
แข่งไปก็เหนื่อยเปล่า! เปิดดีลลับวงการธุรกิจด้วยกลยุทธ์ Collaborative Innovation
ในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอันดุเดือด บางครั้งเส้นทางสู่ความสำเร็จอาจไม่ได้มาจากการเอาชนะคู่แข่ง แต่กลับเป็นการจับมือร่วมกัน "Collaborative Innovation" กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของการแข่งขันทางธุรกิจ ปรากฏการณ์ที่คู่แข่งทางการค้าหันมาเป็นพันธมิตรกัน ไม่เพียงแต่ท้าทายแนวคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับการแข่งขัน แต่ยังเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ ในธุรกิจ บทความนี้จะพาไปดู 4 คู่แข่งที่กลายมาเป็นพันธมิตร และเหตุผลในการเลือกจับมือกัน แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาแข่งขันกันเอง
01 BMW และ Daimler ร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ
ในปี 2019 BMW Group และ Daimler AG ประกาศว่าจะร่วมมือกันพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ โดยที่ทั้งสองบริษัทร่วมกันลงทุนไปกว่า 1 พันล้านยูโร ซึ่งเหตุผลที่ทั้งคู่ร่วมมือกันนั้นเป็นเพราะว่า BMW Group เป็นบริษัทที่คิดค้นเรื่องการขับขี่อัตโนมัติระดับสูงมาตั้งแต่ปี 2006 ส่วน Daimler AG เป็นผู้นำด้านระบบความปลอดภัยมาอย่างยาวนาน โดยที่เคยเปิดตัวโครงการนำร่องเกี่ยวกับยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมาก่อนแล้ว ฉะนั้นเมื่อ BMW ที่เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี กับ Daimler AG ที่เชี่ยวชาญเรื่องความปลอดภัย อยากทำระบบขับขี่อัตโนมัติเหมือนกัน ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ร่วมมือกัน
สิ่ง BMW Group และ Daimler AG ร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีรุ่นใหม่สำหรับระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ ระบบขับขี่อัตโนมัติบนทางหลวง และระบบจอดรถนั้น ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 1,200 คนทำงานร่วมกัน และยังเป็นทีมผสมที่มาจากทั้ง BMW Group Autonomous Driving Campus และทีมศูนย์ทดสอบและเทคโนโลยีของ Daimler
โดยที่เป้าหมายหลักของความร่วมมือนี้คือ ทั้งคู่จะมีกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีรุ่นอนาคตได้เร็วขึ้นกว่าการทำงานคนเดียว แถมยังปล่อยขายรถยนต์รุ่นใหม่ได้เร็วกว่าเดิม และทั้ง Daimler และ BMW เอง จะสามารถนำเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยความร่วมมือนี้ไปใช้กับรถรุ่นของตนได้อย่างเป็นอิสระด้วยนั่นเอง
(Jon Koop / Unsplash)
02 ต่อให้ Samsung จะเป็นคู่แข่ง Apple แต่ก็ยอมผลิตหน้าจอ OLED ให้อยู่ดี
ถ้าพูดถึงตลาดสมาร์ตโฟน ภาพการแลกกันคนละหมัดของ Samsung กับ Apple คงจะผุดขึ้นมาในหัวของผู้บริโภคแบบเลี่ยงไม่ได้ เพราะขึ้นชื่อเป็น 2 บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากฝั่งอเมริกาและฝั่งเอเชียที่ห้ำหั่นกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และถึงแม้ว่าทั้งคู่จะเคยเสียดสีกันผ่านสื่อและผ่านศาลกันอยู่บ่อยครั้ง แต่ทั้งสองบริษัทกลับมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แน่นแฟ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
เพราะ Samsung คือผู้จัดหาชิ้นส่วนสำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์ของ Apple อยู่หลายอย่างและหลายปี เท่าที่พอจะหาข้อมูลได้ก็ตั้งแต่ iPhone 4 จนถึง iPhone 16 ซึ่งสถานการณ์ที่แปลกประหลาดนี้เกิดขึ้นได้เพราะ Samsung เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านหน้าจอ OLED แฟลช และชิป DRAM ซึ่งส่วนประกอบทั้ง 3 อย่าง แทบจะเป็นสิ่งที่ Apple ไม่สามารถผลิตให้ได้เพียงพอกับยอดขาย iPhone ของตัวเองที่สูงมาก
และด้วยความเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งประเทศเกาหลีใต้ จึงทำให้ Samsung กลายเป็นบริษัทเดียวที่สามารถตอบสนองความต้องการของ Apple สำหรับชิ้นส่วนสำคัญเหล่านี้ได้ ทั้งในเรื่องของปริมาณในการส่งออกและคุณภาพการใช้งาน ถึงแม้ว่าปัจจุบันชิ้นส่วนบางอย่างของ Apple จะพอผลิตเองได้บ้างแล้ว แต่ก็ยังพึ่งพาซัปพลายเออร์รายใหญ่อยู่ดี เพราะจอ OLED ที่ดีของ iPhone ก็ได้นวัตกรรมและความเก่งของ Samsung เป็นผู้ผลิตให้
ซึ่งเหตุผลที่ทั้งคู่ยอมเอานิ้วมาเกี่ยวกันบ้างนี้ก็ไม่มีใครเสียเปรียบ เพราะ Apple ก็ได้สินค้าที่มีคุณภาพ ส่วนฝั่ง Samsung เองก็ได้รับรายได้จากการขายหน้าจอ OLED มาไม่น้อย อย่างในปี 2017 Samsung มีรายได้จากการผลิตจอให้ iPhone X มากกว่ารายได้จากการขายสมาร์ตโฟนรุ่นเรือธงของตัวเองอย่าง Galaxy S8 เสียอีก ฉะนั้นแม้ว่า Samsung และ Apple จะแข่งขันกันในที่สาธารณะ แต่ความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่าง Samsung และ Apple ก็เป็นไปอย่างเงียบ ๆ และส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่ายมาหลายปี โดย Apple ได้รับชิ้นส่วนล้ำสมัย ส่วน Samsung ก็มีรายได้มหาศาลที่ช่วยให้บริษัทรักษาตำแหน่งผู้นำด้านเทคโนโลยีไว้ได้
(Freepik)
03 Microsoft และ Sony เลิกแข่งกันเล่นเกม แล้วมาช่วยกันทำ Cloud Gaming แทน
ต้องบอกว่านอกจาก iOS กับ Android อีกสมรภูมิที่เดือดไม่แพ้กันก็คือ ‘เจ้าแห่งเกมคอนโซล’ อย่าง Microsoft Xbox กับ Sony PlayStation ที่แม้ว่าทั้งสองบริษัทจะต่อสู้กันมานานกว่า 15 ปี เพื่อแย่งชิงยอดขายของ PlayStation และ Xbox ที่ไม่ใช่แค่บริษัทที่สู้กัน แต่แฟนคลับก็สู้ยิบตาไม่ต่างกันในการขิงว่าเครื่องเกมของใครนั้นเจ๋งกว่า ซึ่งแน่นอนว่า ช่วงที่ทั้ง Xbox Series X และ PS รุ่นใหม่กำลังจะออก แฟน ๆ ก็คงหวังได้เห็นศักราชใหม่แห่งที่ต่อสู้ที่ดุเดือดกว่าที่เคย แต่ความจริงดันไม่เป็นแบบนั้น
เพราะกลายเป็นว่าทั้งบริษัท Sony Corporation และ Microsoft Corporation ดันออกมาประกาศว่า จะร่วมเป็นมิตรในทางธุรกิจ ซึ่งแรงกระตุ้นที่ทำให้คู่แค้นกลายเป็นคู่รักก็เพราะว่าการเปิดตัวของ Google Stadia หรือบริการสตรีมเกมวิดีโอของ Google ซึ่งกำลังวางแผนจะใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม YouTube ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เพื่อให้ผู้คนสามารถคลิกและเล่นเกมได้ทันทีในเบราว์เซอร์หรือบนโทรศัพท์ ที่เป็นการสตรีมเกมวิดีโอซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน่ากังวลใจ จนทำให้ Microsoft และ Sony ถึงกับต้องหันมาจับมือร้องเพลงลูกเสือสามัคคีกันเพื่อช่วยแก้เกมให้มั่นใจได้ว่า ตัวเองจะฟาดฟันกับคู่แข่งอย่าง Stadia และ Nintendo ในสมรภูมินี้ได้
โดยสิ่งที่ทั้งสองบริษัทนี้ร่วมมือกันก็เป็นไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าในแพลตฟอร์ม และช่วยกันพัฒนาระบบ AI ที่ทั้งคู่ต้องหาวิธีการพัฒนาโซลูชัน Cloud ในอนาคต โดยใช้จุดแข็งเรื่อง Cloud ของ Microsoft Azure และ Azure AI มาเป็นระบบที่รองรับบริการเกมและสตรีมต่าง ๆ และใช้จุดแข็งในเรื่องระบบเครื่องและเกมของ Sony ในการพัฒนาเกมของตัวเองและสามารถเล่นผ่าน Cloud ได้นั่นเอง
(techrounder.com)
04 BMW ไปกันต่อ เดินหน้ากับมือ Toyota
นี่คืออีกหนึ่งความร่วมมือร่วมใจกันของ 2 บริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่จาก 2 ทวีป แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือการผลิตรถยนต์ที่เป็นพลังงานไฮโดรเจน เดิมที ใครที่พอจะติดตามข่าวสารของอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่บ้าง เรามักจะเห็นค่าย Toyata เปิดตัวนวัตกรรมยานยนต์กันอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะรถยนต์ที่เป็นพลังงานไฮโดรเจน แถมโตโยต้าแทบจะเป็นเจ้าเดียวในเอเชียเสียด้วยซ้ำที่มุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมนี้ ส่วนค่าย BMW ที่มีภาพจำว่าเป็นค่ายแห่งรถยนต์ไฟฟ้า แต่กลับมีโปรเจ็กต์รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนแบบไม่น่าเชื่อ
แต่การร่วมมือของค่ายใหญ่สองฝั่งโลกก็ไม่ได้เป็นเพราะแค่การคิดตรงกันอย่างเดียว เพราะปัญหาของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า แม้ไฮโดรเจนเป็นธาตุที่พบมากที่สุดในจักรวาล แต่ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่กลับเจอปัญหาในการขายรถยนต์ประเภทนี้ เพราะการขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้รถยนต์ประเภทนี้ BMW กับ Toyota ที่มีความมุ่งมั่นในเรื่องดังกล่าวทั้งคู่เลยตัดสินใจร่วมมือกันเพื่อก้าวข้ามความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์
ซึ่งสิ่งที่ BMW Group และ Toyota Motor Corporation จะร่วมกันพัฒนาอย่างแรกก็คือ การทำระบบส่งกำลังสำหรับรถยนต์โดยสาร และพัฒนาไว้สำหรับทั้งการใช้งานในรถยนต์อื่น ๆ ด้วย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากความพยายามร่วมกันนี้จะนำไปใช้ในรถยนต์แต่ละรุ่นของทั้ง BMW และ Toyota เพื่อให้ลูกค้าของทั้งสองค่ายได้มีรถยนต์ทางเลือกเพิ่มขึ้น เท่ากับว่าลูกค้าของทั้งสองเจ้าสามารถคาดหวังได้ว่า รถยนต์รุ่น FCEV ของ BMW และ Toyota จะมีออกมาให้ได้เลือกใช้กันมากขึ้นนั่นเอง
ในอนาคตการร่วมมือระหว่างคู่แข่งจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่จะขยายขอบเขตไปสู่การทำงานข้ามอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ได้เร็วขึ้นและประหยัดต้นทุนมากขึ้น เพราะเป็นการนำจุดแข็งของแต่ละบริษัทมาพัฒนาร่วมกัน ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โตขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด โดยที่ยังสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
จากธุรกิจที่เป็นรูปแบบการแข่งขันแบบ Zero-sum Game ที่ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบและอีกฝ่ายเสียเปรียบ ณ วันนี้ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่กลยุทธ์ใหม่อย่าง Positive-sum Game ซึ่งทุกฝ่ายสามารถได้รับประโยชน์ร่วมกัน และการสร้างระบบนิเวศที่เชื่อมโยงธุรกิจและเทคโนโลยีจะช่วยให้เกิดนวัตกรรมที่ยั่งยืนและสามารถขยายตลาดได้ในระยะยาว
ที่มา : บทความ “BMW Group and Daimler AG to jointly develop next-generation technologies for automated driving” จาก press.bmwgroup.com
บทความ “BMW and Daimler confirm autonomous vehicle partnership” จาก autovista24.autovistagroup.com
บทความ "Did you know: Samsung makes a lot of money from iPhones” โดย Haroun Adamu
บทความ “Samsung Making Billions From Apple!” โดย Youssef Mohamed
บทความ “Sony and Microsoft to explore strategic partnership” โดย Alex Moersen
บทความ “Hydrogen Pioneers: BMW Group and Toyota Motor Corporation take collaboration to the next level to offer Fuel Cell Electric Vehicle (FCEV) options for passenger cars.” จาก press.bmwgroup.com
บทความ “Toyota and BMW are joining forces to push through the hydrogen fuel cell headwinds” โดย Andrew J. Hawkins จาก
เรื่อง : นัฐวรรณ วุทธะนู