สนามเด็กเล่นอัจฉริยะ: กับภารกิจตามหาจุดสมดุลระหว่างโลกจริงและโลกเสมือน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI นั้น ไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป เด็กที่เกิดตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปจะถูกเรียกว่า “เจเนอเรชันเบต้า” (Generation Beta, ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2025-2039) รุ่นที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างขนานนามว่า “กลุ่มคนผู้ไม่รู้จักโลกที่ไร้ AI”
จากรายงานปีล่าสุดโดย Hopelab ร่วมกับ Common Sense Media และ Center for digital thriving พบว่า เด็กที่มีอายุระหว่าง 14-22 ปีถึง 51% เคยใช้ AI ด้วยจุดประสงค์หลายประการ โดยอันดับหนึ่งคือการใช้เพื่อหาข้อมูล ในขณะเดียวกัน รายงานจาก Pew Research Center ระบุว่า 45% ของผู้ปกครองต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับระยะเวลาที่บุตรหลานใช้กับเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย AI สถิติเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการแพร่หลายของ AI ในชีวิตของเด็ก ๆ และความสำคัญของการทำความเข้าใจผลกระทบจากการพึ่งพาที่เพิ่มขึ้นนี้
ลองนึกถึงชีวิตประจำวันของเด็กสมัยใหม่ พวกเขาตื่นขึ้นมาและโต้ตอบกับผู้ช่วยอัจฉริยะที่บอกสภาพอากาศ ช่วยเลือกเมนูสำหรับอาหารเช้า หรือช่วยทำการบ้าน เมื่อพวกเขาไปที่โรงเรียน เด็ก ๆ จะใช้แพลตฟอร์มการศึกษาที่ขับเคลื่อนด้วย AI ซึ่งปรับให้เข้ากับสไตล์การเรียนรู้ของแต่ละคน และยังได้รับคำติชมในทันที พอกลับมาบ้าน พวกเขาก็จะเล่นกับของเล่นที่เปิดใช้งานด้วย AI สามารถพูดคุย ตอบสนอง และแสดงอารมณ์ได้เสมือนจริง AI จึงมีอยู่ในเกือบทุกแง่มุมของชีวิตพวกเขา
แม้ว่าจะนำความสะดวกสบายและความตื่นเต้นมาสู่ชีวิต แต่ AI ก็กำลังทำให้เส้นแบ่งระหว่างเทคโนโลยีกับประสบการณ์ของมนุษย์ที่แท้จริงเลือนลาง
ประเด็นนี้นำไปสู่การตั้งคำถามจากผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และความปลอดภัยของเด็ก อาเบล เปญญา เฟอร์นานเดซ (Abel Peña Fernandez) ว่า “เราแลกเปลี่ยนกิจกรรมที่จำเป็นสำหรับการเติบโต เช่น การวิ่งเล่นแบบอิสระหรือการสื่อสารทางสังคมแบบเผชิญหน้า เพื่อความสะดวกสบายผ่าน AI หรือไม่? และผลกระทบระยะยาวของการพึ่งพาเทคโนโลยีนี้จะมีต่อความคิดสร้างสรรค์ ความอดทน และความยืดหยุ่นของพวกเขาอย่างไรบ้าง?”
(MI PHAM / Unsplash)
ปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพยังคงจำเป็นสำหรับเด็ก
“สนามเด็กเล่น” คือพื้นที่ทางกายภาพที่เด็ก ๆ ใช้ปลดปล่อยจินตนาการได้อย่างอิสระและได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแบบเผชิญหน้าซึ่งกันและกัน ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังมองว่านี่คือองค์ประกอบที่จำเป็นในการเจริญเติบโต แต่เมื่อปัญญาประดิษฐ์กลายเป็นเรื่องของปัจจุบันและเกี่ยวพันเข้ากับทุกส่วนของชีวิต สนามเด็กเล่นจึงเป็นอีกพื้นที่ที่ต้องปรับตัวให้สอดรับกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
ตามการศึกษาในปี 2023 โดยสมาคมกุมารแพทย์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatrics) เผยว่า เด็กที่เล่นแต่กับ AI เป็นหลัก จะประสบกับการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจที่ลดลง 20% เมื่อเทียบกับเด็กที่เล่นกับเพื่อน ๆ หรือพี่น้อง
ซึ่งผลกระทบนี้อาจส่งผลต่อความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่สำคัญระหว่างมนุษย์ในอนาคตได้
จริงอยู่ ที่ของเล่นโดย AI และเพื่อนในโลกเสมือนจริงอาจดูเหมือนเป็นความสนุกที่ไม่มีอันตราย ทว่าภายใต้ความไร้พิษภัยที่เราเห็น ก็สามารถจำกัดความสามารถในการพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ของเด็ก ๆ ได้โดยไม่ตั้งใจ ดังนั้นการหาจุดสมดุลระหว่างโลกทางกายภาพและโลกเสมือนจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการเดินหน้าสู่อนาคต
(Jinhan Moon / Unsplash)
สนามเด็กเล่นอัจฉริยะ
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าต้องละทิ้งสิ่งที่อยู่ในโลกเสมือนไปเสียทุกอย่าง แต่เรายังใช้มันเป็นตัวช่วยให้เกิดประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมและน่าสนุกมากยิ่งขึ้นได้ ดังเช่นแนวคิด “สนามเด็กเล่นอัจฉริยะ” (Smart Playground)
การเดินทางของสนามเด็กเล่น จากพื้นที่กลางแจ้งธรรมดา ๆ ที่มีอุปกรณ์เล่นพื้นฐาน ไปจนถึงสนามเด็กเล่นอัจฉริยะในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีที่กว้างขวาง ในอดีต สนามเด็กเล่นทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มทางกายภาพสำหรับเด็กในการมีส่วนร่วม ให้พวกเขาได้วิ่งเล่นอย่างอิสระ พัฒนาความสามารถทางกายภาพ ทักษะทางสังคมและจินตนาการ อย่างไรก็ตาม เมื่อพื้นที่เมืองขยายตัวและเทคโนโลยีก้าวหน้า แนวคิดของ “การเล่น” ก็เริ่มพัฒนาขึ้น
ในช่วงแรก สนามเด็กเล่นนั้นเรียบง่าย มีชิงช้า สไลด์เดอร์ที่ทำจากไม้และโลหะ เมื่อเวลาผ่านไป ความปลอดภัยและการเข้าถึงได้ง่าย กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดของสนามเด็กเล่น นำไปสู่การประยุกต์ใช้วัสดุใหม่ ๆ ที่มีพื้นผิวที่นุ่มนวลกว่า และออกแบบตามหลักการที่ครอบคลุมมากขึ้น
การเปลี่ยนผ่านสู่ศตวรรษใหม่ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการออกแบบสนามเด็กเล่น ที่ได้รับอิทธิพลจากความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและความเข้าใจในพัฒนาการของเด็กที่เพิ่มขึ้น ทฤษฎีการศึกษาเริ่มเน้นไปที่ความสำคัญของการเล่น ในฐานะรูปแบบหนึ่งของการเรียนรู้ ทำให้ผู้ออกแบบต้องรวมองค์ประกอบที่กระตุ้นการเติบโตทางสติปัญญา สังคม และอารมณ์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางกายภาพไว้ในสนามเด็กเล่น
(Yalp Interactive | Future Playground / Youtube)
เมื่อเข้าสู่ยุคของสนามเด็กเล่นอัจฉริยะ องค์ประกอบทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และการตอบสนองต่อยุคดิจิทัลของสังคม พิสูจน์ให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีกับการเล่นแบบดั้งเดิม ในส่วนของนวัตกรรมอาจแบ่งได้เป็น 4 ส่วนหลัก ที่จะมาช่วยเพิ่มมิติให้กับการเล่นแบบดั้งเดิม ได้แก่
- Artificial Intelligence (AI) ซึ่งเปรียบเสมือนสมองกลผู้อยู่เบื้องหลังการช่วยออกแบบการเล่นต่าง ๆ
- Augmented Reality (AR) เทคโนโลยีที่ทำให้โลกจริงและโลกเสมือนมีความพร่าเลือน เพิ่มมิติให้โลกทางกายภาพให้ดูน่าสนุกดังเวทมนตร์
- Internet of Things (IoT) เครือข่ายรวมของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อถึงกันและเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่ออุปกรณ์สำหรับการเล่น อุปกรณ์สวมใส่ และอุปกรณ์สำหรับการเคลื่อนที่ เพื่อสร้างระบบนิเวศของการเล่นที่เชื่อมโยงและโต้ตอบกันได้แบบไร้รอยต่อ
- การวิเคราะห์ข้อมูลรอบด้าน (Data Analytics) ทั้งข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์สวมใส่หรือเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ที่จะถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อต่อยอดประสบการณ์การเล่นให้ดียิ่งขึ้น
ตัวอย่างสนามเด็กเล่นอัจฉริยะ
ประเทศญี่ปุ่นได้มีการทดลองนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยให้สนามเด็กเล่นสนุกขึ้น ตัวอย่างเช่น โปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า “Park Counter” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มความสนุกให้กับสไลเดอร์ในสวนสาธารณะ โดยเจ้าอุปกรณ์นี้จะนับจำนวนครั้งที่ผู้เล่นเล่นสไลเดอร์ และเมื่อถึงจำนวนครั้งที่กำหนด จะมีตัวละครปรากฏขึ้นบนจอ หลังจากนั้น ตัวละครจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ ตามจำนวนครั้งที่เพิ่มขึ้น ตัวละครเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดย AI และได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเฉพาะตามแต่ละภูมิภาค อุปกรณ์นี้ยังมีความโดดเด่นตรงที่ติดตั้งได้ง่ายบนสไลเดอร์ที่มีอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งเครื่องเล่นใหม่
ทางทีมผู้ออกแบบได้กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนในอนาคตอีกว่า “เราวางแผนที่จะทำให้ตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นสามารถเข้าถึงได้ผ่านเว็บไซต์ เพื่อจะสามารถตรวจสอบได้ว่ามีเด็กจำนวนเท่าใดมารวมตัวกันที่สวนสาธารณะแห่งไหน และตัวละครประเภทใดที่ถือกำเนิดขึ้นบ้าง ผ่านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือสมาร์ตโฟนของคุณ”
หลายเมืองในยุโรปก็ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประสิทธิภาพที่เข้ากับยุคสมัยให้แก่สนามเด็กเล่นเช่นกัน ดังเช่นโปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า “SmartUs” เป็นแนวคิดสนามเด็กเล่นแบบปฏิสัมพันธ์ (Interactive) ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 2000 โดย Lappset บริษัทผลิตและออกแบบอุปกรณ์สำหรับสนามเด็กเล่นสัญชาติฟินแลนด์
แนวคิดสนามเด็กเล่น SmartUs เป็นหนึ่งในการสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบสนุกสนาน (Playful Learning Environment หรือ PLE) โดยนำเสนอการเล่นที่น่าสนใจให้กับเด็ก ๆ และสามารถตั้งโปรแกรมโดยผู้เล่นเองได้ ประกอบด้วยพื้นผิวการเล่นที่มีช่องสี่เหลี่ยมเป็นตารางสำหรับกระโดด (iGrid) มีสเตชันกลาง (iStation) ที่มีคอมพิวเตอร์และจอภาพกันน้ำไว้สามารถแสดงคะแนนของแต่ละคน รวมถึงเสาเซ็นเซอร์แบบโต้ตอบหลายตัว (iPost) ซึ่งจะแสดงเกมที่เด็ก ๆ ร่วมเล่นกันได้ ทั้งนี้ iGrid และ iPost จะเชื่อมต่อกับ iStation ด้วยสายเคเบิลหรือเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ จากนั้น iStation จะเชื่อมต่อผ่านแลนไร้สาย หรือ WLAN กับคอมพิวเตอร์ที่เก็บซอฟต์แวร์สำหรับพัฒนาเกมใหม่ อีกทั้งยังสามารถอัปโหลดผลลัพธ์ของเกมไปแสดงบนอินเทอร์เน็ตได้แบบเรียลไทม์
สนามเด็กเล่นแนวคิด SmartUs นับเป็นการรวมเอาการเล่น กิจกรรม และการเรียนรู้เข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ การใช้งานสนามเด็กเล่นยังถูกแปลงเป็นข้อมูลสำหรับผู้ปกครอง ครู หรือเจ้าของสถานที่ เพื่อประเมินผล โดยแนวคิดนี้ได้ถูกนำไปปรับใช้ในหลายเมืองของยุโรป เช่น เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เส้นทางสู่การตระหนักถึงศักยภาพสูงสุดของสนามเด็กเล่นอัจฉริยะนั้นไม่ได้ปราศจากความท้าทาย ประเด็นต่าง ๆ เช่น การรักษาความเป็นส่วนตัว การเข้าถึงสำหรับทุกกลุ่มคน และการบำรุงรักษา ยังเป็นเรื่องที่ต้องได้รับความสนใจและดำเนินการร่วมกันของทุกฝ่าย
ยิ่งไปกว่านั้น อิทธิพลของ AI ต่อวัยเด็กนั้นก็ลึกซึ้งและแพร่หลายมาก ความท้าทายอยู่ที่วิธีการที่เราจะเลือกใช้มัน ขณะที่เรายอมรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สิ่งสำคัญก็คือ การตระหนักอยู่เสมอถึงความสำคัญของ “ความสมดุล” สนามเด็กเล่นอัจฉริยะไม่ควรเข้ามาแทนที่การเล่นแบบดั้งเดิมหรือการออกไปสำรวจธรรมชาติจริง ๆ แต่ควรเสริมหนุนซึ่งกันและกัน และแนวทางที่สมดุลนี้ จะช่วยให้มั่นใจได้ว่า เด็ก ๆ จะได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ที่หลากหลาย ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์ ในมิติที่แตกต่างกัน เพื่อว่าเราจะมั่นใจได้ว่า ลูก ๆ หลาน ๆ จะเติบโตขึ้นในโลกที่เทคโนโลยีสนับสนุนพัฒนาการของพวกเขาโดยไม่ลดทอนแก่นแท้ของการเป็นเด็ก
ที่มา : บทความ “Episode 1: The Digital Playground — Are We Underestimating AI’s Influence on Our Children?” โดย Abel Pena-Fernandez
บทความ “AI on the Playground: Transforming Outdoor Spaces into Smart Play Areas” โดย Zach Zegras
บทความ “The Future of AI in Playground Design” โดย Arva Rangwala
บทความ “SmartUs An interactive playground concept” จาก theindexproject.org
รายงาน “Teen and Young Adult Perspectives on Generative AI Patterns of use, excitements, and concerns” จาก digitalthriving.gse.harvard.edu
บทความ “From push-up racks to problem solving: a hundred years of playground history” โดย Teemu Vuorenpää
บทความ “Lappset: First SmartUs Facility Opens in Germany” จาก eap-magazin.de
บทความ “The first interactive SmartUs playground opened in the Baltic” จาก barbaourproductsearch.info
บทความ “The idea of inclusiveness has the potential to expand the possibilities of architecture.” โดย Tada Tomomi
บทความ “公園の滑り台をデジタル化!電子工作未経験の高校生がIoTとAI技術でデジタル遊具を開発!” จาก prtimes.jp
วิดีโอ “SmartUs” จาก youtube.com
เรื่อง : คณิศร สันติไชยกุล