของสระและวรรณยุกต์ ที่มาพร้อมปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สระลอย สระซ้อนวรรณยุกต์ รวมไปถึงปัญหาที่สระจากบรรทัดบนชนกับวรรณยุกต์บรรทัดล่างก็ด้วย “เคสที่เจอบ่อย ในกรณีที่เขียนมาหลายบรรทัด สมมติเขียนคำว่า 'ค้ำ' อยู่บรรทัดสองแล้วไม้โทไปชนกับสระอูของบรรทัดหนึ่ง ก็ต้องให้ AI รับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้” 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความยากของการพัฒนา OCR Handwriting ให้มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูง ยังรวมถึงเรื่องของข้อมูลลายมือที่ใช้ในการฝึก AI ที่หาได้ยาก แต่ WordSense ก็มีวิธีแก้ปัญหาที่เหนือชั้น นั่นคือการสร้าง AI ขึ้นมาอีกหนึ่งตัวที่มีความสามารถในการเขียนลายมือภาษาไทย แล้วฝึกฝนให้มันผลิตลายมือหลากหลายรูปแบบจากการเรียนรู้ฐานข้อมูลลายมือคนไทยที่มีอยู่ จนสามารถเพิ่มข้อมูลลายมือขึ้นมาได้จำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น ทำให้ WordSense กลายเป็นบริษัทเจ้าเดียวของตลาดที่สามารถอ่านลายมือภาษาไทยได้แม่นยำเฉลี่ยเกิน 90% ยิ่งหากเป็น AI OCR ของบริษัทเอง ความแม่นยำก็จะยิ่งมากขึ้น


(wirestock / Freepik)

Wordsense กับการพัฒนา AI OCR ภาษาไทยให้แม่น เฉียบ ฉลาด เกินบรรยาย
จุดเริ่มต้นของ OCR Handwriting เกิดขึ้นมาด้วยพันธกิจของเจ้าของบริษัท ลูลู่ เทคโนโลยี จำกัด ทั้งสามคนที่ต้องการทำในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำได้ ประจวบกับที่มีบริษัทโลจิสติกส์แห่งหนึ่งได้ให้โจทย์กับทางบริษัทมาว่า “ต้องการ AI อ่านลายมือจ่าหน้าซองพัสดุภาษาไทยได้” ด้วยเหตุนี้จึงมีการสร้างและพัฒนาโปรเจ็กต์ OCR Handwriting ภาษาไทยเรื่อยมา โดยระหว่างทางก็มีการพยายามแก้ปัญหาที่พบ อย่างเช่น เรื่องของจำนวนข้อมูลลายมือที่ได้กล่าวไป

ความแตกต่างที่ทำให้เทคโนโลยี OCR Handwriting ของ WordSense โดดเด่นกว่าเจ้าอื่น ๆ นั่นคือ “การอ่านแบบดูบริบท”

แต่เมื่อแก้ปัญหาเรื่องจำนวนข้อมูลได้แล้ว ประเด็นสำคัญถัดมาก็คือ ทำอย่างไรการแปลงข้อมูลถึงจะมีความแม่นยำมากขึ้น? ซึ่งในส่วนนี้ คุณคิมก็ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างที่ทำให้เทคโนโลยี OCR Handwriting ของ WordSense โดดเด่นกว่าเจ้าอื่น ๆ นั่นคือ “การอ่านแบบดูบริบท” กล่าวคือ OCR จะทำการประเมินรูปประโยครอบข้างเพื่อแปลงคำออกมาได้ถูกต้องมากขึ้นด้วย “สมมติ เราเจอคำว่า 'ปากา' ก็คงอ่านว่าปากกา เพราะเราคุ้นชินกับคำว่าปากกา ถ้า OCR อ่านแบบดูอย่างเดียว มีโอกาสสูงมากที่จะอ่านผิด แต่ถ้าอ่านแบบดูบริบท มันก็จะแปลงเป็นคำว่าปากกาออกมา” การนำเทคโนโลยี OCR เข้ามาใช้ในแง่นี้ จึงไม่เพียงเป็นผู้ช่วยในการแปลงข้อมูล แต่ยังเป็นผู้ช่วยของมนุษย์ในการตรวจทานและแก้ไขคำให้ถูกต้อง ทั้งการอ่านลักษณะนี้ยังช่วยให้ OCR สามารถอ่านลายมือที่หลายคนเรียกกันว่า “ลายมือไก่เขี่ย” ได้ หากอยู่ในระดับที่มีตัวอักษรบางตัวที่ OCR สามารถแกะได้ หรือมีคำข้างหน้าที่พอจะอ่านออก เป็นต้น

ทว่าการอ่านแบบดูบริบทก็ยังมีจุดอ่อนที่เห็นได้ชัด ซึ่งก็คือการอ่านคำเฉพาะ จำพวกชื่อคนที่สะกดหลากหลาย “OCR ที่ใช้อ่านจริง ๆ จึงมีประมาณ 5 ตัวที่ต้องทำงานเป็นทีม ถ้าเป็นข้อมูลประเภทนี้จะใช้อีกตัวหนึ่ง ถ้าเอาแบบแอดวานซ์สุด ๆ จะเป็น OCR ที่สามารถรู้ได้เลยว่าที่อยู่อันนี้ที่เขียนมา เป็นที่อยู่ที่ผิดหรือเปล่า เช่น เขตสาทร จังหวัดเชียงใหม่ มันจะแก้ให้ จากการดูแขวง เขต ถ้าตรงก็จะแก้ชื่อจังหวัดให้” คุณคิมกล่าว

อีกปัญหาหนึ่งที่ WordSense สามารถทลายขีดจำกัดได้ล่าสุดคือ การจัดการกับเอกสารประเภท Semi Structure เช่น ใบเสร็จ ใบแจ้งหนี้ ที่มักจะมีรูปแบบที่ต่างกันตามแต่ละบริษัท ทำให้การอ่านและแปลงข้อมูลเพื่อจัดเก็บมีความซับซ้อนกว่าเอกสารที่มีรูปแบบกำหนดแน่นอน เพื่อแก้ปัญหาการอ่านเอกสารประเภทนี้ Wordsense จึงพัฒนา OCR ที่สามารถดึงข้อมูลเดิม ๆ ออกมาจากเอกสารที่หน้าตาไม่เคยเหมือนเดิมได้ กลายเป็นอีกจุดเด่นจาก OCR ของ WordSense เช่นกัน

ทั้งนี้ ปัญหาบางอย่างก็ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ยกตัวอย่างเช่น “ลายมือหมอ” ที่คุณคิมออกปากเลยว่าแกะได้ยากกว่าลายมือไก่เขี่ยเสียอีก ด้วยความท้าทายที่แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนหลัก หนึ่งคือ ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของลายมือหมอ ทำให้ต้องสร้าง OCR สำหรับการอ่านลายมือหมอโดยเฉพาะ ขณะเดียวกัน การเขียนของแพทย์โดยมากมักจะเป็นการเขียนตัวย่อให้เห็นแค่บางตัวอักษรเท่านั้น ซึ่ง OCR จำเป็นที่จะต้องอ่าน ดูบริบทข้างเคียง แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปค้นหาสารานุกรมเพื่อแปลงออกมาเป็นคำที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น OCR จึงจำเป็นจะต้องรู้ศัพท์เทคนิคของแพทย์ให้ได้ครอบคุลมด้วย

ข้อจำกัดเดียวของ OCR ที่ไม่อาจเอาชนะได้ด้วยการพัฒนาต่อยอด อยู่ที่การอ่านลายมือหรือเอกสารที่แม้แต่มนุษย์ก็ยังแกะไม่ออก เช่น ข้อความที่มีหมึกเปื้อน มีการขีดฆ่าหรือฝนทับ เอกสารที่เกิดการฉีกขาด ชำรุด จนเสียหายหนักจริง ๆ รวมไปถึงลายเซ็น เพราะสุดท้ายแล้วเทคโนโลยีนี้ก็มองเอกสารเหมือนกับที่มนุษย์ใช้ตามอง หากเรายังอ่านไม่ออก ก็คงยากสำหรับเทคโนโลยี โดยในปัจจุบัน OCR ยังมีสถานะเสมือน “ผู้ช่วย” ของมนุษย์อยู่ เพราะฉะนั้นหากถามว่า คนยังจำเป็นไหมในสมการนี้ ก็อาจจะมีบางครั้งเช่นกันที่ OCR จะคัดเอกสารที่ไม่มั่นใจให้มนุษย์ช่วยอ่านและลงความเห็นที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ดี ความพยายามพัฒนาเทคโนโลยี OCR ของ WordSense จนถึงทุกวันนี้ ทำให้ตัว OCR มีความแม่นยำสูงมาก หากเป็นตัวพิมพ์ค่าตั้งต้นจะอยู่ที่ 95% ขณะที่ตัวอ่านลายมือมีความแม่นยำตั้งต้นอยู่ที่ 92% ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความซับซ้อนของเอกสาร ที่มีผลต่อความแม่นยำ ซึ่งก็จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เทคโนโลยีนี้มีศักยภาพมากขึ้น อ่านได้แม่นยำขึ้น ในปริมาณที่มากขึ้นต่อไป


(pressfoto / Freepik)

ประโยชน์ของเทคโนโลยี AI OCR ที่หลายคนอาจเคยสัมผัสไม่รู้ตัว
เทคโนโลยี AI OCR ในปัจจุบันนี้เข้ามาช่วยให้งานนำเข้าข้อมูลสู่ระบบที่เคยใช้คนทำเป็นไปอย่างอัตโนมัติ พร้อมทั้งช่วยให้กระบวนการเสร็จไวขึ้น แม่นยำขึ้น โดยมีลูกค้า 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มธนาคารและกลุ่มประกันภัย ที่จำเป็นต้องจัดเก็บเอกสารที่ผู้ใช้บริการกรอกแบบฟอร์มกระดาษตามระเบียบ ทำให้ที่ผ่านมาต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ ขณะที่ประโยชน์อีกข้ออยู่ที่การเสริมศักยภาพในการขยับขยายของบริษัท กล่าวคือ หากในอนาคตบริษัทเติบโต ขยายกิจการจากเดิม การจ้างงานคนเพื่อทำหน้าที่กรอกเอกสารแบบเดียวกันเพิ่มขึ้น อาจไม่ใช่คำตอบที่คุ้มค่าอีกต่อไป เมื่อเทียบกับการใช้เทคโนโลยี OCR ที่สามารถปรับแก้ ขยับขยายตามกิจการที่เติบโตขึ้นได้ โดยไม่ต้องเพิ่มต้นทุนมากเท่าการจ้างคน

นอกจากประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจแล้ว เทคโนโลยี OCR ยังมีบทบาทในการอำนายความสะดวกให้กับผู้คนในชีวิตประจำวันด้วย ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การนำโทรศัพท์สมาร์ตโฟนสแกนบัตรประชาชนเพื่อลงทะเบียนแอปฯ แล้วข้อมูลทุกอย่างปรากฏในช่องครบถ้วนภายในเวลาไม่กี่วินาที หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น “ขุนทอง” แชตบอตช่วยหารค่าข้าว ก็มีฟังก์ชันสำหรับการถ่ายหน้าใบเสร็จ เพื่อแจกแจงรายการและยอดต่าง ๆ ออกมาโดยที่ไม่ต้องพิมพ์ทีละรายการ เรียกได้ว่าเทคโนโลยี OCR ช่วยประหยัดเวลา และป้องกันการป้อนข้อมูลผิดพลาดทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน


(สหพัฒณ์ ล้ำสมบัติ)

OCR ในฐานะ “ประตูสู่ยุค AI”
ยิ่งไปกว่านั้น คุณคิมยังมองเห็นว่าสำหรับโลกที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค AI เต็มตัว เทคโนโลยี OCR ก็เปรียบเสมือนกับ “ประตูบานแรก” ของทุกบริษัทในการจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและก้าวเข้าสู่ยุค AI ไปพร้อมโลกเช่นกัน

“การที่เราจะบอกว่าบริษัทเข้าสู่ยุคของ AI ได้ หมายความว่าบริษัทจะต้องมี AI ของตัวเองที่ทำงานง่าย ๆ ในบริษัทได้หมดแล้ว ซึ่งการที่จะไปถึงจุดนั้นได้ บริษัทจะต้องสร้าง AI ด้วยข้อมูลของตัวเองก่อน และการที่บริษัทจะสามารถนำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ (Data Analysis) หรือเอามาฝึกฝน AI ได้ ข้อมูลนั้น ๆ ก็จะต้องอยู่ในรูปแบบที่พร้อม ซึ่งก็คืออยู่ในรูปแบบดิจิทัล ดังนั้น OCR เลยทำหน้าที่เปิดประตูบานแรก ประมาณว่าเดี๋ยวฉันจะเตรียมข้อมูลทั้งหมดที่อยู่ในรูปแบบกระดาษ มาเป็นข้อมูลที่จะนำไปวิเคราะห์ข้อมูลต่อให้”

ดังนี้ แม้ฟังก์ชันของ OCR ในบริบทข้างต้นจะดูเป็นบทบาทพื้น ๆ ไม่สลับซับซ้อนเหมือนเครื่องมือ AI ตัวอื่น ๆ ที่ใช้ในการวิเคราะห์หรือประเมินผล แต่นี่ก็นับเป็นอีกพื้นฐานสำคัญสำหรับการต่อยอดในขั้นตอนต่อ ๆ ไป เรียกได้ว่าหากบริษัทใดต้องการเข้าสู่ยุค AI อย่างเต็มกำลัง OCR ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ขาดไปไม่ได้เลย และนี่ก็แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเติบโตของเทคโนโลยีดังกล่าวที่น่าจะมีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นในสังคม

แล้วเราจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อรับมือกับโลกยุค AI ที่ทั้งหมุนไวและไม่มีใครเคยเผชิญมาก่อน “เราต้องเรียนรู้ที่จะใช้มัน” คือคำตอบเดียวที่หนักแน่น จาก CEO ของ WordSense

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี การเตรียมพร้อมที่ดีที่สุดคือ “ต้องเรียนรู้ที่จะใช้มัน”
“มันน่าตื่นเต้นมาก ๆ ตรงที่ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาของ AI คูณขึ้นมาเป็นร้อยเท่าพันเท่า หมายความว่าในอนาคตเราจะเจอสิ่งที่ว้าวสุด ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น” คุณคิมกล่าว พร้อมพาเราย้อนกลับไปถึงความน่าตื่นเต้นยุคแรกตั้งแต่การเกิดขึ้นของเครื่องจักรไอน้ำในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ต่อมาก็เป็นการเกิดขึ้นของคอมพิวเตอร์ ตามมาด้วยการเกิดขึ้นของสมาร์ตโฟน โซเชียลมีเดีย และล่าสุดคือ ChatGPT ที่หลายคนต้องตาลุกวาว “เริ่มเห็นหรือเปล่าว่า ความตื่นเต้นในแต่ละจุด มันเริ่มเกิดถี่ขึ้น แต่ก่อน 10 ปีเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ตอนนี้เกิดขึ้นปีละครั้ง แปลว่าในอนาคต ถ้าหากยังเป็นเทรนด์แบบนี้ต่อไป ซึ่งผมคิดว่ามันจะเกิดขึ้นทุกเดือน มันจะมีความว้าว มันจะมีอะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตเราสามารถทำอะไรได้มากกว่าเดิมเยอะมาก” และนั่นก็หมายถึงความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วกว่าที่ยุคไหน ๆ เคยเผชิญ

แล้วเราจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อรับมือกับโลกยุค AI ที่ทั้งหมุนไวและไม่มีใครเคยเผชิญมาก่อน “เราต้องเรียนรู้ที่จะใช้มัน” คือคำตอบเดียวที่หนักแน่น จาก CEO ของ WordSense “ถ้าเอาแบบที่คนดังเคยพูดไว้ก็คือ ‘AI ไม่ได้เข้ามาแทนที่คน แต่คนที่รู้ AI จะเข้ามาแทนที่คนที่ไม่รู้ AI’” เพราะในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีต่าง ๆ ยังคงมีบทบาทไม่มากไปกว่าผู้ช่วยในการทำงาน อีกทั้งแม้แต่ AI ที่ฉลาดที่สุดในโลกปัจจุบันก็ยังมีโอกาสพลั้งพลาด ไม่ต่างกับนักปราชญ์เลย มนุษย์จึงยังมีบทบาทสำคัญที่จะคอยควบคุมการทำงานของเทคโนโลยีเหล่านั้น และมอบการตัดสินใจสุดท้ายจากการประเมินสถานการณ์เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แต่คนที่จะทำหน้าที่นั้นได้ก็จำเป็นจะต้องเข้าใจการทำงานของเทคโนโลยีนั้น ๆ เป็นอย่างดีด้วย

ดังนี้ การศึกษาเทคโนโลยีในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างทะลุปรุโปร่ง ทั้งจุดแข็งและจุดด้อย แล้วเลือกใช้ให้เหมาะสม เต็มประสิทธิภาพสูงสุด จึงเป็นวิถีทางสำคัญที่จะทำให้มนุษย์สามารถก้าวเข้าสู่ยุค AI ได้อย่างภาคภูมิและรู้สึกมั่นคงมากที่สุด “ถ้าในภาพรวมของประเทศทุกคนสามารถใช้ AI ได้ ประเทศไทยจะพัฒนาก้าวกระโดดขนาดไหน” คือคำถามที่คุณคิมฝากทิ้งทายไว้ ซึ่งหากเป็นจริง ภาพของประเทศไทยคงจะเปลี่ยนไปเกินกว่าจินตนาการจะนึกถึงแน่นอน

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง