
เปิดโลกนวัตกรรมสีเขียวผ่าน 5 วัสดุก่อสร้างทางเลือกที่กำลังเปลี่ยนโลกสถาปัตยกรรมไทย
ในยุคที่วิกฤตโลกร้อนกลายเป็นความท้าทายของมนุษยชาติ วงการออกแบบและก่อสร้างต่างกำลังเร่งปฏิวัติตัวเองด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งานเสวนา "Green Ceramics & Construction Materials: เซรามิกและวัสดุก่อสร้างทางเลือกสำหรับการสร้างสรรค์สายกรีน" ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 เวลา 14.00 - 16.00 น. ห้องออดิทอเรียม ชั้น M TCDC กรุงเทพฯ ได้รวบรวมนักวิจัยและผู้ประกอบการชั้นนำ 5 ท่านมาเปิดมุมมองเกี่ยวกับนวัตกรรมที่กำลังเปลี่ยนโฉมวงการ
รศ.ดร. ศิริธันว์ เจียมศิริเลิศ นายกสมาคมเซรามิกส์ไทย กล่าวว่า "เรามีหน้าที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการและการศึกษา เพื่อสร้างการพัฒนาที่ครบวงจร โดยเฉพาะเทรนด์การผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นทิศทางที่ผู้ประกอบการและนักวิจัยกำลังมุ่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ทั้งสวยงามและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม"
คุณทัศนีย์วรรณ ชมอินทร์ ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)
01 จุดเริ่มต้นของอาคารยั่งยืน: เข้าใจข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของวัสดุก่อสร้าง
โดย คุณทัศนีย์วรรณ ชมอินทร์ ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)
การออกแบบอาคารเพื่อความยั่งยืนได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในงานสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง แนวทางการปฏิบัติหนึ่งเพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืนของอาคาร คือการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอาคารโดยรวม การออกแบบควรมีความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับความสำคัญของวัสดุก่อสร้างที่ยั่งยืนและข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของวัสดุก่อสร้าง เพื่อการนำข้อมูลดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบอาคารที่ยั่งยืนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
คุณทัศนีย์วรรณ ชมอินทร์ จากสถาบัน TIIS เปิดเผยว่า "วัสดุก่อสร้างมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบ 40% โดย 11% มาจากการผลิตและการก่อสร้าง และอีก 28% เกิดจากการใช้พลังงานในอาคาร" เธอเสนอแนวทาง "หลีกเลี่ยง เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง" ซึ่งเริ่มต้นจากการออกแบบที่ลดการสร้างขยะ การเลือกใช้วัสดุที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติมากขึ้น และการเลือกวัสดุที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ก่อนที่จะไปถึง Net Zero เราควรมุ่งสู่ Low Carbon ก่อน โดยลด Embodied Carbon ซึ่งเกิดจากการได้มาซึ่งวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง และการก่อสร้าง ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้อาคารมีอายุการใช้งานที่ยั่งยืนมากขึ้น
นอกจากนี้ วัสดุก่อสร้างที่มีความยั่งยืน นอกจากจะต้องพิจารณาด้านประสิทธิภาพในทางวิศวกรรมแล้ว ก็ควรพิจารณาให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม จำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดเกี่ยวกับความเป็นพิษต่อมนุษย์ ประโยชน์ด้านต้นทุนที่ยั่งยืน การพิจารณาด้านที่อยู่อาศัย และเกณฑ์มาตรฐานสำคัญอื่น ๆ ด้วย
คุณบวรศักดิ์ ศุภทนต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Keratiles Ceramic จำกัด
02 กระเบื้องแก้วจากขยะ: ภูมิปัญญาท้องถิ่นผสานความยั่งยืน
โดย คุณบวรศักดิ์ ศุภทนต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Keratiles Ceramic จำกัด
บริษัท Keratiles Ceramic จำกัด เป็นผู้ผลิตกระเบื้องแก้ว กระเบื้องสระว่ายน้ำ และกระเบื้องตกแต่งประเภท Semi-Handmade โดยมุ่งที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค พยายามสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ ด้วยกลยุทธ์การพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยี รวมไปถึงการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ควบคู่กัน
คุณบวรศักดิ์ ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการผลิตกระเบื้องสระว่ายน้ำเอาไว้ว่า “เราได้รับแรงบันดาลใจมาจาก เคลือบศิลาดล (Celadon) งานหัตถกรรมดินเผาที่มีเอกลักษณ์ของทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นการรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย” โดยลักษณะของเคลือบศิลาดลมีคุณสมบัติพิเศษคือจะมีรอยแตก ซึ่งรอยแตกเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกระเบื้องและนำไปปูในสระว่ายน้ำได้ กระเบื้องของ Keratiles Ceramic ผ่านการเผาในอุณหภูมิที่ 1,250 องศา เป็นเวลา 18 ชั่วโมง เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากระเบื้องจะมีความแข็งแรงทนทานทั้งต่อสารเคมีในสระว่ายน้ำและสภาพแวดล้อมที่ต้องพบเจอ
ที่น่าสนใจคือ กระเบื้องของ Keratiles Ceramic มีหลักการในการออกแบบคือ Custom Made และ Mix & Match ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกเคลือบและสีที่ต้องการได้ตามความต้องการเพื่อให้ออกมาเป็นแพตเทิร์นของตัวเอง นอกจากนี้ คุณบวรศักดิ์ยังกล่าวต่อว่า “บริษัทยังใส่ใจในเรื่องของทรัพยากร การใช้พลังงาน และความยั่งยืน โดยมีการนำเศษแก้วรีไซเคิลจากขวดโซดาหรือขวดน้ำเปล่ามาใช้ในเคลือบมากกว่า 40% ทั้งยังมีการใช้โซลาร์เซลล์เป็นแหล่งพลังงานทางเลือก และมีระบบบำบัดน้ำเสียที่สามารถนำน้ำที่ได้จากการบำบัดมาใช้ในกระบวนการผลิตได้ใหม่ พร้อมลดผลกระทบต่อแหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่ใกล้เคียง”
คุณวีรยศ จุฬเกตุ CEO, Bangkok Crystal Co., Ltd (ช้างแก้ว) และ Thai Patterned Glass Co., Ltd (TPG)
03 บล็อกแก้วรีไซเคิล 100% แสงสว่างที่ไม่ทำร้ายโลก
โดย คุณวีรยศ จุฬเกตุ CEO, Bangkok Crystal Co., Ltd (ช้างแก้ว) และ Thai Patterned Glass Co., Ltd (TPG)
“เราเป็นผู้ผลิตบล็อกแก้วรายเดียวในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 34 ปี" คุณวีรยศ จุฬเกตุ CEO ของบางกอกคริสตัล (ช้างแก้ว) กล่าว บล็อกแก้วตรา “ช้างแก้ว” จากบางกอกคริสตัล เป็นมากกว่าวัสดุก่อผนังทั่วไป แต่เป็นนวัตกรรมที่พลิกโฉมการออกแบบสถาปัตยกรรม ด้วยกระบวนการผลิตขั้นสูงที่ทำให้บล็อกแก้วมีความโปร่งแสงอย่างเป็นธรรมชาติ ช่วยกระจายแสง ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ทั้งยังมีดีไซน์ที่หลากหลายและพื้นผิวที่เปล่งประกายช่วยเพิ่มเอกลักษณ์ให้กับงานออกแบบ ขณะที่ยังสามารถรักษาคุณสมบัติด้านความแข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทกและความชื้น และช่วยให้โครงสร้างมีอายุการใช้งานยาวนาน
“บล็อกแก้วมี 3 มิติสำคัญ คือ คุณสมบัติ สถาปัตยกรรม และนวัตกรรม ซึ่งถ้าตีโจทย์ครบทุกมิติได้ ก็จะเป็นทางเลือกที่ดีมาก" สิ่งที่ทำให้ช้างแก้วโดดเด่นคือความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “โดยทั่วไปอุตสาหกรรมแก้วในไทยใช้เศษแก้วรีไซเคิลเพียง 20-30% แต่เราสามารถใช้ได้เกือบ 60% และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 80%” ด้วยกระบวนการผลิตที่ช่วยลดของเสียและสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้อย่างสมบูรณ์ จึงนับเป็นตัวเลือกอัจฉริยะสำหรับสถาปนิกและนักออกแบบที่ต้องการวัสดุก่อสร้างที่สวยงามและช่วยสร้างสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืน
คุณสรภัสร์ เชิดเกียรติศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท Compound Clay จำกัด
04 Coral Wall: ผนังที่หายใจได้จากเซรามิกเหลือทิ้ง
โดย คุณสรภัสร์ เชิดเกียรติศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท Compound Clay จำกัด
แผ่นผนัง Coral Wall ผนังแห่งความใส่ใจ คือวัสดุก่อสร้างที่ผสานประสิทธิภาพและความสวยงามเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ด้วยน้ำหนักที่เบากว่าวัสดุทั่วไป แต่มีความแข็งแรงสูง รองรับน้ำหนักได้ดีโดยไม่ต้องพึ่งโครงสร้างเสริม จึงช่วยลดทั้งต้นทุนและเวลาในการก่อสร้าง
คุณสรภัสร์ กล่าวว่า "ของเสียจากอุตสาหกรรมเซรามิกมักถูกฝังกลบและย่อยสลายยาก อาจเป็นเพราะเซรามิกมีความแข็งมาก ไม่สามารถย่อยสลายได้อย่างรวดเร็ว แต่ด้วยประสบการณ์ด้านเซรามิกและความต้องการลดขยะฝังกลบ เราจึงพัฒนาเป็น Coral Wall"
Coral Wall เป็นผนังเนื้อเซรามิกที่มีรูพรุนคล้ายปะการัง ซึ่งเรานำดินผสมกับวัตถุดิบต่าง ๆ เผาในอุณหภูมิที่ 1,200 องศา ทำให้มีความแข็งแรงเหมือนกับเซรามิกทั่วไป โดดเด่นด้วยน้ำหนักที่เบาเพียง 370-570 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ผ่านมาตรฐานความแข็งแรงของผนังระดับ Severe Duty ซึ่งสามารถใช้กับอาคารทั่วไปได้ นอกจากนี้ Coral Wall ยังช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่า 38% เมื่อเทียบกับผนัง Precast
Coral Wall ยังสอดคล้องกับแนวคิด Circular Economy โดยสามารถนำของเสียมาใช้เป็นวัตถุดิบได้ 35-70% เช่น เศษแตกหักของผนังหรือผนังที่ไม่ได้คุณภาพ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตได้ และผนังที่รื้อถอนก็สามารถนำมาตัดให้มีขนาดเล็กลงเพื่อนำมาใช้ใหม่ จึงช่วยลดการเพิ่มขยะฝังกลบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณชวิศ หาญพิทักษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการ (ฝ่ายปฏิบัติการ) บริษัท Asian Asphalt จำกัด
05 Seal Coat: เปลี่ยนหินฝุ่นเป็นถนนที่แข็งแรงและยั่งยืน
โดย คุณชวิศ หาญพิทักษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการ (ฝ่ายปฏิบัติการ) บริษัท Asian Asphalt จำกัด
คุณชวิศเปรียบ Seal Coat เหมือน "มอยซ์เจอร์ไรเซอร์สำหรับถนน" ที่ช่วยยืดอายุการใช้งานได้อีก 5 ปี โดยไม่ต้องซ่อมใหญ่ “เราเปลี่ยนจากยางมะตอยแบบร้อนมาเป็นเทคนิคเย็น เหมือนเปลี่ยนจากกาวร้อนมาใช้กาวเย็น"
Seal Coat คือวัสดุเคลือบพื้นผิวที่ไม่เพียงช่วยคืนความใหม่ให้กับถนนและพื้นที่ใช้งาน แต่ยังเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการนำ “หินฝุ่น” ซึ่งเป็นของเหลือจากอุตสาหกรรมเหมืองมาใช้ ทั้งยังช่วยลดของเสียและเพิ่มความแข็งแรงให้พื้นผิว “ปกติแล้วยางมะตอยจะมีความร้อน ซึ่งเป็นอันตรายและยังมีข้อจำกัดหลายอย่างในการใช้ประโยชน์ โรงงานของเราจึงเปลี่ยนยางมะตอยให้เป็นเทคนิคเย็น และเพิ่มคุณสมบัติต่าง ๆ เข้าไป”
วัตถุดิบหลัก ๆ ของตัว Seal Coat จะมีฝุ่นที่เหลือจากอุตสาหกรรมเป็นเบสและมียางมะตอยแบบเย็นเป็นตัวประสาน ซึ่งเราสามารถนำมาผสมลงไปใน Seal Coat ได้ ก่อนที่จะนำมาเก็บในรูปแบบบรรจุถัง และการที่เปลี่ยนมาใช้แบบเย็น นอกเหนือจากการใช้งานง่าย คือเราไม่จำเป็นต้องเผาตลอดเวลาเพื่อให้มันใช้งานได้
เรามองว่ายางมะตอยก็เหมือนกับผิวหน้าคนเรา ถ้าปล่อยให้มันซึมไปเรื่อย ๆ มันก็เป็นหลุมเป็นบ่อ Seal Coat จึงเปรียบเหมือนมอยซ์เจอร์ไรเซอร์หรือโลชั่นที่เรานำมาฉาบเพื่อช่วยยืดอายุการใช้งาน จากถนน 5 ปี หรือ 10 ปี ก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานให้กับถนนได้อีกต่ำ ๆ 5 ปี โดยที่ไม่ต้องซ่อม จึงช่วยลดมลพิษจากการซ่อมแซมขนาดใหญ่ และยังช่วยเสริมความเป็นระเบียบของพื้นที่เมืองอีกด้วย
นวัตกรรมวัสดุก่อสร้างเหล่านี้ไม่เพียงตอบโจทย์ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีประสิทธิภาพสูงและสวยงาม สะท้อนให้เห็นว่า การสร้างสรรค์ที่เป็นมิตรกับโลกเป็นสิ่งที่เป็นไปได้และกำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมไทย นี่คือก้าวสำคัญสู่อนาคตที่ยั่งยืนของวงการออกแบบและก่อสร้างที่ใส่ใจต่อโลกอย่างแท้จริง
ที่มา : งานบรรยายหัวข้อ “Green Ceramics & Construction Materials “เซรามิกและวัสดุก่อสร้างทางเลือกสำหรับการสร้างสรรค์สายกรีน” วันที่ 27 มีนาคม 2568 ห้องออดิทอเรียม ชั้น M TCDC กรุงเทพฯ
ภาพ : จิรายุ เสรีภัทรกุล