ไม่รู้จะเลือกใคร? เมื่อคนรุ่นใหม่เทใจให้นักการเมือง AI มากกว่านักการเมืองตัวจริง
Technology & Innovation

ไม่รู้จะเลือกใคร? เมื่อคนรุ่นใหม่เทใจให้นักการเมือง AI มากกว่านักการเมืองตัวจริง

  • 25 Nov 2024
  • 324

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวันในปีนี้ นอกจากจะมีผู้สมัครเดิมทั้ง 4 คนแล้ว บนโซเชียลกลับมีผู้สมัครรายใหม่ที่ถูกจับตามอง นั่นคือผู้สมัครวัย 62 ปี นามว่า “เฉิน สุ่ยหง” (Chen Shui-Hong) ซึ่งมีภาพลักษณ์เป็นคุณลุงใจดี อีกทั้งเขายังมีกิจกรรมหาเสียงตามท้องถนนที่เข้าถึงคนทั่วไปอีกด้วย อย่างไรก็ตาม "คุณลุง" คนนี้ ไม่ใช่ทั้งนักการเมืองจริง ๆ หรือคนธรรมดาที่ลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไป แต่เป็น “ผู้สมัครเสมือนมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้นด้วย AI” โดยนักศึกษาปริญญาตรีทั้งหมด 6 คนจากภาควิชาการสื่อสาร เพื่อเป็นโปรเจ็กต์จบการศึกษา โดยการใช้ เฉิน สุ่ยหง เป็นกระบอกเสียงแทนชาวเจนซีและหวังที่จะส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมการเมืองมากขึ้น


โปสเตอร์หาเสียงของผู้สมัครประธานาธิบดีเฉิน สุ่ยหงและรองประธานาธิบดี (Instagram@waterred888)

นักศึกษาทั้ง 6 คนจากภาควิชาการออกแบบสื่อสาร มหาวิทยาลัยคุนซาน เมืองไถหนานกล่าวว่า  "ผู้สมัครมักจะชอบพูดเสมอว่า พวกเขายืนเคียงข้างคนรุ่นใหม่อย่างพวกเรา แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้นเลย" โดยเฉพาะพวกเขาที่เป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกมักรู้สึกว่านโยบายที่ผู้สมัครทั่วไปเสนอนั้นดูยิ่งใหญ่ แต่ทว่าช่างดูห่างเหินจากชีวิตของพวกเขา อย่างไรก็ตาม อาจจะมีผู้คนบางกลุ่มที่ไม่ค่อยสนใจหรือรู้สึกเฉยเมยเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและเลือกตั้ง แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากวัฒนธรรมการเลือกตั้งได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวไต้หวันแล้ว เห็นได้จากทั้งรายการวิเคราะห์ข่าวทางการเมืองในโทรทัศน์ ป้ายหาเสียงและสื่อโฆษณาต่าง ๆ ตามท้องถนน หรือแม้แต่บทสนทนาทั่วไป ดังนั้นนักศึกษากลุ่มนี้จึงตัดสินใจเลือกเรื่อง "การเมือง" มาเป็นหัวข้อโปรเจ็กต์จบการศึกษา

สำหรับนักศึกษาที่เรียนมาเฉพาะด้านการออกแบบ "การเมืองถือเป็นประเด็นที่ยากมาก นี่เป็นปัญหาที่ไม่มีคำตอบอย่างชัดเจน" ไม่ว่าจะเป็นคำถามเกี่ยวกับการเมืองที่ดีควรเป็นอย่างไร นักการเมืองที่มีคุณภาพควรเป็นแบบไหน หรือแม้แต่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งควรจะมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองอย่างไร ทั้งหมดนี้ไม่มีคำตอบที่แน่ชัด ดังนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าการที่เราจะใช้ความรู้ด้านการออกแบบมาแก้ไขปัญหาตรงนี้นั้น จะทำได้อย่างไร

ในกระบวนการริเริ่มโปรเจ็กต์นี้ ทีมออกแบบได้รับแรงบันดาลใจจาก “อินฟลูเอนเซอร์เสมือน” ของญี่ปุ่นและตัวละครนักวิจารณ์การเมืองที่มีลักษณะเป็นหุ่นเชิดในซีรีส์เรื่อง Black Mirror แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด ประกอบกับเทรนด์เรื่อง AI ที่กำลังเป็นกระแสมาก ๆ เมื่อปีที่แล้ว จึงทำให้พวกเขาเกิดไอเดียในการนำ AI และอัลกอริทึมมาสร้างเป็น “ผู้สมัครเสมือนจริง” ที่สามารถเป็นตัวแทนของคนวัยพวกเขาและเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวเจนซีได้



Instagram ของเฉิน สุ่ยหง (Instagram@waterred888)


การสร้างรูปลักษณ์ของผู้สมัครประธานาธิบดีก่อนจะเป็นคุณลุงเฉิน สุ่ยหง โดย Midjourney.ai (Instagram@waterred888)

พวกเขาใช้เครื่องมือ Generative AI อย่าง Midjourney.ai ในการสร้างรูปลักษณ์ของผู้สมัคร โดยอ้างอิงลักษณะเด่นจากผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีตัวจริงทั้ง 4 คน รวมถึงหลักโหงวเฮ้งตามธรรมเนียมจีนเกี่ยวกับ "โหวงเฮ้งแบบไหนที่เหมาะแก่การเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้นำ" เช่น ศีรษะล้านแสดงถึงปัญญาและความเด็ดขาด ปากบางบ่งบอกถึงความช่างพูดและมีวาทศิลป์ จากนั้นจึงใช้อัลกอริทึมในการสร้างใบหน้าของผู้สมัครเสมือนนี้ขึ้น หลังจากที่ใช้ AI สร้างภาพผู้สมัครขึ้นมาหลายภาพ พวกเขาก็ได้เลือกภาพ “คุณลุง” ที่ให้ความรู้สึกเป็นมิตรมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีหลักการในเรื่องการตั้งชื่อ โดยนำเวลาและวันที่ที่ Midjourney.ai สร้างภาพขึ้นมาเป็นข้อมูลวันเดือนปีเกิด และให้ ChatGPT ตั้งชื่อที่มีชะตาเหมาะสมที่สุดสำหรับการเป็นข้าราชการ นั่นคือชื่อ "เฉิน สุ่ยหง" (陳水宏) 

นอกจากนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับภาพลักษณ์ของนักการเมืองไต้หวันแบบดั้งเดิมที่มักชอบสวมสูท ผูกเนกไท และดูมีลักษณะเป็นพวกชนชั้นนำ คุณลุงท่านนี้เลือกเครื่องแต่งกายแบบสบาย ๆ ที่ดูเป็นกันเอง ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนเป็นคุณลุงข้างบ้านที่สามารถพบได้ตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ และยังดูมีความติดดิน เข้าถึงง่าย ทำให้เชื่อว่าจะเข้าใจปัญหาในพื้นที่อย่างแท้จริง และสามารถเป็นตัวแทนเสียงของประชาชนในชุมชนได้

เพื่อให้ภาพลักษณ์ของคุณลุงเฉิน สุ่ยหง ชัดเจนและมีมิติมากขึ้น ทีมงานยังได้ศึกษาผู้สมัครประธานาธิบดีชายทั้ง 4 คน รวมถึงวิธีการเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดียของชายวัยประมาณ 60 ปี โดยพยายามเข้าใจบุคลิก ลักษณะการใช้ชีวิต และน้ำเสียงในการโพสต์ของคุณลุงเหล่านั้น ซึ่งถึงแม้จะไม่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี แต่ก็ยังคงมีความกระตือรือร้นในการโต้ตอบกับหลาน ๆ และพยายามที่จะใช้โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน ทีมออกแบบก็ได้นำพาเฉิน สุ่ยหงให้เข้ามาเข้าใจชีวิตและแง่มุมต่าง ๆ ของคนชาวเจนซี ซึ่งก็คือสิ่งที่นักศึกษาออกแบบทั้ง 6 คนนี้ให้ความสนใจอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว โดยเฉิน สุ่ยหง จะโพสต์บนโซเชียลว่า เขาได้พยายามจองบัตรคอนเสิร์ตของ YOASOBI กับหลานแต่ไม่สำเร็จ หรือโพสต์ภาพการเข้าร่วมขบวน Pride Parade รวมถึงกิจกรรมงาน Art Book โพสต์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เฉิน สุ่ยหง ดูเป็นคุณลุงที่มีความจริงใจและมีความพยายามที่จะเข้าใจคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง 


เฉิน สุ่ยหง เข้าร่วม Pride Parade (Instagram@waterred888)


รูปถ่ายกับเพื่อนของเฉิน สุ่ยหง (Instagram@waterred888)


เฉิน สุ่ยหง เข้าร่วมกิจกรรมงาน Art Book (Instagram@waterred888)

ในช่วงเวลาการเลือกตั้ง ทีมงานยังได้โพสต์ภาพเกี่ยวกับการเลือกตั้งบนโซเชียลมีเดีย เช่น การจับสลากหมายเลขของผู้สมัคร การเสนอชื่อรองประธานาธิบดี หรือการทำให้ ‘เฉิน สุ่ยหง’ เริ่มเข้าสู่สายตาของสาธารณชนในงานแถลงนโยบาย ทีมออกแบบให้เฉิน สุ่ยหง เสนอ 9 นโยบายหลักบนโซเชียลมีเดีย เช่น “รัฐบาลจะมอบกองทุนสัตว์เลี้ยง 5,000 บาทต่อเดือน และหากเลี้ยงสัตว์ได้ไม่ดีจะต้องถูกปรับ” หรือ “การให้นักศึกษาสายออกแบบได้ใช้โปรแกรมถูกลิขสิทธิ์โดยที่รัฐสมทบเงินช่วยเหลือ“ ไปจนถึง “โครงการจัดการขยะเพื่อเมืองที่น่าอยู่” เป็นต้น นโยบายเหล่านี้ดูเหมือนจะไร้สาระ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ และไม่ได้มีความสำคัญมากนัก แต่แท้จริงแล้ว นี่คือสิ่งที่เยาวชนไต้หวันให้ความสนใจ อีกทั้งยังสามารถสะท้อนปัญหาใหญ่ของสังคมได้ เช่น สัตว์เลี้ยง การศึกษา และสาธารณสุข ซึ่งรัฐบาลยังไม่สามารถจัดการได้


การเสนอ 9 นโยบายหลักของเฉิน สุ่ยหง (Instagram@waterred888)

นอกจากนี้ ทีมงานยังจัดกิจกรรม ‘เฉิน สุ่ยหงเดินหาเสียง’ และแจกเอกสารการเลือกตั้งเพื่อให้เข้าถึงประชาชนในชีวิตจริงได้ด้วย จนทำให้ประชาชนบางส่วนเชื่อว่านี่เป็นเรื่องจริง จนเกิดการแชร์นโยบายของเฉิน สุ่ยหงอย่างจริงจังบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตนเอง หรือแม้แต่กิจกรรมรณรงค์ที่ถูกถ่ายภาพและส่งไปยัง ‘ศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริง (Taiwan Factcheck Center)’ เพื่อสอบถามว่ามีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนนี้จริง ๆ หรือไม่


กิจกรรมหาเสียงของเฉิน สุ่ยหง (Instagram@waterred888)


เอกสารประกอบการหาเสียงของเฉิน สุ่ยหง (Instagram@waterred888)

เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ได้มีการประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี แม้จะเป็นที่คาดการณ์ได้ว่าเฉิน สุ่ยหง จะต้องแพ้การเลือกตั้งอย่างแน่นอน แต่ทว่าภาพลักษณ์และนโยบายของเขายังคงแพร่หลายอยู่บนโซเชียลมีเดีย และเมื่อเดือนพฤษภาคม เรายังเห็นป้ายสแตนดี้ของเฉิน สุ่ยหงในการประท้วงอีกด้วย ทีมงานได้ใช้ทั้งความสามารถด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ในการทำให้การเมืองได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น

ดังนั้น โปรเจ็กต์นี้จึงไม่เพียงแต่ได้รับรางวัลการออกแบบทองคำในหมวดการออกแบบเพื่อสังคมสำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ (The 2024 Best of Young Pin Design Award in Social Design category) แต่ยังสร้างความสนใจในการมีส่วนร่วมทางการเมืองระหว่างเจเนอเรชันได้ด้วย อีกทั้งยังสามารถแสดงถึงความหวังของคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคม อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของเฉิน สุ่ยหงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียนั้น ยังนำไปสู่การวิเคราะห์ในอีกแง่มุมหนึ่งที่ว่า นักการเมืองในปัจจุบันนี้ได้ถูกสร้างภาพเพื่อการโปรโมตจากทีมงานหรือไม่ และโปรเจ็กต์สร้างคุณลุงผู้สมัครเสมือนจริงนี้ นอกจากจะส่งเสริมการอภิปรายทางการเมืองแล้ว ยังทำให้เรากลับมาพิจารณาเกี่ยวกับการสร้างภาพลักษณ์ของนักการเมืองในปัจจุบันอีกด้วย


คนแรก: ดาราตลกไต้หวันที่ทีมงานตัดต่อภาพเข้าไป; คนที่สอง สาม และสี่: ผู้สมัครประธานาธิบดีจริง; คนสุดท้าย: ผลคะแนนเฉิน สุ่ยหงโดยทีมงาน
ผลระหว่างการนับคะแนนเลือกตั้งจริงที่ตัดต่อภาพ เฉิน สุ่ยหง เข้าไป (Instagram@waterred888)


ทีมงานของเฉิน สุ่ยหงได้รับรางวัล 2024 Best of Young Pin Design Award in Social Design category (Instagram@waterred888)

บนพิธีมอบรางวัล ทีมออกแบบได้กล่าวอย่างติดตลกว่า “ขอขอบคุณคณะกรรมการที่ลงคะแนนให้สุ่ยหง!” และได้ให้กำลังใจทุกคนในการลองสังเกตสิ่งรอบตัว เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาต่อยอดการออกแบบของตนเองได้ จากนั้นได้กล่าวถึงการร่วมมือกันทำงานเพื่อไต้หวัน พร้อมทั้งประกาศว่า ‘แม้ว่าในปี 2024 เฉิน สุ่ยหง จะไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่ในปี 2028 เขาจะกลับมาอีกครั้ง!’ นี่เป็นคำมั่นสัญญาของคนรุ่นใหม่ในการเข้าร่วมทางการเมือง

คุยกับผู้นำประเทศที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ 
ในขณะที่ไต้หวันมีผู้ลงสมัครชิงประธานาธิบดี AI คนแรก ที่เลบานอนก็มีโครงการที่ชื่อ “ourpresident.ai” เพราะเลบานอนไม่มีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งมานานกว่า 2 ปี และประเทศนี้ก็ประสบปัญหาทางการเมืองที่ติดขัดและความขัดแย้งระหว่างสองฝั่งมาเป็นเวลานาน หนังสือพิมพ์ An Nahar เลยเลือกตอบสนองต่อภาวะการขาดผู้นำของประเทศด้วยการจัดตั้งประธานาธิบดีผ่าน AI เพื่อแสดงจุดยืนในการเติมเต็มช่องว่างอำนาจ ด้วยพลังที่ขับเคลื่อนด้วยความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ และการตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ประธานาธิบดี AI นี้ได้รับการฝึกฝนจากประสบการณ์การทำงานด้านสื่อสารมวลชนกว่า 90 ปี โดยหนังสือพิมพ์ An Nahar ได้ใช้ข้อมูลที่มาจากความเข้าใจอย่างละเอียดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนของประเทศ และผสมเข้ากับโจทย์ที่เป็นความท้าทายในปัจจุบันของเลบานอน เพื่อเทรนประธานาธิบดี AI ด้วยข้อมูลที่ครอบคลุม ควบคู่ไปกับความเป็นกลางของบอตที่ปราศจากอคติส่วนตัว ทำให้ประธานาธิบดี AI มีความเป็นกลาง สามารถฝ่าฟันความขัดแย้งข้ามขั้ว ผลประโยชน์ที่ฝังรากลึกและการเมืองที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายได้ดี

คำชี้แจงจาก #OurAIPresident ถูกนำเสนอในฉบับพิเศษของ An Nahar ระบุว่า "ไม่เหมือนประธานาธิบดีคนก่อน ๆ เพราะปัญญาประดิษฐ์ได้รับการออกแบบมาเพื่อรับใช้ประชาชน และได้มอบฟังก์ชันการวิเคราะห์อย่างโปร่งใสและเข้าถึงได้ สำหรับทุกคนที่กำลังมองหาคำตอบสำหรับปัญหาที่ซับซ้อนของประเทศ" ประชาชนสามารถตั้งคำถามกับบอตในหัวข้อใดก็ได้ โดยหลังจากวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตและเหตุการณ์ปัจจุบันแล้ว ประธานาธิบดี AI จะตอบกลับด้วยข้อความและไฟล์เสียงอย่างครบถ้วน

ที่มา : พอดแคสต์ "Shopping Design"
เว็บไซต์ "ourpresident.ai"
อีบุ๊ก เจาะเทรนด์โลก Trend 2025: BEYOND IMAGINATION โดย “คิด” Creative Thailand จาก https://www.tcdc.or.th/th/all/service/resource-center/e-book/34560-Trend_2025