Smart Parenting ใช้ Internet of Things (IoT) ปฏิวัติการเลี้ยงลูกยุคดิจิทัล
Technology & Innovation

Smart Parenting ใช้ Internet of Things (IoT) ปฏิวัติการเลี้ยงลูกยุคดิจิทัล

  • 11 Feb 2025
  • 307

ในโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน เทคโนโลยีสารสนเทศได้ถูกพัฒนาไปจนถึงการเป็นยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ Internet of Things (IoT) ได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตของทุกคนมากขึ้น ทุกสรรพสิ่งล้วนเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนตัว หรืออุปกรณ์ไอทีอัจฉริยะต่าง ๆ ที่ช่วยทำให้ชีวิตของมนุษย์ง่ายขึ้น และในปี 2025 ที่เจเนอเรชันใหม่อย่าง “Gen Beta” กำลังจะเริ่มต้นเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นเรื่อย ๆ และจะกลายเป็นเจเนอเรชันที่ไม่รู้จักโลกที่ไม่มี AI และอินเทอร์เน็ตอีกต่อไป พ่อแม่ยุคใหม่จึงควรเรียนรู้เทคโนโลยีและก้าวให้ทันโลก เพื่อให้การเลี้ยงดูเหล่าเจเนอเรชันที่จะกลายเป็น “อนาคต” ในปัจจุบัน กลายเป็นสิ่งที่ง่ายและทรงประสิทธิภาพมากขึ้น


(macrovector / Freepik)

เมื่ออินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่ง พ่อแม่ยุคใหม่ก็สบายใจได้มากขึ้น
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เหล่านักสร้างสรรค์และนักวิจัยต่างขยันขันแข็งขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นเพื่อทำให้การดูแลเด็กกลายเป็นเรื่องที่ง่าย โดย IoT สำหรับเด็ก สามารถใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อของอุปกรณ์และเทคโนโลยีเข้ากับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ ช่วยให้เด็ก ๆ สามารถโต้ตอบกับอุปกรณ์อัจฉริยะและเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยี IoT ยังทำให้เด็ก ๆ ทำความเข้าใจกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย

ตัวอย่างอุปกรณ์ IoT ที่ช่วยให้การเลี้ยงดูเด็กเป็นเรื่องง่ายและช่วยเสริมความมั่นใจให้กับผู้ปกครองว่า เด็กในการดูแลจะปลอดภัยนั้นมีหลายอย่าง เช่น

  • อุปกรณ์สมาร์ตโฮม: อุปกรณ์ที่เปิดใช้งาน IoT เช่น กล้องและกุญแจอัจฉริยะ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในบ้าน และให้ผู้ปกครองสามารถควบคุมความปลอดภัยของบุตรหลานได้ดียิ่งขึ้น
  • อุปกรณ์สวมใส่: สมาร์ตวอชและอุปกรณ์สวมใส่อื่น ๆ ที่ติดตั้งเทคโนโลยี IoT ช่วยให้ผู้ปกครองติดตามตำแหน่งของบุตรหลาน และตรวจสอบความเป็นอยู่ของพวกเขาได้เสมอ
  • เครื่องติดตามสุขภาพ: อุปกรณ์ IoT ช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางกายและวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีขึ้น โดยการติดตามจำนวนก้าว รูปแบบการนอนหลับ และตัวชี้วัดสุขภาพอื่น ๆ
  • การตรวจสุขภาพทางไกล: IoT สามารถช่วยตรวจสอบสุขภาพของเด็กจากระยะไกล และแจ้งเตือนแก่ผู้ปกครองและผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพได้อย่างทันท่วงที หากเกิดปัญหาทางสุขภาพและความปลอดภัยกับเด็ก
  • ของเล่นอัจฉริยะ: ของเล่นที่เชื่อมต่อกับ IoT ช่วยนำเสนอประสบการณ์แบบอินเทอร์แอคทีฟและปรับเปลี่ยนในแบบที่เฉพาะเจาะจงได้ ซึ่งช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเด็ก ๆ ให้ดียิ่งขึ้น
  • Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR): IoT สามารถปรับปรุงการใช้งาน AR และ VR ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้และความบันเทิงที่สมจริงสำหรับเด็ก ๆ
  • เซ็นเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อม: เซ็นเซอร์ IoT สามารถช่วยตรวจสอบระดับมลพิษในสภาพแวดล้อม ช่วยสอนเด็ก ๆ เกี่ยวกับผลกระทบของกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อโลก ในยุคที่ฝุ่นควันและมลภาวะทางอากาศเริ่มเข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตประจำวัน การมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อรู้คุณภาพของอากาศล่วงหน้าก่อนออกจากบ้านก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการปกป้องลูกน้อยจากปัญหาสุขภาพในอนาคตได้เช่นเดียวกัน

ในปี 2565 เคยมีการทดลองทำงานวิจัยอุปกรณ์ IoT ที่สร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันปัญหาการลืมเด็กไว้ในรถ โดยงานวิจัยนี้นำเสนออุปกรณ์ที่สามารถป้องกันการเสียชีวิตของเด็กที่ถูกลืมไว้ในรถตู้โดยใช้อุปกรณ์ IoT และแอปพลิเคชันมือถือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแจ้งเตือนผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเมื่อเด็กถูกลืมไว้ในรถและเพื่อให้ผู้ปกครองสามารถติดตามลูกของตนเองได้สะดวกผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ


(rawpixel.com / Freepik)

โดยงานวิจัยนี้อ้างอิงจากข่าวปี 2557-2563 ที่มีรายงานว่า มีเด็กที่ถูกทิ้งไว้ในรถถึง 129 ครั้ง และมียอดผู้เสียชีวิต 6 คน เพราะถูกละเลยโดยคนขับและครูที่ไม่ได้ตรวจสอบว่ามีเด็กที่เหลืออยู่ในรถอยู่หรือไม่ จึงเป็นที่มาของการพยายามพัฒนาอุปกรณ์ที่จะช่วยให้พ่อแม่ได้ตรวจสอบว่าลูกของตนยังอยู่บนรถหรือถูกทิ้งไว้บนรถหรือไม่ ผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ

อาจารย์และนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคลำปางได้ทำการคิดค้นอุปกรณ์ที่ช่วยเหลือเด็กที่ติดอยู่ในรถโดยใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว โดยอุปกรณ์จะเริ่มทำงานเมื่อล็อกรถทันทีภายใน 15 วินาที และถ้าเซ็นเซอร์ตรวจพบสิ่งมีชีวิตหรือการเคลื่อนไหวในรถ จะส่งเสียงไซเรนและสัญญาณไฟกระพริบที่รถ พร้อมทั้งส่ง SMS ที่มีข้อความว่า "ช่วยด้วย" ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ห้าเบอร์ที่บันทึกไว้ในอุปกรณ์ โดยจะแสดงตำแหน่งของรถในข้อความด้วย มิฉะนั้น รถจะเปิดประตูโดยอัตโนมัติเพื่อให้ผู้ดูแล ผู้ปกครอง หรือคนอื่น ๆ สามารถช่วยเหลือเด็กในรถได้ทันที 

อีกหนึ่งอุปกรณ์คือ อุปกรณ์ควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรถ อุปกรณ์นี้จะทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อตรวจพบว่าเด็กติดอยู่ในรถ และจะทำการวัดค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หากค่าสูงกว่า 1,000 ppm อุปกรณ์จะแจ้งเตือนด้วยเสียงว่ามีเด็กติดอยู่ในรถ หากแจ้งเตือน 3 ครั้งแล้วรถยังปิดอยู่ พัดลมจะเริ่มทำงานและหน้าต่างรถจะเปิดออกเพื่อให้อากาศถ่ายเทเข้ามาในรถโดยอัตโนมัติ

จากการยกตัวอย่างข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างสิ่งประดิษฐ์จากความคิดของคนไทยที่นำอินเทอร์เน็ตมาใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์หรือ IoT ให้ผู้ปกครองได้อุ่นใจมากขึ้นในการดูแลเด็กในยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ทุกหย่อมหญ้านั่นเอง


(Thomas Jensen / Unsplash)

รู้ทัน IoT เตรียมพร้อมให้ดีก่อนเริ่มใช้
อ้างอิงจากรายงาน State of the Connected IoT คาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 จะมีอุปกรณ์ IoT จำนวน 41.6 พันล้านเครื่องที่จะรวบรวมข้อมูลของบุคคลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมาถึงของเด็ก ๆ เจเนอเรชันใหม่อย่าง “เจนเบต้า” ที่จะกลายเป็น Digital Natives หรือกลุ่มคนที่เกิดมาในยุคที่เข้าถึงดิจิทัลได้ทุกตั้งแต่เกิด จากนี้ไป เด็ก ๆ ก็จะเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัลที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นของเล่นหรืออุปกรณ์สวมใส่ต่าง ๆ

และไม่ว่าอะไรที่เกี่ยวกับเด็ก ๆ ก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเสมอ จึงได้มีผู้เชี่ยวชาญออกมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี IoT กับเด็ก เพราะการที่เติบโตมากับเทคโนโลยีและ AI อาจทำให้เด็กแยกระหว่างโลกความจริงและโลกออนไลน์ หรือโลกเสมือนไม่ออก

จอห์น คารร์ (John Carr) ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในโลกออนไลน์ได้ให้ความเห็นว่า สิ่งที่พ่อแม่ควรจะคำนึงถึงและเป็นกังวลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี IoT ในการเลี้ยงลูก ก็คือเรื่อง “ความเป็นส่วนตัวของเด็ก” เพราะในปัจจุบัน การหาซื้อของเล่นใหม่ ๆ ที่ไม่มีเฟรนไชส์หรือเชื่อมต่อกับเว็บไซต์หรือบริการออนไลน์นั้นค่อนข้างยาก เพราะไม่ว่าอะไรก็ทยอยกลายเป็นไอเท็ม “สมาร์ต” กันหมดแล้ว ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรระมัดระวังเรื่องที่บทสนทนาระหว่างบุตรหลานอาจถูกบันทึกไว้และอัปโหลดสู่โลกออนไลน์ ดังเช่นในปี 2017 ที่มีข่าวใหญ่ของบริษัท CloudPets ว่า บทสนทนาระหว่างลูกหลานกับตุ๊กตาของพวกเขาถูกอัปโหลดขึ้นบนเซิร์ฟเวอร์เพื่อให้ใครก็ไม่รู้ได้เข้าถึง

ทางด้านสตีฟ เชปเพิร์ด (Steve Shepherd) กล่าวว่า เทคโนโลยีนั้นจะดีหรือไม่ดีล้วนขึ้นอยู่กับวิธีการที่เราใช้ IoT เองก็เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น 'Teddy Guardian' ที่ภายนอกดูเป็นเพียงตุ๊กตาสัตว์ธรรมดา แต่ภายในเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิ และระดับออกซิเจนของทารกได้ อีกทั้งยังสามารถเตือนผู้ปกครองถึงปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้แต่เนิ่น ๆ และอาจช่วยชีวิตเด็กได้ในอนาคต นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับการตลาดด้วย โดยสตีฟได้ถามผู้ปกครองว่า จะอนุญาตให้มีไมโครโฟนในห้องของลูกเพื่อบันทึกบทสนทนาของเด็กและจัดเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ของคนอื่นหรือไม่ พ่อแม่ส่วนใหญ่ต่างตกใจ กลับกัน 'Hello Barbie' ตุ๊กตาที่เชื่อมต่อ Wi-Fi ก็ทำแบบนั้น ทำให้เกิดคำถามในเรื่องความเป็นส่วนตัว การแฮ็ก การโฆษณา และความปลอดภัยออนไลน์ขึ้นมาให้ได้ถกประเด็นกัน

ด้วยเหตุผลด้านความเป็นส่วนตัวที่ยากจะประเมินนี้ จอห์น คารร์ จึงให้คำแนะนำว่า หากจะซื้อของเล่นหรืออุปกรณ์ไอทีที่เกี่ยวกับลูกน้อย ให้เลือกพิจารณาซื้อจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับเท่านั้น นอกจากนี้ ยังควรตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยอย่างละเอียด ว่าสามารถอัปเดตและเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ทางด้านแอนดี โรเบิร์ตสัน (Andy Robertson) ก็ได้ให้ความเห็นว่า ผู้ปกครองควรจำกัดเวลาไม่ให้ลูกอยู่กับหน้าจอ หรือเทคโนโลยี IoT มากจนเกินไป โดยอาจจะเปลี่ยนเวลาที่ให้ลูกน้อยใช้อุปกรณ์เหล่านี้ไปเป็นการเล่น การเรียนรู้ หรือการพาออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านแทน


(Ludovic Toinel / Unsplash)

มาตรการควบคุมความเป็นไปของโลก IoT ในยุคที่เด็กเข้าถึงได้
ลองจินตนาการภาพของเด็กที่เกิดในปีนี้ หรือเด็กที่กำลังจะเกิดในอนาคตซึ่งจะถูกล้อมรอบด้วยเทคโนโลยีในทุกช่วงวัย เติบโตมากับตุ๊กตาอัจฉริยะที่ใช้การจดจำใบหน้าและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อดู ฟัง และเรียนรู้จากเธอ แน่นอนว่าถ้าขึ้นชื่อว่า “เด็ก” ก็ล้วนชื่นชอบของเล่นกันทั้งนั้น และเช่นเดียวกับเด็กยุคก่อน ๆ ที่จะมีตุ๊กตาหมีตัวโปรด เด็กในยุคนี้ก็จะพกของเล่นชิ้นโปรดไปด้วยทุกที่ พูดคุยกับมัน และนอนข้างด้วยกันเป็นเวลาหลายปี 

หากตุ๊กตาอัจฉริยะได้รับการออกแบบอย่างมีความรับผิดชอบ ของเล่นชิ้นนี้อาจเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของลูกน้อย แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น มันจะเป็นเครื่องมือเฝ้าระวังที่บันทึกทุกการเคลื่อนไหวและคำพูดของเด็กที่เกิดขึ้นต่อหน้าตุ๊กตาตัวนั้น รวมถึงคำพูดของเพื่อน และแม้แต่พ่อแม่ของเด็กเอง 

ของเล่นอัจฉริยะใช้ AI เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเด็กผู้ใช้งานและปรับแต่งประสบการณ์การเล่นหรือการเรียนรู้ให้เป็นส่วนตัวสำหรับพวกเขา มันสามารถเรียนรู้สีหรือเพลงโปรดของเด็ก และเรียนรู้ที่จะจดจำเด็กและคนคุ้นเคยอื่น ๆ ในชีวิตของเด็กคนนั้น แม้ว่าสิ่งนี้อาจฟังดูล้ำยุค แต่มีของเล่นอัจฉริยะมากมายที่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้แล้ว ตลาดสำหรับของเล่นเหล่านี้กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วและเติบโตถึง 18 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 609 ล้านบาท) ในปี 2023 เพื่อตอบสนองยุคสมัยแห่งการใช้ AI

เมื่อเร็ว ๆ นี้ World Economic Forum ได้เปิดตัว Smart Toy Awards เพื่อให้รางวัลแก่ของเล่นที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่ออกแบบอย่างมีจริยธรรมและมีความรับผิดชอบ ซึ่งช่วยสร้างประสบการณ์การเล่นที่เป็นนวัตกรรมและดีต่อสุขภาพสำหรับเด็ก 

ของเล่นอัจฉริยะเป็นสิ่งที่มีแนวโน้มที่ดีอย่างมากสำหรับเด็ก มันสามารถปรับแต่งการเรียนรู้ตามข้อมูลที่รวบรวมเกี่ยวกับเด็ก อีกทั้งยังสามารถสอนทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และช่วยเด็ก ๆ ให้พัฒนาทักษะและความรู้ความเข้าใจทั้งด้านเครื่องยนต์และทักษะทางสังคมได้อีกด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ของเล่นอัจฉริยะก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน หากไม่ได้รับการออกแบบมาเพื่อปกป้องข้อมูล ความปลอดภัย และความปลอดภัยทางไซเบอร์ของเด็ก 

คาโรลินา ลา ฟอร์ส (Karolina La Fors) จาก World Economic Forum ได้ชี้ว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างแนวทางที่มุ่งเน้นไปที่มุมมองที่เด็กเป็นศูนย์กลาง เพื่อความปลอดภัยของเด็กในยุคของอุปกรณ์ IoT ที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งจะลดความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยทางออนไลน์ นอกจากนี้ การกำหนดเกณฑ์สำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างอุปกรณ์ IoT ที่เปิดใช้งาน AI และเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งการยืนยันอายุ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการปกป้องเด็ก แต่กฎหมายในปัจจุบันที่กระจัดกระจายไปทั่วโลกและบริษัทต่าง ๆ ก็ตีความต่างกัน ตลอดจนการขาดแนวทางที่เป็นมาตรฐานในการกำหนดและตรวจสอบอายุ เมื่อรวมกันเข้ากับการผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้แม้กับเทคโนโลยี AI ที่แสนจะชาญฉลาด ก็ยิ่งทำให้การปกป้องความเป็นส่วนตัวของเด็กในยุค IoT ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 

การสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความปลอดภัยยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในยุคที่เด็กต้องเติบโตท่ามกลางอุปกรณ์ IoT และของเล่นอัจฉริยะ การออกแบบที่มีความรับผิดชอบและการกำกับดูแลที่เหมาะสมจะช่วยให้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก มากกว่าที่จะกลายเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของพวกเขา ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยและเป็นมิตรสำหรับอนาคตของเด็ก ๆ นั่นเอง

ที่มา : บทความ “IoT คืออะไร ใครรู้บ้าง” จาก เว็บไซต์ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์
บทความ “Internet of Things for Kids and its Future Scope” จาก STEMpedia
บทความ “Why the future of connected IoT in homes is child-centric” โดย Karolina La Fors
บทความ “Importance of Internet of Things for Kids and its benefits in Future” จาก stemrobo.com
งานวิจัย “Developing Internet of Things (IoT) Device for Saving Children from Being Left in a Car” โดย Vorrawat Assawakanchana, Nattadon Pannucharoenwong, Snunkhaem Echaroj, Phadungsak Rattanadecho, Boy Xayavong, Wachirathorn Janchomphu, Kammal Kumar Pawa, Tanita Suepa
บทความ “What does the Internet of Things mean for children growing up?” โดย John Carr, Keir McDonald, Andy Robertson และ Steve Shepherd
บทความ “Smart toys: Your child’s best friend or a creepy surveillance tool?” โดย Seth Bergeson

เรื่อง : ชลธิชา แสงสีดา