20 ปี YouTube: จากเว็บหาคู่สู่แพลตฟอร์มวิดีโอปฏิวัติวงการสื่อ และ 4 เดิมพันที่ต้องจับตา
Technology & Innovation

20 ปี YouTube: จากเว็บหาคู่สู่แพลตฟอร์มวิดีโอปฏิวัติวงการสื่อ และ 4 เดิมพันที่ต้องจับตา

  • 07 Mar 2025
  • 183

ใคร ๆ ก็ต้องนึกถึงเรื่องของความรัก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์เด้งขึ้นมาบนหน้าปฏิทิน ไม่เว้นแม้แต่กับ 3 อดีตพนักงานแห่ง PayPal ได้แก่ สตีฟ เฉิน (Steve Chen) แชด เฮอร์ลีย์ (Chad Hurley) และ จาเวด คาริม (Jawed Karim) พวกเขาเลือกวันแห่งความรักเป็นวันจดทะเบียนโดเมนเว็บไซต์สำหรับหาคู่ในชื่อ YouTube.com

ใช่แล้ว YouTube แพลตฟอร์มสำหรับแชร์วิดีโอที่ใหญ่ที่สุดในโลกเกิดขึ้นครั้งแรกในฐานะเว็บไซต์แชร์วิดีโอสำหรับหาคู่รัก (สามารถเข้าไปดูหน้าเว็บไซต์ในตอนนั้นได้ที่นี่) ด้วยสโลแกนว่า “Tune in, Hook up” 

สตีฟ เฉิน กล่าวในงาน SXSW เมื่อปี 2016 ถึงโอกาสในโลกของวิดีโอที่เขาและเพื่อนมองเห็นในตอนนั้น แต่ทั้งสามก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำอะไรกับมันดี ในตอนนั้น “เราคิดว่าการออกเดตเป็นทางเลือกที่ชัดเจนที่สุด” 


(Wikimedia Commons)

สตีฟกล่าวต่อว่า “แนวคิดคือการให้คนโสดทำวิดีโอแนะนำตัวเองและบอกว่าพวกเขากำลังมองหาคู่รักแบบใด” แต่ทุกอย่างที่คิดมาล้วนไม่เป็นผล เพราะไม่มีใครส่งวิดีโอเข้ามาเลยสักคนเดียว แม้กระทั่งไปซื้อโฆษณาลงใน Craiglist (เว็บไซต์ประกาศซื้อขายของออนไลน์) ว่าจะให้เงินเพื่อแลกกับคนที่มาอัปโหลดวิดีโอขึ้น YouTube ก็ยังไม่เป็นผลอะไรนัก ทั้งสามคนจึงคิดหาแนวทางใหม่ สตีฟเล่าว่า “โอเค ลืมเรื่องออกเดตไป เรามาเปิดให้เป็นวิดีโออะไรก็ได้แล้วกัน” 

ดังนั้นแม้จะเริ่มต้นจากแนวคิดแพลตฟอร์มหาคู่ แต่ความจริงที่ไม่มีใครสนใจอัปโหลดวิดีโอ ทำให้ทั้งสามต้องหันมามองโอกาสใหม่ และนั่นก็คือวิดีโอทุกรูปแบบ

วิดีโอแรกที่ถูกอัปโหลดขึ้นบน YouTube มีชื่อว่า “Me at the zoo” เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2005 มันเป็นวิดีโอที่เรียบง่าย ผลงานโดยจาเวด คาริม หนึ่งในผู้ก่อตั้ง เขายืนพูดกับกล้องอยู่ข้างหน้าช้างที่มีงวงยาววววมาก ที่สวนสัตว์ซานดิเอโก ซึ่งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยซัซเซกได้ให้ความเห็นว่า วิดีโอนี้อาจมองได้ว่าเป็นเหมือนการกำหนดทิศทางในเวลาต่อมาของ YouTube นั่นคือ แพลตฟอร์มสำหรับวิดีโอแนวบล็อก (Vlogging) แม้คลิปวิดีโอนี้จะมีความยาวเพียง 19 วินาที แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นกลับกลายมาเป็น “ปรากฏการณ์” ที่ประวัติศาสตร์โลกต้องบันทึก เพราะวันนี้ YouTube กำลังจะเดินทางสู่ความสำเร็จในทศวรรษที่ 3 แล้ว  


Me at the zoo วิดีโอแรกบน YouTube

โลกของผู้สร้างที่เปลี่ยนไป
สื่อโทรทัศน์ในอดีตใช้วิธีการจ้างงานแบบดั้งเดิม คือจ้างพนักงานประจำเข้ามาคิด ผลิตไอเดียและนำเสนอ หรือการจ้างงานฟรีแลนซ์ ซึ่งทั้งสองรูปแบบ หากผลลัพธ์ไม่เป็นดังหวัง บริษัทก็จะขาดทุน 

YouTube ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการสร้างสรรค์ไปอย่างสิ้นเชิง โดยเปลี่ยนความเสี่ยงจากเดิมที่ผู้ผลิตต้องแบกรับไปสู่ผู้สร้างสรรค์อิสระ ทำให้ YouTube ไม่ต้องกังวลเรื่องการบริหารจัดการงานผลิตและปัญหาจุกจิกต่าง ๆ เช่น การประกันภัย หรือการจัดการกระแสเงินสด

ต่อมาคือเรื่องของการแบ่งรายได้ให้กับผู้สร้าง YouTube แบ่งรายได้กับผู้สร้างเนื้อหาผ่านการแบ่งรายได้จากโฆษณาโดยประมาณ 50% (จำนวนที่แน่นอนอาจแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี) ซึ่งกระตุ้นให้ผู้สร้างเนื้อหาต้องพยายามศึกษากลยุทธ์ในการดึงดูดผู้ชม เพราะมันทำให้พวกเขามีรายได้มากขึ้น 


(Christian Wiediger / Unsplash)

หนึ่งในผลกระทบจากความต้องการดึงดูดผู้ชมเข้ามาให้ได้มากที่สุดก็คือ การเปลี่ยนแปลงวิถีการเล่าเรื่องในอดีต โฆษณาทางทีวีและภาพยนตร์แบบดั้งเดิมมักเริ่มต้นอย่างช้า ๆ และค่อย ๆ เพิ่มความเข้มข้นจนถึงจุดไคลแม็กซ์ แต่วิดีโอ YouTube ไม่เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ YouTube Shorts ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างอารมณ์ร่วมที่รุนแรงในช่วงวินาทีแรกเพื่อดึงดูดความสนใจทันที และต้องสร้างความประทับใจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ชมดูจนจบคลิป

ตัวอย่างเช่น MrBeast (YouTuber ผู้มียอดซับสไครบ์สูงที่สุดในโลกที่ราว 368 ล้านซับสไครบ์) ได้ทำการศึกษากลไกการทำคลิปให้ไวรัลบน YouTube มามากกว่า 5 ปี เขาใส่ใจอย่างมากในสิ่งที่เรียกว่า “การเพิ่มระดับความน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง” หรือ “Sequential Escalation” ซึ่งหมายถึงการนำเสนอรายละเอียดที่ซับซ้อนหรือสุดขั้วมากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดทั้งวิดีโอ รวมถึงเขายังต้องมีทีมงานที่จ้างมาเพื่อปรับแต่งภาพปก (Thumbnail) ของวิดีโอของเขาโดยเฉพาะอีกด้วย

ในเดือนธันวาคมปีแรกที่ YouTube เปิดตัวอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะ Saturday Night Live ได้ออกอากาศตอน "Lazy Sunday" โดย The Lonely Island ซึ่งมีผู้ใช้งานอัปโหลดวิดีโอคลิปรายการที่ไม่ได้รับอนุญาตขึ้นบน YouTube และมันก็กลายเป็นไวรัล (สถานีโทรทัศน์ NBC ส่งจดหมายไปยัง YouTube ขอให้นำคลิปออก YouTube นำคลิปออกตามคำขอ แต่ภายหลังได้ถูกอัปโหลดขึ้นใหม่อีกครั้ง) ทำให้ YouTube กลายเป็นเว็บไซต์หลักสำหรับคลิปไวรัลในช่วงแรก ๆ ของการเปิดตัวแต่ก็ตามมาด้วยปัญหาสำคัญ นั่นคือเรื่องของลิขสิทธิ์

ในอดีต หากมีคนขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของคุณ คุณคงต้องหาทนายความด้านสื่อแล้วฟ้องร้องกลับ แต่ตอนนี้ YouTube มีทางเลือกที่ดีกว่า นั่นคือ "Content ID" ซึ่งช่วยให้เจ้าของเนื้อหาสามารถรับรายได้จากโฆษณาแทนการฟ้องร้องได้ ผ่านการใช้ระบบการจัดการลิขสิทธิ์ดิจิทัล (DRM) โดยเจ้าของเนื้อหาสามารถค้นหาเนื้อหาของตัวเองโดยอัตโนมัติ และรับรายได้จากโฆษณา ซึ่งเป็นช่องทางรายได้ใหม่ที่สำคัญสำหรับผู้ผลิตเนื้อหาในยุคนี้

ในเดือนตุลาคมปี 2006 จาเวด คาริม ได้แชร์กับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยของเขา University of Illinois ว่าเรื่องราวของ YouTube ทั้งหมดนั้นมันมีความหมายมากแค่ไหนสำหรับเขา เขากล่าวว่า "ถ้าคุณมีไอเดียที่ดี แล้วคุณแค่ไปทำวิดีโอขึ้นมา คุณก็สามารถเข้าถึงผู้ชมได้หลายล้านคนแทบจะในทันทีและฟรี" และในเดือนเดียวกันนั้นเอง Google ได้เข้าซื้อกิจการ YouTube ด้วยมูลค่า 1.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 60,225 ล้านบาท) ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าซื้อกิจการด้านเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์


(Inja Pavlić / Unsplash)

YouTube กับบทบาทสำคัญในแวดวงสื่อมวลชน
ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารกระจายไปทั่ว YouTube คือแพลตฟอร์มสำคัญที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของ “นักข่าวพลเมือง” ที่สามารถบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ ตั้งแต่การประท้วง ขบวนการทางสังคม ไปจนถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติและการลุกขึ้นต่อต้านทางการเมือง โดยเฉพาะหลังจากที่ YouTube เปิดให้บริการการ “ถ่ายทอดสด” (Live Streaming) ในปี 2011

อย่างไรก็ตาม เมื่ออำนาจในการเล่าเรื่องกระจายออกไปยังทุก ๆ คน จึงนำมาซึ่งความท้าทายที่สำคัญ เช่น การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของคำพูดแสดงความเกลียดชัง (Hate Speech) ข่าวปลอม (Fake News) และทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) ทำให้แพลตฟอร์มต้องดำเนินนโยบายการกลั่นกรองเนื้อหาที่เข้มงวดมากขึ้น

กฎระเบียบต่าง ๆ กลายเป็นข้อกังวลเร่งด่วน รัฐบาลทั่วโลกกำลังตรวจสอบ YouTube ถึงบทบาทในการเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นอันตราย หลายประเทศกำลังหารือเกี่ยวกับวิธีการปกป้องเด็ก ๆ จากสื่อออนไลน์ให้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่นในสหราชอาณาจักร YouTube เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่ผู้ใช้ที่อายุน้อย โดยเกือบ 9 ใน 10 ของเด็กอายุ 3-17 ปีพบว่าได้ใช้งาน YouTube


(Kelly Sikkema / Unsplash)

อนาคตของ YouTube
ปัจจุบัน YouTube ได้พัฒนาจากการเป็นแหล่งรวมคลิปวิดีโอสมัครเล่นไปสู่ศูนย์กลางสำหรับการสตรีมเพลง การสมัครสมาชิกเคเบิลทีวี ชมกีฬาสด และแพลตฟอร์มที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับเหล่า "ครีเอเตอร์" เช่นกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ออนไลน์

นีล โมฮาน (Neal Mohan) ซีอีโอของ YouTube คนปัจจุบันกล่าวถึงอนาคตของ YouTube ว่า "ผมมองอนาคตของ YouTube ในแง่ดีมาก เราเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น เรายังไม่ได้แตะยอดภูเขาน้ำแข็งด้วยซ้ำในสิ่งที่เราสามารถทำได้ด้วยเทคโนโลยีอย่างเช่น AI ในเชิงสร้างสรรค์"  

เมื่อพูดถึง AI นีลย้ำเตือนว่า “AI ต้องเป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ พวกมันเป็นเครื่องมือในมือของครีเอเตอร์ ไม่ได้มีไว้เพื่อแทนที่พวกเขา นั่นคือหลักการสำคัญ” และในทุก ๆ ปีนับตั้งแต่ที่นีลขึ้นมาดำรงตำแหน่งซีอีโอ วิสัยทัศน์ของเขาเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ โดยปี 2025 นี้ ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของการก่อตั้ง นีลได้กล่าวถึง 4 เดิมพันสำคัญสำหรับ YouTube ที่จะมาถึงในอนาคต ได้แก่

1. YouTube จะยังคงเป็นจุดศูนย์รวมหมุดหมายทางวัฒนธรรม
หมุดหมายทางวัฒนธรรมที่ได้รับการรับชมผ่าน YouTube ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจนในระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด ซึ่งในวันเดียวมีผู้ชมสูงถึง 45 ล้านคน บริโภคเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งจากแหล่งต่าง ๆ รวมกัน อีกทั้งยังมีการถ่ายทอดสดมหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่เทศกาลดนตรี Coachella การแข่งขันอเมริกันฟุตบอล Super Bowl ไปจนถึงโอลิมปิก ระดับการมีส่วนร่วมนี้แสดงให้เห็นว่า YouTube ได้กลายเป็นสื่อหลักของคนทั้งโลกไปเรียบร้อยแล้ว

แต่สิ่งที่น่าสนใจจากเดิมพันแรกนี้ คือการที่นีลพูดถึงความนิยมในการฟังพอดแคสต์ (Podcast) บน YouTube นีลเผยว่า “YouTube ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่คนใช้สำหรับการฟังพอดแคสต์บ่อยที่สุดในสหรัฐอเมริกา” เขาอธิบายต่อว่า “เราลงทุนในประสบการณ์ด้านพอดแคสต์มาอย่างยาวนาน ปีนี้เราจะเปิดตัวเครื่องมือเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนพอดแคสเตอร์ ปรับปรุงการสร้างรายได้สำหรับผู้สร้าง และทำให้การค้นพบพอดแคสต์ง่ายยิ่งขึ้น”

2. เหล่า YouTuber กำลังก้าวขึ้นเป็นสตาร์ทอัปแห่งวงการฮอลลีวูด
ทุกอุตสาหกรรมที่เฟื่องฟูล้วนต้องการวัฒนธรรมสตาร์ทอัปที่แข็งแรง เหล่าครีเอเตอร์กำลังนำแนวคิดแบบสตาร์ทอัปนั้นมาสู่ฮอลลีวูด พวกเขาเรียนรู้รูปแบบการผลิตใหม่ ๆ สร้างสตูดิโอเพื่อยกระดับคุณภาพงาน และสำรวจเส้นทางความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ พวกเขากำลังสร้างสนามแข่งขันใหม่ทั้งหมดสำหรับวงการบันเทิงและธุรกิจที่อยู่เบื้องหลัง 

ครีเอเตอร์ไม่ได้เป็นเพียงแค่บุคคลที่มีกล้องอีกต่อไป พวกเขากำลังก้าวขึ้นเป็นบริษัทสื่อเต็มรูปแบบ ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกแบบมืออาชีพและความสามารถในการผลิตที่ทะเยอทะยาน


(Austin Distel / Unsplash)

3. YouTube คือโทรทัศน์ยุคใหม่
นีลอธิบายเดิมพันข้อนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “สำหรับผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ การดูทีวีหมายถึงการดู YouTube ผู้ชมดูเนื้อหา YouTube บนทีวีโดยเฉลี่ยมากกว่า 1 พันล้านชั่วโมงต่อวัน และตอนนี้ทีวีเป็นอุปกรณ์หลักสำหรับการดู YouTube ในสหรัฐอเมริกาไปแล้ว” แต่โทรทัศน์รูปแบบใหม่นี้ไม่ได้ดูเหมือนโทรทัศน์รูปแบบเก่า “มันเป็นแบบอินเทอร์แอคทีฟ และมีสิ่งต่าง ๆ เช่น Shorts (ใช่ ผู้คนดูมันบนทีวี) พอดแคสต์ และการถ่ายทอดสด ควบคู่ไปกับกีฬา ซิตคอม และทอล์กโชว์ที่ผู้คนชื่นชอบอยู่แล้ว”

แพลตฟอร์มกำลังเปิดตัวฟีเจอร์แบบอินเทอร์แอคทีฟใหม่ ๆ เช่น ความสามารถในการแสดงความคิดเห็นหรือซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์ของคุณขณะรับชมบนทีวี และกำลังทดลองใช้ "Watch With" ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ช่วยให้ผู้สร้างเนื้อหาสามารถให้คำบรรยายสดระหว่างเกม นวัตกรรมเหล่านี้กำลังสร้างกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับการดูโทรทัศน์ที่เชื่อมช่องว่างระหว่างการรับชมแบบใหม่และแบบเก่าเข้าด้วยกัน

4. AI จะช่วยให้การสร้างและยกระดับประสบการณ์ YouTube ง่ายขึ้นสำหรับทุกคน
นีลได้เผยถึงการนำ AI มาช่วยให้ผู้สร้างค้นหากลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น จากสถิติพบว่า สำหรับวิดีโอที่มีเสียงพากย์ 40% ของผู้ที่เข้าชมเลือกฟังเสียงพากย์ในภาษาของตัวเอง 

“ปีที่แล้วเราได้เปิดตัวการพากย์เสียงอัตโนมัติ ซึ่งช่วยให้ผู้สร้างแปลวิดีโอของตนเองเป็นหลายภาษาได้เพียงแค่เปิดใช้งาน ในเร็ว ๆ นี้ เราจะทำให้การพากย์เสียงอัตโนมัติพร้อมใช้งานสำหรับผู้สร้างทุกคนใน YouTube Partner Program และจะขยายไปยังภาษาอื่น ๆ เพิ่มเติมตลอดทั้งปี”

YouTube ได้เปลี่ยนแปลงวิธีที่เราบริโภคและสร้างสรรค์สื่อไปอย่างสิ้นเชิง นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จนกลายมาเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมระดับโลก และถึงแม้ว่าในทศวรรษที่ 3 นี้ YouTube จะต้องเผชิญกับคู่แข่งสำคัญอย่าง TikTok แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า YouTube ได้สร้างปรากฏการณ์ที่ไม่อาจลบเลือนไว้ในสังคมยุคใหม่ ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงพลังของแพลตฟอร์มดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย อนาคตของ YouTube อาจเต็มไปด้วยการเติบโตและการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือ YouTube ได้ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมโลกอย่างใหญ่หลวงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ที่มา : บทความ “YouTube at 20: how it transformed viewing in eight steps” โดย Alex Connock 
บทความ “YouTube Shorts adds Veo 2 so creators can make GenAI videos” โดย Amanda Silberling 
บทความ “YouTube’s MrBeast looks for ‘obsessed’ employees to help run his $700 million company, per leaked handbook” โดย Sasha Rogelberg 
บทความ “The Future of Children’s Television Isn’t Television” โดย Kate Knibbs
บทความ “10 dates that defined YouTube history, as the platform celebrates its 20th birthday” จาก lifestyleasia.com
บทความ “YouTube turns 20 years old today” โดย Taylor Haney
บทความ “The Future Of Television Is YouTube. Here’s What That Means For Creators” โดย Ian Shepherd 
บทความ “YouTube was born from a failed dating site – 20 years on, the world’s biggest video platform faces new challenges” โดย Evelyn Polacek Kery 
บทความ “YouTube was meant to be a video-dating website” โดย Stuart Dredge 
บทความ “YouTube started as an online dating site” โดย Richard Nieva 
บทความ “YouTube turns 20 years old. Did you know it was originally a dating website?” โดย Matt Binder 
บทความ “10 Years Ago Today, YouTube Launched as a Dating Website” โดย Jason Koebler 
บทความ “YouTube Video Recommendations Lead to More Extremist Content for Right-Leaning Users, Researchers Suggest” โดย Alex Russell
บทความ “From the YouTube CEO: Our big bets for 2025” โดย Neal Mohan 
บทความ “YouTube chief Neal Mohan bets on AI and ‘creators’ to supercharge growth” โดย Stephen Morris